คำพิพากษาฎีกาที่10443/2550 | |
บริษัท วินด์มิลล์บ้านสวน จำกัด | โจทก์ |
กรมสรรพากรกับพวกรวม 4 คน | จำเลย |
เรื่อง ราคาตลาด | |
กฎหมายที่เกี่ยวข้อง ประมวลรัษฎากร มาตรา 91/1 (3) | |
การซื้อขายที่ดินของโจทก์นั้น ไม่ได้มีการทำสัญญาจะซื้อจะขายไว้ก่อน เพราะกลุ่มลูกค้าส่วนมากรู้จักกันหมด เพราะเป็นเพื่อนและเป็นเครือญาติผู้ถือหุ้นของโจทก์ นาง อ. พยานโจทก์ยืนยันว่าพยานได้ซื้อที่ดินในราคา 320,000 บาท และชำระเงินสดให้โจทก์ครั้งเดียวเมื่อโจทก์นำโฉนดที่ดินโอนเรียบร้อยแล้วมามอบให้ และนาง ส. ยืนยันว่าพยานได้ซื้อที่ดินในราคา 360,000 บาท โดยพยานทั้งสองทราบแล้วว่าที่ดินดังกล่าวเจ้าพนักงานประเมินราคาไว้ไร่ละ 1,000,000 บาท ไม่ปรากฏว่า พยานทั้งสองเป็นญาติเกี่ยวข้องกับกรรมการโจทก์คนใด หรือมีส่วนได้เสียในการประกอบกิจการของโจทก์ จึงไม่มีเหตุสงสัยว่าพยานทั้งสองจะช่วยเหลือโจทก์ อีกทั้งนางสาว ป. เจ้าหน้าที่ตรวจสอบภาษีของจำเลยที่ 1 เบิกความว่า พยานได้ออกหมายเรียกผู้ซื้อที่ดินจากโจทก์มาให้การ โดยได้ความว่าในการซื้อที่ดินจากโจทก์ไม่มีการวางเงินดาวน์ และไม่มีการทำหนังสือสัญญาจะซื้อจะขาย แต่มีการซื้อขายและชำระราคาเป็นเงินสดในวันที่มีการโอนกรรมสิทธิ์ เมื่อตรวจสอบแล้วพบว่าเป็นความจริงตามที่พยานเบิกความ นอกจากนี้เมื่อพิจารณาสัญญาซื้อขายที่ดินระหว่างโจทก์กับลูกค้ารายอื่น ๆ ในปี 2535 และ 2536 ปรากฏข้อเท็จจริงเป็นเช่นเดียวกัน รูปคดีจึงมีเหตุผลน่าเชื่อตามที่โจทก์นำสืบว่าโจทก์ได้ขายที่ดินของโจทก์แก่ลูกค้าทุกรายตามราคาที่ปรากฏในหนังสือสัญญาซื้อขายและยอมเสียค่าธรรมเนียมการโอนตามราคาประเมินของกรมที่ดินที่ประเมินไว้ไร่ละ 1,000,000 บาท ซึ่งสูงกว่าราคาที่ซื้อขายกันจริงเพื่อให้เจ้าพนักงานที่ดินรับจดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์ในที่ดินแก่ผู้ซื้อ โดยฝ่ายโจทก์และผู้ซื้อมิได้เต็มใจชำระและได้โต้แย้งด้วยวาจาต่อหน้าเจ้าพนักงานที่ดินแล้วมิฉะนั้นแล้วโจทก์ก็ไม่มีโอกาสที่จะขายที่ดินของโจทก์ได้เลย สำหรับปัญหาที่ว่าราคาที่ดินที่โจทก์ขายให้แก่ลูกค้าในปี 2535 และ 2536 ต่ำกว่าราคาตลาดหรือไม่นั้น ได้ความจาก นาย ส. พยานโจทก์ว่า ราคาขายที่ดินของโจทก์ตั้งแต่ปี 2534 ถึง 2536 จะค่อยๆสูงขึ้นแบบขั้นบันได ตามกลไกตลาดและตามอุปสงค์และอุปทานที่ค่อยๆ เพิ่มขึ้น และที่ดินซึ่งปรับปรุงเป็นสวนเกษตรของบริษัท