เมนูปิด

คำพิพากษาฎีกาที่8829/2550  
บริษัทโรงแรมกรุงเทพธานี จำกัด โจทก์
กรมสรรพากรจำเลย
เรื่อง การประเมิน 
กฎหมายที่เกี่ยวข้อง ประมวลรัษฎากร มาตรา 19 , 51 , 54 , 67 ทวิ , 67 ตรี , 68, 71 (1) , 91/15 (1) (3)

ประเด็นที่ต้องวินิจฉัยตามอุทธรณ์ของโจทก์มีว่า การออกหมายเรียกของเจ้าพนักงานประเมินเป็นไปโดยชอบด้วยประมวลรัษฎากร มาตรา 19 หรือไม่ เห็นว่า เจ้าพนักงานประเมินเห็นว่าโจทก์หักภาษี ณ ที่จ่าย และนำส่งไม่ถูกต้องครบถ้วน เจ้า พนักงานประเมินย่อมมีอำนาจประเมินให้โจทก์ในฐานะผู้จ่ายเงินรับผิดในส่วนที่ขาดได้โดยอาศัย อำนาจตามประมวลรัษฎากร มาตรา 54 วรรคหนึ่ง และมาตรา 54 วรรคหนึ่ง ประกอบมาตรา 70 โดยเจ้าพนักงาน ประเมินอาจส่งหนังสือแจ้งให้โจทก์ส่งพยานหลักฐานอันควร เพื่อตรวจสอบการหักภาษี ณ ที่จ่ายได้ ตามที่เห็นสมควรตามประมวลรัษฎากร มาตรา 51 ซึ่งเป็นบทบัญญัติโดยเฉพาะอยู่แล้ว จึงไม่อยู่ในบังคับ ที่ต้องออกหมายเรียกภายในระยะเวลาและโดยเงื่อนไขตามมาตรา 19 ส่วนกรณีภาษีเงินได้นิติบุคคล (ครึ่งปี) สำหรับรอบระยะเวลาบัญชีปี 2537 และ 2538 นั้น โจทก์มีหน้าที่ยื่นรายการเพื่อชำระภาษีจากจำนวนกึ่งหนึ่งของประมาณการกำไรสุทธิในรอบระยะเวลาบัญชีนั้นตามประมวลรัษฎากร มาตรา 67 ทวิ ซึ่งหากโจทก์ไม่ยื่นรายการหรือยื่นรายการโดยแสดงประมาณการกำไรสุทธิขาดไปเกินร้อยละ 25 เจ้าพนักงานประเมินอาจประเมินให้ชำระภาษีพร้อมเงินเพิ่มได้ทันทีเมื่อพ้นกำหนดยื่นรายการหรือเมื่อโจทก์ยื่นชำระภาษีเงินได้นิติบุคคลเมื่อสิ้นรอบระยะเวลาบัญชีนั้นตามประมวลรัษฎากร มาตรา 67 ตรีโดยไม่จำต้องออกหมายเรียกโจทก์มาไต่สวนตรวจสอบตามมาตรา 19 และ 23 แต่อย่างใด

ประเด็นที่ต้องวินิจฉัยในข้อต่อไปมีว่า การประเมินและคำวินิจฉัยอุทธรณ์เกี่ยวกับภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาหัก ณ ที่จ่าย ชอบหรือไม่ เห็นว่า โจทก์ได้ส่งเงินสมทบจ่ายเข้ากองทุนประกันสังคมของพนักงานโจทก์ตลอดมา และใบเสร็จรับเงินของสำนักงานประกันสังคมเป็นรายชื่อผู้ประกันตนซึ่งโจทก์อ้างว่าเป็นพนักงานของโจทก์และโจทก์นำส่งเงินสมทบจ่ายเข้ากองทุนประกันสังคมแล้ว แต่ปรากฏว่าใบเสร็จรับเงินของสำนักงานประกันสังคมมีเป็นจำนวนมาก ซึ่งใบเสร็จรับเงินไม่ได้แสดงรายการว่าเป็นเงินสมทบของผู้ประกันตนคนใด เป็นพนักงานของโจทก์หรือไม่ และพยานโจทก์ก็มิได้นำสืบอธิบายรายละเอียดให้เห็นได้ว่า หลักฐานการนำส่งเงินสมทบจ่ายเข้ากองทุนประกันสังคมดังกล่าวตรงกับรายชื่อพนักงานโจทก์ตามแบบยื่น รายการภาษีหักภาษี ณ ที่จ่าย ภ.ง.ด. 1 และ ภ.ง.ด. 1 ก ที่เจ้าพนักงานประเมินนำมาประเมินภาษีโจทก์เพิ่มแต่อย่างใด พยานหลักฐานของโจทก์จึงยังไม่อาจรับฟังได้ดังที่โจทก์อ้าง อุทธรณ์ของโจทก์ข้อนี้ฟังไม่ขึ้น

