เมนูปิด

คำพิพากษาฎีกาที่ 5897/2550 
บริษัท ล่ำสูง โฮลดิ้ง จำกัดโจทก์
กรมสรรพากรจำเลย
เรื่อง การลดจำนวนหุ้นของบริษัท
กฎหมายที่เกี่ยวข้อง ประมวลรัษฎากร มาตรา 65 ทวิ (1) 65 ตรี (17)

โจทก์เป็นนิติบุคคลประเภทบริษัทจำกัด ลงทุนซื้อหุ้นของบริษัท ส.จำนวน 16,119,940 หุ้น ในราคาตามมูลค่าหุ้น หุ้นละ 10 บาท โดยโจทก์เข้าถือหุ้นในลักษณะทรัพย์สินเพื่อรับผลประโยชน์จากเงินปันผล ต่อมาวันที่ 15 กุมภาพันธ์ 2538 ที่ประชุมใหญ่ผู้ถือหุ้นของบริษัท ส. มีมติพิเศษให้ลดทุนของบริษัทลงเป็นเงิน 100,000,000 บาท โดยลดจำนวนหุ้นลงจำนวน 10,000,000 หุ้น เป็นผลให้จำนวนหุ้นของบริษัท ส. ลดลงจากทั้งหมด 30,000,000 หุ้น เหลือ 20,000,000 หุ้น โดยมีมูลค่าหุ้นเท่าเดิมคือหุ้นละ 10 บาท และทำให้จำนวนหุ้นที่โจทก์ถืออยู่ในบริษัทดังกล่าวลดลงทั้งสิ้น 5,373,313 หุ้น ตามอัตราส่วนการถือหุ้นของโจทก์ต่อจำนวนหุ้นทั้งหมดที่ลดลง เหตุที่บริษัท ส. ได้ลดทุนเนื่องจากต้องการล้างผลขาดทุนสะสมของบริษัทและเพื่อให้สามารถจดทะเบียนแปรสภาพเป็นบริษัทมหาชนได้ โจทก์จึงไม่ได้รับเงินค่าหุ้นสำหรับหุ้นที่ถูกลดลงคืน โจทก์เห็นว่าจำนวนหุ้นที่ถูกลดลงถือเป็นความสูญเสียและความเสียหายเนื่องจากการลงทุนของโจทก์จึงบันทึกจำนวนเงิน 53,733,130 บาท เป็นรายจ่ายในการคำนวณกำไรสุทธิเพื่อเสียภาษีเงินได้นิติบุคคลของโจทก์สำหรับรอบระยะเวลาบัญชีตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2538 ถึงวันที่ 31 ธันวาคม 2538

ต่อมาวันที่ 27 กรกฎาคม 2541 เจ้าพนักงานประเมินของจำเลยได้ออกหมายเรียกตรวจสอบการเสียภาษีของโจทก์สำหรับรอบระยะเวลาบัญชีตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2538 ถึงวันที่ 31 ธันวาคม 2538 ผลการตรวจสอบ เจ้าพนักงานประเมินของจำเลยเห็นว่า รายจ่ายของโจทก์จำนวน 53,733,130 บาท ซึ่งเท่ากับมูลค่าหุ้นที่ถูกลดลงดังกล่าวเป็นรายจ่ายต้องห้ามมิให้นำไปคำนวณกำไรสุทธิตามมาตรา 65 ตรี (17) แห่งประมวลรัษฎากร เมื่อปรับปรุงกำไรสุทธิใหม่ทำให้โจทก์ต้องชำระภาษีเพิ่มเติม เจ้าพนักงานประเมินของจำเลยจึงมีหนังสือแจ้งการเปลี่ยนแปลงผลขาดทุนสุทธิและ แจ้งการประเมินให้โจทก์ชำระภาษีเงินได้นิติบุคคลพร้อมเบี้ยปรับและเงินเพิ่มรวมเป็นเงินทั้งสิ้น 6,536,574.91 บาท โจทก์อุทธรณ์การประเมินต่อคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์ คณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์วินิจฉัยว่า การประเมินของเจ้าพนักงานประเมินถูกต้องชอบด้วยกฎหมายแล้วแต่มีเหตุอันควรผ่อนผันจึงลดเบี้ยปรับที่เรียกเก็บลง คงเรียกเก็บเพียงร้อยละ 50 ของเบี้ยปรับตามกฎหมาย

