คำพิพากษาฎีกาที่5607/2550 | |
บริษัท ไพบูลย์สมบัติ จำกัด | โจทก์ |
กรมสรรพากร | จำเลย |
เรื่อง ภาษีธุรกิจเฉพาะ ราคาตลาด | |
กฎหมายที่เกี่ยวข้อง ประมวลรัษฎากร มาตรา 91/2(6) มาตรา 91/1 (1) (2) (3) มาตรา 30(2) | |
พระราชกฤษฎีกาออกตามความในประมวลรัษฎากร ว่าด้วยการขายอสังหาริมทรัพย์เป็นทางการค้าหรือหากำไร (ฉบับที่ 244) พ.ศ.2534 | |
ตามมาตรา 91/2(6) แห่งประมวลรัษฎากร บัญญัติให้การขายอสังหาริมทรัพย์เป็นทางค้าหรือหากำไรเฉพาะที่เป็นไปตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขตามที่กำหนดโดยพระราชกฤษฎีกาต้องเสียภาษีธุรกิจเฉพาะ ไม่ว่าอสังหาริมทรัพย์นั้นจะได้มาโดยวิธีใดก็ตาม และพระราชกฤษฎีกาออกตามความในประมวลรัษฎากร ว่าด้วยการขายอสังหาริมทรัพย์ที่เป็นทางค้าหรือหากำไร (ฉบับที่ 244) พ.ศ.2534 ซึ่งใช้บังคับอยู่ในขณะโจทก์ขายที่ดินและตึกแถวให้แก่บริษัท พูนทวี จำกัด บัญญัติให้การขายอสังหาริมทรัพย์ที่ผู้ขายมีไว้ในการประกอบกิจการถือเป็นการขายอสังหาริมทรัพย์เป็นทางค้าหรือหากำไร เว้นแต่เป็นการขายที่ดินผู้นั้นใช้ในเกษตรกรรม จึงจะไม่ถือเป็นการขายเป็นทางค้าหรือหากำไร เมื่อปรากฏว่าที่ดินและตึกแถวที่ โจทก์ขายให้แก่บริษัท พูลทวี จำกัด นั้น เป็นที่ดินและตึกแถวที่โจทก์ให้บริษัท นครพยาไกร จำกัด เช่า การขายที่ดินและตึกแถว ดังกล่าวจึงเป็นการขายอสังหาริมทรัพย์ที่โจทก์มีไว้ในการประกอบกิจการ การขาย อสังหาริมทรัพย์ดังกล่าวจึงเป็นการขายอสังหาริมทรัพย์เป็นทางค้าหรือหากำไร โจทก์จึงต้องเสียภาษีธุรกิจเฉพาะ ตามมาตรา 91/1 (1) แห่งประมวลรัษฎากร บัญญัติว่า รายรับที่จะนำมาคำนวณเพื่อเสียภาษีธุรกิจเฉพาะ หมายความว่า เงิน ทรัพย์สิน หรือประโยชน์ใดๆ อันมีมูลค่าที่ได้รับ และมาตรา 91/1(2) คำว่า มูลค่า หมายความว่า ราคาตลาดของทรัพย์สินของกิจการของค่าตอบแทน หรือของประโยชน์ใดๆ และมาตรา 91/1 (3) คำว่า ราคาตลาด หมายความว่า ราคาที่ซื้อขายกันหรือที่คิดค่าบริการกันตามความเป็นจริงทั่วไปในขณะใดขณะหนึ่งฯลฯ ฉะนั้น ราคาที่ดินและตึกแถวที่โจทก์ขายให้แก่บริษัท พูลทวี จำกัด จะเป็น ราคาตลาดต่อเมื่อเป็นราคาซื้อขายกันตามความเป็นจริงทั่วไปในขณะที่มีการซื้อขายกัน เมื่อปรากฏว่าราคาตลาด ที่ดินตามฟ้องในขณะที่มีการซื้อขายกันนั้นมีหลายราคา ราคาต่ำสุดอยู่ที่ 53,924,000 บาท สูงสุดอยู่ที่ 909,293,000 บาท จะเป็นราคาใดขึ้นอยู่กับปัจจัย 2 อย่าง คือ ค่าเพิ่มของที่ดินและส่วนลด ค่าเพิ่มของที่ดินมีตั้งแต่เฉลี่ยร้อยละ 6 ถึงร้อยละ 10 ต่อปี และส่วนลดมีตั้งแต่ร้อยละ 10 ถึงร้อยละ 12 ต่อปี ปัจจัยดังกล่าวเป็น การคาดคะเนในอนาคต จึงเป็นการยากที่จะประมาณการค่าเพิ่มของที่ดินและส่วนลดได้ถูกต้อง การที่ เจ้าพนักงานประเมินและคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์ใช้ราคาสูงสุดของมูลค่าทรัพย์สินเป็นราคาในการกำหนดรายรับเพื่อเสียภาษีธุรกิจเฉพาะจึงไม่ถูกต้องและเป็นธรรมแก่โจทก์
เมื่อมาตรา 30(2) แห่งประมวลรัษฎากร บัญญัติให้อุทธรณ์คำวินิจฉัยอุทธรณ์ของ คณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์ต่อศาล เพื่อให้ศาลพิจารณาว่าการประเมินของเจ้าพนักงานประเมินและ คำวินิจฉัยอุทธรณ์ของคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์ชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ หากไม่ชอบด้วยกฎหมายทั้งหมด ก็มีอำนาจเพิกถอนการประเมินและคำวินิจฉัยอุทธรณ์นั้น แต่ถ้าชอบด้วยกฎหมายเพียงบางส่วน ก็มี อำนาจที่จะแก้ไขการประเมินและคำวินิจฉัยอุทธรณ์นั้นได้ เมื่อศาลภาษีอากรกลางเห็นว่า การประเมินและ คำวินิจฉัยอุทธรณ์ในคดีนี้ชอบด้วยกฎหมายเพียงบางส่วน ศาลภาษีอากรกลางมีอำนาจแก้ไขการประเมินและ คำวินิจฉัยอุทธรณ์ได้ ดังนั้น เมื่อศาลภาษีอากรกลาง เห็นว่าโจทก์และจำเลยมิได้โต้แย้งราคาตึกแถวที่ซื้อขายกัน จำนวนเงิน 23,510,000 บาท มิใช่ราคาตลาด ราคาตึกแถวที่จะนำมาคำนวณรายรับเพื่อเสียภาษีธุรกิจเฉพาะ จึงเป็นราคาดังกล่าว ส่วนราคาตลาดของที่ดินมิใช่ราคาตามที่ต่างฝ่ายต่างอ้างและไม่อาจหาราคาตลาดที่ ถูกต้องได้ การที่ศาลภาษีอากรกลางกำหนดราคาตลาดของที่ดินโดยใช้ราคาเฉลี่ยระหว่างขั้นต่ำ 53,924,000 บาท และราคาขั้นสูง 909,293,000 บาท เป็นเงิน 481,608,500 บาท โดยกำหนดรายรับจากการขายที่ดินและตึกแถวตามฟ้องรวมเป็นเงิน 505,118,500 บาท เพื่อคำนวณเสียภาษีธุรกิจเฉพาะจึงเป็นธรรมและชอบด้วยกฎหมาย. | |