ประเด็นที่ต้องวินิจฉัยในข้อต่อไปมีว่า การประเมินและคำวินิจฉัยอุทธรณ์เกี่ยวกับภาษีเงินได้นิติบุคคลชอบหรือไม่ เห็นว่า ประมวลรัษฎากร มาตรา 71(1) บัญญัติไว้ว่า บริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลใด ไม่ยื่นรายการซึ่งจำเป็นต้องใช้ในการคำนวณภาษีเงินได้นิติบุคคล หรือมิได้ทำบัญชีหรือทำไม่ครบตามที่กำหนดไว้ในมาตรา 17 และมาตรา 68 ทวิ หรือไม่นำบัญชี เอกสารหรือหลักฐานอื่นมาให้เจ้าพนักงานประเมินทำการไต่สวนตามมาตรา 19 หรือมาตรา 23 เจ้าพนักงานประเมินมีอำนาจประเมินภาษีในอัตราร้อยละ 5 ของยอดรายรับก่อนหักรายจ่ายใดๆ หรือยอดขายก่อนหักรายจ่ายใดๆ ของรอบระยะเวลาบัญชี แล้วแต่อย่างใดจะมากกว่า ส่วนคำสั่งกรมสรรพากรที่ ป.78/2541 เรื่อง ขอบเขตการใช้อำนาจตามมาตรา 71(1) แห่งประมวลรัษฎากร ข้อ 4 ระบุว่า กรณีที่เจ้าพนักงานประเมินออกหมายเรียกบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลใด เพื่อทำการตรวจสอบภาษีอากรตามมาตรา 23 แห่งประมวลรัษฎากร และสั่งให้บริษัทหรือห้างหุ้นส่วน นิติบุคคลนั้นนำบัญชี เอกสาร หรือหลักฐานอื่นมาให้เจ้าพนักงานประเมินทำการตรวจสอบด้วย ให้เจ้าพนักงาน ประเมินทำการประเมินภาษีเงินได้นิติบุคคลตามมาตรา 24 แห่งประมวลรัษฎากร พร้อมทั้งเบี้ยปรับ 2 เท่า ของจำนวนเงินภาษีอากรที่ต้องชำระตามมาตรา 26 แห่งประมวลรัษฎากร หรือจะทำการประเมินภาษีเงินได้ ตามมาตรา 71 (1) แห่งประมวลรัษฎากร ก็ได้ แล้วแต่ว่าภาษีตามวิธีใดจะมีจำนวนมากกว่า ฉะนั้น เมื่อโจทก์มิได้ยื่นรายการซึ่งจำเป็นต้องใช้ในการคำนวณภาษีพร้อมด้วยบัญชีงบดุล บัญชีทำการและบัญชีกำไรขาดทุน บัญชีรายรับ รายจ่าย หรือบัญชีรายรับก่อนหักด้วยรายจ่ายที่มีบุคคลตามมาตรา 3 สัตต ตรวจสอบและรับรองในรอบระยะเวลาบัญชีดังกล่าว ตามมาตรา 68 และ 69 ทั้งได้ความว่า โจทก์ไม่นำส่ง สมุดบัญชีและเอกสารประกอบการบันทึกบัญชีหรือเอกสารใดๆ ที่เพียงพอจะแสดงให้รู้ว่าโจทก์มีรายได้และรายจ่ายจำนวนเท่าใด จึงไม่อาจคำนวณหากำไรสุทธิและขาดทุนสุทธิเพื่อประเมินภาษีตามวิธีปกติได้ การที่เจ้าพนักงานประเมินทำการประเมินภาษีเงินได้นิติบุคคลของโจทก์ในอัตราร้อยละ 5 ของยอดรายรับ ก่อนหักรายจ่ายใดๆ หรือยอดขายก่อนหักรายจ่ายใดๆ ของรอบระยะเวลาบัญชีแล้วแต่อย่างใดจะมากกว่า จึงชอบด้วยประมวลรัษฎากร มาตรา 71 (1) ประกอบกับคำสั่งกรมสรรพากรที่ ป.78/2541 แล้ว