ศาลฎีกาโดยมติที่ประชุมใหญ่เห็นว่า ตามมาตรา 65 ตรี แห่งประมวลรัษฎากร มีเจตนารมณ์ห้ามบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลนำมูลค่าของทรัพย์สินที่มีการตีราคาต่ำลงมาหักเป็นรายจ่ายในการคำนวณกำไรสุทธิ เนื่องจากมูลค่าของทรัพย์สินที่มีการตีราคาต่ำลงมายังมิใช่รายจ่ายที่เกิดขึ้นจริง ในกรณีนี้รายจ่ายจะเกิดขึ้นจริงก็ต่อเมื่อมีการขายทรัพย์สินดังกล่าวไปแล้วได้มูลค่าต่ำกว่า มูลค่าที่ลงทุนซื้อทรัพย์สินนั้นมา ตามข้อเท็จจริง โจทก์ซื้อหุ้นโดยถือไว้ในลักษณะทรัพย์สินเพื่อรับประโยชน์จากเงินปันผล การลดทุนของบริษัท ส. ไม่ว่าจะเป็นการลดมูลค่าหุ้นแต่ละหุ้นให้ต่ำลงหรือลดจำนวนหุ้นที่มีอยู่ให้น้อยลงเพื่อนำไปลดผลขาดทุนของบริษัท ส. มีผลเพียงทำให้มูลค่าหุ้นรวมของโจทก์ลดลงตามสัดส่วนที่มีการลดมูลค่าหรือลดจำนวนหุ้นซึ่งเป็นผลให้มูลค่าทั้งสิ้นของเงินลงทุนในหุ้นอันเป็นทรัพย์สินของโจทก์มีมูลค่าลดลง ดังนั้น การลดจำนวนหุ้นของบริษัท ส. ซึ่งทำให้จำนวนหุ้นที่โจทก์ถืออยู่ลดลงจะถือเป็นรายจ่ายในการคำนวณกำไรสุทธิได้ก็ต่อเมื่อมีการขายหุ้นส่วนที่เหลือจากการลดจำนวนหุ้นดังกล่าวไปทั้งหมด ผลขาดทุนจากการขายหุ้นจึงจะถือเป็นรายจ่ายที่เกิดขึ้นจริงของทรัพย์สินดังกล่าวที่จะนำมาหักเป็นรายจ่ายในการคำนวณกำไรสุทธิได้ เมื่อโจทก์ยังมิได้ขายหุ้นในส่วนที่เหลือจากการลดจำนวนหุ้นไปทั้งหมด การลดทุนของบริษัทฯ จึงเข้าลักษณะเป็น “ ค่าของทรัพย์สินนอกจากสินค้าที่ตีราคาต่ำลง ” ตามประมวลรัษฎากร มาตรา 65 ตรี (17) ซึ่งต้องห้ามมิให้นำไปคำนวณกำไรสุทธิและขาดทุนสุทธิ ตามมาตรา 65 ทวิ (1) แห่งประมวลรัษฎากร การลดทุนของบริษัท ส. ไม่ว่าจะเป็นการลดมูลค่าหุ้นแต่ละหุ้นให้ต่ำลงหรือลดจำนวนหุ้นที่มีอยู่ให้น้อยลงเพื่อนำไปลดผลขาดทุนสะสมของบริษัท ส. ไม่มีผลกระทบต่อสัดส่วนการถือหุ้นของโจทก์ในบริษัท ส. และไม่ได้ทำให้มูลค่าทั้งสิ้นของเงินลงทุนในหุ้นของบริษัท ส. อันเป็นทรัพย์สินของโจทก์สูญหายไปทั้งหมดหรือสูญหายไปโดยสิ้นเชิง โจทก์ในฐานะผู้ถือหุ้นอาจเสียหายมากขึ้นหรือไม่เสียหายเลยเนื่องจากการลดหุ้นก็ได้ เพราะโจทก์ยังมีจำนวนหุ้นที่เหลืออยู่จากการลงทุนให้ขายได้ในอนาคตเช่นเดียวกับการลดทุนโดยลดมูลค่าหุ้น ผลเสียหายที่เกิดขึ้นสำหรับการลดทุนโดยลดจำนวนหุ้นจึงยังไม่มีความแน่นอนและไม่อาจกำหนดจำนวนได้แน่นอน เนื่องจากต้องพิจารณามูลค่าทั้งสิ้นของเงินลงทุนในหุ้นซึ่งเป็นทรัพย์สินอันเดียวกันโดยไม่ได้พิจารณาที่หุ้นแต่ละหุ้น การประเมินของเจ้าพนักงานประเมินและคำวินิจฉัยของคณะกรรมการวินิจฉัยอุทธรณ์ชอบด้วยกฎหมายแล้ว พิพากษากลับให้ยกฟ้องโจทก์.

 

 

ปรับปรุงล่าสุด: 12-02-2021