เมนูปิด

คำพิพากษาฎีกาที่ 3535/2550 
กรมสรรพากรโจทก์
บริษัท พิษณุโลกอาเขต จำกัด กับพวกจำเลย
เรื่อง การบังคับคดีภาษีอากร
กฎหมายที่เกี่ยวข้อง ประมวลรัษฎากร มาตรา 67ทวิ, 71(1), 91/15, 91/16, 91/21(5) (6)

จำเลย ที่ 1 ค้างชำระภาษีเงินได้นิติบุคคลและภาษีธุรกิจเฉพาะ จึงยื่นคำร้องขอ ผ่อนชำระภาษีอากรค้างและได้รับอนุมัติให้ผ่อนชำระได้โดยมีจำเลยที่ 2 จดทะเบียนจำนองที่ดิน เพื่อเป็นประกันการผ่อนชำระหนี้ภาษีอากรของจำเลยที่ 1 จำเลยที่ 1 ผิดนัดไม่ผ่อนชำระตามงวดหลายครั้ง โจทก์จึงมีหนังสือบอกกล่าวบังคับจำนองและฟ้องขอให้บังคับจำเลยทั้งสองร่วมกันชำระเงินให้แก่โจทก์ หากจำเลยทั้งสองไม่ชำระขอให้ยึดทรัพย์จำนองออกขายทอดตลาดนำเงินมาชำระหนี้ให้แก่โจทก์จนครบ

ศาลภาษีอากรกลางพิจารณาแล้วพิพากษาให้จำเลยทั้งสองชำระเงินแก่โจทก์ตามฟ้อง หากไม่ชำระให้ยึดทรัพย์จำนองขายทอดตลาดนำเงินมาชำระหนี้แก่โจทก์ ถ้าได้เงินจำนวนสุทธิไม่พอชำระหนี้ จำเลยทั้งสองไม่ต้องรับผิดชำระหนี้ส่วนที่ยังขาดจำนวนแก่โจทก์

คดีมีปัญหาที่ต้องวินิจฉัยว่า หากขายทอดตลาดทรัพย์จำนองของจำเลยที่ 2 แล้วได้เงินสุทธิไม่พอชำระหนี้แก่โจทก์ จำเลยที่ 1 ยังต้องรับผิดชำระหนี้ในส่วนที่ขาดอยู่หรือไม่

ศาลฎีกาโดยมติของที่ประชุมใหญ่ เห็นว่า ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 733 บัญญัติว่า “ ... ถ้าเอาทรัพย์สินซึ่งจำนองออกขายทอดตลาดใช้หนี้ได้เงินจำนวนสุทธิน้อยกว่าจำนวนเงินที่ค้างชำระกันอยู่นั้นก็ดี เงินยังขาดจำนวนอยู่เท่าใดลูกหนี้ไม่ต้องรับผิดในเงินนั้น ” คดีนี้ สัญญาจำนองที่ดินทั้ง 30 แปลง ระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ 2 เพื่อเป็นประกันการผ่อนชำระหนี้ค่าภาษีอากรค้างของจำเลยที่ 1 โจทก์กับจำเลยที่ 1 ไม่มีข้อตกลงว่า ถ้าเอาทรัพย์สินซึ่งจำนองออกขายทอดตลาดใช้หนี้ได้เงินจำนวนสุทธิน้อยกว่าจำนวนเงินที่ค้างชำระกัน เงินยังขาดจำนวนอยู่เท่าใดจำเลยที่ 1 ต้องรับผิดในเงินนั้น กรณีจึงต้องอยู่ในบังคับแห่ง บทบัญญัติของ มาตรา 733 ดังกล่าว คือ หากบังคับจำนองได้เงินไม่พอชำระหนี้จำเลยที่ 1 ไม่ต้องรับผิดในส่วนที่ขาด

ที่โจทก์อ้างว่า จำเลยที่ 1 จะหลุดพ้นความรับผิดก็ต่อเมื่อได้ชำระค่าภาษีอากรค้างเสร็จสิ้น แล้ว และคดีนี้มิใช่เป็นเรื่องที่จำเลยที่ 1 นำทรัพย์สินของตนเองมาจำนอง จึงไม่อยู่ในบังคับแห่งบทบัญญัติมาตรา 733 นั้น เห็นว่าบทบัญญัติแห่งมาตรา 733 หาได้มีข้อจำกัดการใช้บังคับเฉพาะกรณีที่ลูกหนี้จำนองทรัพย์สินของตนเองเท่านั้น

ส่วนจำเลยที่ 2 ไม่ต้องร่วมรับผิดกับจำเลยที่ 1 เนื่องจากมิได้เป็นลูกหนี้ร่วมแต่เป็นผู้จำนองที่ดินประกันหนี้ของจำเลยที่ 1 เท่านั้น จำเลยที่ 2 จึงไม่ต้องรับผิดอย่างลูกหนี้ร่วม

 

 

ปรับปรุงล่าสุด: 12-02-2021