ประเด็นที่ต้องวินิจฉัยในข้อต่อไปมีว่า การประเมินและคำวินิจฉัยอุทธรณ์เกี่ยวกับภาษีเงินได้ นิติบุคคล (ครึ่งปี) ชอบหรือไม่ เห็นว่า โจทก์ยื่นแบบแสดงรายการภาษีเงินได้นิติบุคคล (ครึ่งปี) (ภ.ง.ด.51) สำหรับรอบระยะเวลาบัญชีปี 2537 ถึง 2539 โดยแสดงผลขาดทุนสุทธิทั้งสามรอบระยะเวลาบัญชี แต่โจทก์ไม่ได้ยื่นแบบแสดงรายการภาษีเงินได้นิติบุคคล (ภ.ง.ด.50) สำหรับรอบระยะเวลาบัญชีดังกล่าว ฉะนั้น การที่เจ้าพนักงานประเมินได้ประเมินภาษีเงินได้นิติบุคคลโจทก์ทั้งสามรอบระยะเวลาบัญชีดังกล่าวในอัตราร้อยละ 5 ของยอดรายรับก่อนหักด้วยรายจ่ายใดๆ หรือยอดขายก่อนหักรายจ่ายใดๆ ของรอบระยะเวลาบัญชีแล้วแต่อย่างใดจะมากกว่าตามมาตรา 71(1) แห่งประมวลรัษฎากร เมื่อได้จำนวนภาษีที่ต้องชำระแล้วจึงคำนวณกลับเป็นกำไรสุทธิในรอบระยะเวลาบัญชีนั้นๆ ซึ่งปรากฏว่าโจทก์ยื่นแบบแสดงรายการภาษีเงินได้นิติบุคคล (ครึ่งปี) สำหรับรอบระยะเวลาบัญชีปี 2537 ถึง 2539 โดยแสดงผล ขาดทุนสุทธิอันเป็นการประมาณการกำไรสุทธิขาดไปเกินร้อยละ 25 ของกำไรสุทธิดังกล่าวโดยไม่มีเหตุอันสมควร การที่เจ้าพนักงานประเมินทำการประเมินให้โจทก์รับผิดเสียเงินเพิ่มร้อยละ 20 ของกึ่งหนึ่งของจำนวนเงินภาษีที่ต้องเสียในรอบระยะเวลาบัญชีนั้น ทั้งนี้ ตามประมวลรัษฎากร มาตรา 67 ตรี วรรคหนึ่ง การประเมินและคำวินิจฉัยอุทธรณ์ในเรื่องนี้ชอบแล้ว

ประเด็นที่ต้องวินิจฉัยในข้อต่อไปมีว่า การประเมินภาษีธุรกิจเฉพาะโดยเจ้าพนักงานประเมินไม่ได้แจ้งโจทก์นำส่งเอกสารหลักฐานที่เกี่ยวข้องเป็นการชอบหรือไม่ เห็นว่า ตามประมวลรัษฎากร มาตรา 88/4 ประกอบมาตรา 91/21(5) เป็นอำนาจของเจ้าพนักงานประเมินที่จะออกหมายเรียก ผู้มีหน้าที่เสียภาษี ผู้ทำการแทน หรือพยาน หรือสั่งให้บุคคลเหล่านั้นนำบัญชี เอกสารหรือหลักฐานอื่นอันควรแก่เรื่องมาให้ตรวจสอบไต่สวนได้โดยไม่มีบทบัญญัติใดบังคับให้เจ้าพนักงานประเมินต้องแจ้งให้ผู้มีหน้าที่เสียภาษีส่งเอกสารหลักฐานที่เกี่ยวข้องก่อนจึงทำการประเมินภาษีธุรกิจเฉพาะได้ กรณีนี้ว่า เจ้าพนักงานประเมินได้ออกหมายเรียกตรวจสอบภาษีอากรทุกประเภทโดยระบุมาตรา 91/21 แห่งประมวลรัษฎากร แต่โจทก์ไม่ได้ส่งมอบเอกสารหลักฐานให้เจ้าพนักงานประเมิน เมื่อเจ้าพนักงานประเมินตรวจสอบพบว่าโจทก์ทำนิติกรรมขายที่ดินมีหน้าที่เสียภาษีธุรกิจเฉพาะ แต่มิได้ยื่นแบบแสดงรายการและชำระภาษีภายในเวลาที่กฎหมายกำหนด เจ้าพนักงานประเมินจึงมีอำนาจประเมินภาษีธุรกิจเฉพาะพร้อมเบี้ยปรับและเงินเพิ่มแก่โจทก์ได้ตามมาตรา 91/15(1) และ(3) แห่งประมวลรัษฎากร

