คำพิพากษาฎีกาที่ 6353/2548 | |
บริษัท ฟิลลิปส์ซีฟู้ด (ประเทศไทย) จำกัด | โจทก์ |
กรมสรรพากร | จำเลย |
เรื่อง การประเมินภาษีมูลค่าเพิ่ม | |
กฎหมายที่เกี่ยวข้อง ประมวลรัษฎากร มาตรา 32 83 85/7 88/6 โจทก์จดทะเบียนเป็นนิติบุคคลประเภทบริษัทจำกัด สำนักงานแห่งใหญ่ตั้งอยู่จังหวัดสงขลา สำนักงานสาขาที่ 2 ตั้งอยู่จังหวัดระนอง โจทก์ได้แจ้งการเปลี่ยนแปลงทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่มเพิ่มจำนวนสาขาเมื่อวันที่ 20 มีนาคม 2541 สำนักงานสาขาจังหวัดระนองของโจทก์ได้ยื่นแบบแสดงรายการภาษีมูลค่าเพิ่มต่อสำนักงานสรรพากรจังหวัดระนอง และขอคืนภาษีมูลค่าเพิ่มสำหรับเดือนเมษายน 2541 เจ้าหน้าที่สรรพากรจังหวัดระนองจึงเรียกตรวจสอบพบว่า โจทก์แจ้งการเปลี่ยนแปลงทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่มเพิ่มจำนวนสาขาจังหวัดระนองภายหลังที่ได้เปิดดำเนินกิจการแล้ว ถือว่าสำนักงานสาขาจังหวัดระนองของโจทก์ได้ประกอบกิจการโดยมิได้จดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่มและได้ปรับโจทก์ไปแล้ว และเจ้าหน้าที่ของจำเลยได้ตรวจปฏิบัติการที่สำนักงานสาขาจังหวัดระนองของโจทก์ในประเด็นภาษีมูลค่าเพิ่มเดือนมกราคมถึงเดือนมีนาคม 2541 พบว่า ยอดโอนสินค้าจากสำนักงานสาขาจังหวัดระนองมีปริมาณสูงกว่าหลักฐานที่สำนักงานใหญ่จังหวัดสงขลาได้รับ ส่วนของสินค้าที่ขาดจากรายงานสินค้าและวัตถุดิบ เจ้าพนักงานประเมินถือว่าเป็นการขายสินค้าตามมาตรา 77/1(8) (จ) แห่งประมวลรัษฎากร จึงแจ้งการประเมินภาษีมูลค่าเพิ่มพร้อมเบี้ยปรับและเงินเพิ่ม เมื่อวันที่ 11 สิงหาคม 2543 มีปัญหาที่ต้องวินิจฉัยตามอุทธรณ์ของโจทก์ข้อแรกว่า การประเมินภาษีมูลค่าเพิ่มของเจ้าพนักงานประเมินชอบหรือไม่ เห็นว่า ใบโอนสินค้าลงวันที่ไว้ชัดเจนว่าเป็นใบโอนสินค้าของปี 2541 และผู้ลงลายมือชื่อรับสินค้าของสำนักงานใหญ่จังหวัดสงขลาได้ประทับวันที่ลงรับไว้เป็นปี 2541 เช่นกัน ทั้งยังระบุว่าได้รับสินค้าไว้เรียบร้อยแล้ว ที่โจทก์อ้างว่าเป็นใบสินค้าของปี 2540 ที่โจทก์ได้ชำระภาษีมูลค่าเพิ่มไปถูกต้องแล้วหรือเป็นใบโอนสินค้าที่ผิดพลาดและโจทก์ได้ยกเลิกแล้วจึงรับฟังไม่ได้ อุทธรณ์ของโจทก์ข้อนี้ฟังไม่ขึ้น ปัญหาที่ต้องวินิจฉัยตามอุทธรณ์ของโจทก์ข้อสองมีว่า เมื่อโจทก์ยื่นอุทธรณ์การประเมินต่อ คณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์แล้ว คณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์ไม่ได้เรียกโจทก์ไปไต่สวนชี้แจงหรือ โจทก์ส่งเอกสารเพิ่มเติม เป็นการไม่ปฏิบัติตามระเบียบของจำเลยหรือไม่ เห็นว่า การอุทธรณ์การประเมิน ประมวลรัษฎากร มาตรา 32 บัญญัติให้อำนาจคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์มีอำนาจออกหมายเรียก ผู้อุทธรณ์มาไต่สวน ออกหมายเรียกพยาน กับสั่งให้ผู้อุทธรณ์หรือพยานนำสมุดบัญชีหรือพยานหลักฐานอย่างอื่นมาแสดง เป็นดุลพินิจของคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์จะเรียกหรือไม่เรียกก็ได้ ไม่ได้บัญญัติบังคับว่าต้องเรียกผู้อุทธรณ์มาไต่สวนก่อน มีปัญหาต้องวินิจฉัยตามอุทธรณ์ของโจทก์ข้อสุดท้ายว่า เจ้าพนักงานประเมินทำการประเมินภายในระยะเวลาที่กฎหมายกำหนดหรือไม่ เห็นว่า โจทก์เปิดสถานประกอบการเพิ่มเติมโดยไม่ได้แจ้งการเปลี่ยนแปลงทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่มเพื่อขอรับใบทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่มสำหรับสาขาจังหวัดระนองตามมาตรา 85/7 วรรคหนึ่งแห่งประมวลรัษฎากร และโจทก์มีสถานประกอบการหลายแห่งจะต้องแยกยื่นแบบแสดงรายการภาษีและชำระภาษีเป็นรายสถานประกอบการ เว้นแต่จะได้รับอนุมัติจากอธิบดีกรมสรรพากรขอยื่นแบบแสดงรายการภาษีและชำระภาษีรวมกัน แต่โจทก์ไม่ได้ยื่นคำร้องขออนุมัติยื่นแบบแสดงรายการภาษีและชำระภาษีของสำนักงานสาขาจังหวัดระนองรวมกับสำนักงานใหญ่จังหวัดสงขลาตามมาตรา 83 วรรคสี่ แห่งประมวลรัษฎากรแต่อย่างใด โจทก์จึงอ้างว่าได้ยื่นเสียภาษีที่สำนักงานใหญ่จังหวัดสงขลาแล้วไม่ได้ อีกทั้งโจทก์ไม่ได้ยื่นชำระภาษีของเดือนมกราคม กุมภาพันธ์ มีนาคม 2541 ณ ที่ว่าการอำเภอท้องที่ที่สถานประกอบการสาขาจังหวัดระนองตั้งอยู่ กรณีของโจทก์จึงเป็นกรณีที่โจทก์มิได้ยื่นแบบแสดงรายการภาษีตามความในมาตรา 88/6(1) (ค) แห่งประมวลรัษฎากร จึงต้องใช้กำหนดเวลา 10 ปี | |