ภ. ตั้งอยู่บนพื้นที่ใกล้เคียงที่ดินของโจทก์มีการจดทะเบียนซื้อขายกันในปี 2533 ในราคาไร่ละประมาณ 2000,000 บาท ซึ่งใกล้เคียงกับราคาที่ดินของโจทก์ ส่วนที่จำเลยทั้งสี่นำสืบว่า ราคาที่ดินของโจทก์ซึ่งจัดในรูปสวนเกษตรมีราคาประเมินไร่ละ 1,000,000 บาท ในปี 2535 ถึง 2538 นั้น จำเลยทั้งสี่มิได้นำสืบให้เห็นว่าราคาตลาดที่แท้จริงสำหรับที่ดินของโจทก์ในปี 2535 ถึง 2538 ควรเป็นจำนวนเท่าใด ทั้งนาย ส. เจ้าหน้าที่พิจารณาอุทธรณ์ของจำเลยที่ 1 พยานจำเลยทั้งสี่เบิกความว่าในปี 2534 ที่ดินของโจทก์ราคาประเมินเพื่อเรียกเก็บค่าธรรมเนียมในการจดทะเบียนสิทธิและนิติกรรมไร่ละ 18,000 บาท เท่านั้น การที่พยานเบิกความว่าในช่วงปี 2538 ถึง 2536 ที่ดินมีราคาสูงขึ้นมากเพราะเป็นช่วงเศรษฐกิจดี ก็เป็นการกล่าวอ้างอย่างเลื่อนลอยไม่ได้ความแน่ชัดว่าที่ดินของโจทก์มีราคาสูงขึ้นจริงจนถึงราคาไร่ละ 1,000,000 บาท พยานหลักฐานของโจทก์จึงมีน้ำหนักดีกว่าพยานหลักฐานของจำเลยทั้งสี่ ข้อเท็จจริงรับฟังได้ว่า ราคาที่ดินที่โจทก์ขายให้แก่ลูกค้าในปี 2535 และ 2536 เป็นราคาที่ซื้อขายกันจริงในขณะทำนิติกรรมจดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์ ซึ่งถือได้ว่าเป็นราคาตลาดตามประมวลรัษฎากร มาตรา 91/1 (3) ส่วนราคาประเมินไร่ละ 1,000,000 บาท ไม่ใช่ราคาตลาด ณ วันที่มีการโอนกรรมสิทธิ์ โจทก์จึงมิได้ขายที่ดินต่ำกว่าราคาตลาด เจ้าพนักงานของจำเลยที่ 1 ย่อมไม่มีอำนาจประเมินภาษีธุรกิจเฉพาะและภาษีเงินได้นิติบุคคลเพิ่มขึ้น โดยใช้ราคาประเมินเพื่อเรียกเก็บค่าธรรมเนียมในการจดทะเบียนสิทธิและนิติกรรมไร่ละ 1,000,000 บาท มาเป็นฐานภาษีได้ ที่จำเลยอ้างคำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2222/2530 นั้น ข้อเท็จจริงตามคำพิพากษาศาลฎีกาดังกล่าวไม่ตรงกับข้อเท็จจริงในคดีนี้ โจทก์แก้อุทธรณ์ว่า คำพิพากษาศาลภาษีอากรกลางไม่กำหนดค่าทนายความให้โจทก์โดยเห็นว่ากรรมการผู้มีอำนาจทำการแทนโจทก์ว่าความเองนั้นเป็นการไม่ชอบ จึงขอให้ศาลฎีกาพิจารณากำหนดให้จำเลยทั้งสี่ใช้ค่าทนายความแทนโจทก์ในศาลชั้นต้นด้วยนั้น หากโจทก์เห็นว่าคำพิพากษาศาลภาษีอากรกลางในส่วนนี้ไม่ถูกต้องก็ชอบที่โจทก์จะต้องอุทธรณ์โต้แย้งตามกฎหมาย ในกรณีเช่นนี้โจทก์จะขอมาในคำแก้อุทธรณ์ไม่ได้ศาลฎีกาแผนกคดีภาษีอากรจึงไม่รับวินิจฉัย | |
ศาลภาษีอากรกลางย่อ |