ประเด็นที่ต้องวินิจฉัยในข้อต่อไปมีว่า ควรงดเบี้ยปรับสำหรับภาษีธุรกิจเฉพาะให้แก่โจทก์หรือไม่ เห็นว่า เมื่อโจทก์ขายอสังหาริมทรัพย์แล้วไม่ยื่นแบบแสดงรายการและชำระภาษีธุรกิจเฉพาะตามกฎหมาย จึงต้องรับผิดเสียเบี้ยปรับ และการที่คณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์ลดเบี้ยปรับสำหรับภาษีธุรกิจเฉพาะให้แก่โจทก์คงเรียกเก็บเพียงร้อยละ 50 ของเบี้ยปรับตามกฎหมายเป็นคุณแก่โจทก์และเหมาะสมแล้ว ไม่มีเหตุที่จะงดเบี้ยปรับให้

และ ประเด็นที่ต้องวินิจฉัยในข้อสุดท้าย เกี่ยวกับคำสั่งระหว่างพิจารณา มีว่า คำสั่งศาลภาษีอากรกลางให้โจทก์เสียค่าขึ้นศาลเพิ่มไม่ชอบนั้น เห็นว่า การยื่นแบบแสดงรายการภาษีเงินได้นิติบุคคล (ครึ่งปี) ตามมาตรา 67 ทวิ แห่งประมวลรัษฎากร นั้น เป็นการเก็บภาษีก่อนถึงกำหนดเวลาตามมาตรา 68 โดยภาษีที่ชำระนี้ให้ถือเป็นเครดิตในการคำนวณภาษีที่ต้องชำระตามมาตรา 68 ฉะนั้น ภาษีเงินได้นิติบุคคล (ครึ่งปี) ที่ต้องชำระตามมาตรา 67 ทวิ สำหรับรอบระยะเวลาบัญชีใดจึงเป็นจำนวนหนึ่งของภาษีเงินได้นิติบุคคลที่ต้องชำระเมื่อสิ้นรอบระยะเวลาบัญชีนั้นตามมาตรา 68 โดยกฎหมายให้นำภาษีที่ชำระให้ตอนครึ่งปีมาเป็นเครดิตสำหรับภาษีที่ต้องเสียภาษีทั้งรอบระยะเวลาบัญชี คำฟ้องที่เกี่ยวกับการประเมินภาษีเงินได้นิติบุคคล (ครึ่งปี) จึงเป็นข้อหาเดียวเกี่ยวข้องกันกับภาษีเงินนิติบุคคลที่ต้องชำระเมื่อสิ้นรอบระยะเวลาบัญชีนั้นๆ แม้จะมีการประเมินแต่เงินเพิ่มตามมาตรา 67 ตรี ก็ตาม การที่ศาลภาษีอากรกลางเรียกค่าขึ้นศาลเกี่ยวกับภาษีเงินได้นิติบุคคลทั้งครึ่งปีและเต็มปีในแต่ละรอบระยะเวลาบัญชีเป็นแต่ละข้อหาและเมื่อรวมกันแล้วเกินกว่า 200 , 000 บาท จึงไม่ชอบอุทธรณ์ของโจทก์ข้อนี้ฟังขึ้น และเห็นควรให้คืนค่าขึ้นศาลในชั้นอุทธรณ์ที่เสียเกินมาด้วย อนึ่ง โจทก์ยังไม่ได้เสียค่าขึ้นศาลสำหรับการอุทธรณ์คำสั่งศาลภาษีอากรกลางดังกล่าว ซึ่งเป็นคำขอให้ปลดเปลื้องทุกข์อันไม่อาจคำนวณเป็นราคาเงินได้ โจทก์ต้องเสียค่าขึ้นศาลในส่วนนี้อีก 200 บาท ตามตาราง 1 (2)(ก) ท้ายประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง ประกอบพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลภาษีอากรและวิธีพิจารณาคดีภาษีอากร พ.ศ. 2528 มาตรา 24 จึงให้โจทก์ชำระเสียให้ถูกต้อง

 

 

ปรับปรุงล่าสุด: 12-02-2021