เมนูปิด

คำพิพากษาฎีกาที่10383/2550 
นายวันชัย ศุภคติสันติ์ โจทก์
กรมสรรพากรจำเลย
เรื่อง ภาษีธุรกิจเฉพาะ  
กฎหมายที่เกี่ยวข้อง ประมวลรัษฎากร มาตรา 91/2(6) , 91/15(1) , 91/16

ตามประมวลรัษฎากร มาตรา 88/5 ประกอบมาตรา 91/21 (5) เพียงแต่กำหนดให้ เจ้าพนักงานประเมินเมื่อได้ประเมินแล้วให้แจ้งการประเมินเป็นหนังสือไปยังผู้มีหน้าที่เสียภาษีเท่านั้น มิได้กำหนด ว่าในการแจ้งการประเมินเจ้าพนักงานประเมินต้องแจ้งรายละเอียดและเหตุผลที่ประเมินให้ผู้ต้องเสียภาษีอากรทราบด้วย ดังนั้น การที่เจ้าพนักงานประเมินแจ้งการประเมินว่าโจทก์ขายอสังหาริมทรัพย์เป็นทางค้าหรือกำไร มีรายรับจากการขายอสังหาริมทรัพย์พร้อมอาคารโดยมิได้ทำการยื่นแบบชำระภาษีธุรกิจเฉพาะอาศัยอำนาจตามมาตรา 91/15(1) , 91/16 แห่งประมวลรัษฎากร แจ้งการประเมินภาษีธุรกิจเฉพาะโจทก์ โดยมิได้ระบุว่าเป็นการขายอสังหาริมทรัพย์ที่มีไว้ในการประกอบกิจการ จึงเป็นหนังสือแจ้งการประเมินภาษีธุรกิจเฉพาะที่ชอบด้วยประมวลรัษฎากรแล้ว

แม้ปัจจุบันจะมีพระราชกฤษฎีกาออกตามความในประมวลรัษฎากร ว่าด้วยการขาย อสังหาริมทรัพย์อสังหาริมทรัพย์เป็นทางค้าหรือหากำไร (ฉบับที่ 342) พ.ศ. 2541 ออกมายกเลิกพระราชกฤษฎีกาฯ (ฉบับที่ 244) พ.ศ. 2534 และกำหนดให้เฉพาะการขายอสังหาริมทรัพย์ที่ผู้ขายมีไว้ในการประกอบกิจการเฉพาะของนิติบุคคลเป็นการขายอสังหาริมทรัพย์เป็นทางค้าหรือหากำไรที่ต้องเสียภาษีธุรกิจเฉพาะ ตาม มาตรา 91/2(6) แห่งประมวลรัษฎากร ก็ตาม แต่เมื่อขณะที่โจทก์ขายที่ดินพร้อมอาคารพิพาทและเกิดความรับผิดทางภาษีนั้น พระราชกฤษฎีกาฯ (ฉบับที่ 244 ) พ.ศ. 2534 ยังมีผลใช้บังคับ การที่เจ้าพนักงานประเมินของจำเลย นำหลักเกณฑ์ตามพระราชกฤษฎีกาฯ (ฉบับที่ 244) พ.ศ. 2534 มาใช้ในการประเมินภาษีธุรกิจเฉพาะของโจทก์จึงชอบแล้ว

ตามพระราชกฤษฎีกาฯ (ฉบับที่ 244) พ.ศ.2534 มาตรา 3(5) บัญญัติว่า การขายอสังหาริมทรัพย์ที่เป็นทางค้าหรือหากำไรตามมาตรา 91/2(6) แห่งประมวลรัษฎากร ได้แก่การขายอสังหาริมทรัพย์ที่ผู้ขายมีไว้ในการประกอบกิจการและที่มีไว้เพื่อใช้ในการประกอบกิจการดังที่โจทก์เบิกความว่า โจทก์เพิ่งสร้างอาคารพิพาทภายหลังจากที่ซื้อที่ดิน และตั้งใจนำที่ดินและอาคารพิพาทออกให้เช่าแต่ยังไม่มีผู้เช่า พฤติการณ์ดังกล่าวแสดงให้เห็นเจตนาของโจทก์แต่แรกว่าประสงค์จะลงทุนเพิ่มเติมเพื่อมูลค่าของที่ดิน โดยสร้างอาคารพิพาทแล้วนำมาให้ผู้อื่นเช่าอันจะทำให้โจทก์ได้ ค่าเช่ามากกว่าการให้เช่าที่ดินเปล่า แม้ต่อมาจะมีผู้มาเช่าหรือไม่ก็ตามก็ต้องถือว่าโจทก์ได้ประกอบกิจการให้เช่าอสังหาริมทรัพย์แล้ว ที่ดินและอาคารพิพาทจึงเป็นอสังหาริมทรัพย์ที่โจทก์มีไว้ในการประกอบกิจการ เมื่อโจทก์ขายที่ดินและอาคารพิพาทให้แก่บริษัท อ. จึงถือว่าเป็นการขายอสังหาริมทรัพย์ที่เป็นทางค้าหรือหากำไรโดยไม่ต้องคำนึงถึงระยะเวลาที่โจทก์ถือครองอสังหาริมทรัพย์ ตามประมวลรัษฎากร มาตรา 91/2(6) ประกอบพระราชกฤษฎีกาฯ (ฉบับที่ 244) พ.ศ.2534 มาตรา 3(5) โจทก์ต้องเสียภาษีธุรกิจเฉพาะ

 

ปรับปรุงล่าสุด: 12-02-2021