เมนูปิด

คำพิพากษาฎีกาที่ 8656/2550 
นายสุพจน์ ธีระวัฒนชัย โจทก์
กรมสรรพากร จำเลย

เรื่องการประเมินภาษีธุรกิจเฉพาะและอำนาจคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์

กฎหมายที่เกี่ยวข้อง ประมวลรัษฎากร มาตรา19 มาตรา 91/21 (5) มาตรา 91/2(6)

พระราชกฤษฎีกาออกตามความในประมวลรัษฎากรว่าด้วยการขายอสังหาริมทรัพย์ฯ

(ฉบับที่ 244) พ.ศ. 2534

พระราชกฤษฎีกาออกตามความในประมวลรัษฎากรว่าด้วยการขายอสังหาริมทรัพย์ฯ

(ฉบับที่ 342) พ.ศ. 2541

ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 193/31

มาตรา 19 แห่งประมวลรัษฎากรเป็นบทบัญญัติที่กำหนดระยะเวลาให้ เจ้าพนักงานฯ มีอำนาจออกหมายเรียกผู้ยื่นรายการมาไต่สวนเมื่อมีเหตุอันควรเชื่อว่ารายการตามแบบที่ยื่นไม่ถูกต้องตามความจริง หรือไม่บริบูรณ์ได้ภายใน 2 ปี กรณีดังกล่าวหาใช่เป็นบทบัญญัติเรื่องอายุความในการเรียกร้องให้ชำระค่าภาษีอากร ไม่ ทั้งการออกหมายเรียกบุคคลผู้มีหน้าที่เสียภาษีธุรกิจเฉพาะนั้น ตามมาตรา 91/21 (5) ให้นำบทบัญญัติมาตรา 88/4 แห่งประมวลรัษฎากรมาใช้บังคับโดยอนุโลม อำนาจของเจ้าพนักงานประเมินจึงไม่อยู่ในบังคับของมาตรา 19 แห่งประมวลรัษฎากร สิทธิเรียกร้องให้ชำระค่าภาษีอากรมีอายุความ 10 ปี ตามมาตรา 193/31 แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ เมื่อเจ้าพนักงานฯ ประเมินให้โจทก์ชำระภาษีธุรกิจเฉพาะสำหรับ เดือนภาษีสิงหาคม 2535 ซึ่งผู้มีหน้าที่เสียภาษีต้องยื่นแบบแสดงรายการภาษีธุรกิจเฉพาะภายในวันที่ 15 กันยายน 2535 จึงต้องเริ่มนับอายุความตั้งแต่วันที่ 16 กันยายน 2535 อันเป็นวันที่อาจบังคับสิทธิเรียกร้อง ได้ เมื่อนับถึงวันที่โจทก์ได้รับแจ้งการประเมินคือวันที่ 7 กุมภาพันธ์ 2545 ยังไม่พ้นกำหนด 10 ปี เจ้าพนักงานฯ จึงมีอำนาจประเมินให้โจทก์ชำระภาษีตามฟ้อง ได้

โจทก์มีรายรับจากการจำหน่ายจ่ายโอนที่ดินและอาคารซึ่งเป็นอสังหาริมทรัพย์จำนวน 11,600,000.- บาท แต่เจ้าพนักงานฯ ได้ประเมินให้โจทก์ชำระภาษีธุรกิจเฉพาะจากฐานรายรับ 6,840,000.- บาท ซึ่งเป็นมูลค่าของอาคารเลขที่ 71/25 เท่านั้น โดยมิได้รวมรายรับจากการโอนสิทธิจะซื้อที่ดินที่ปลูกสร้างอาคารดังกล่าวด้วย ดังนั้น การที่คณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์มีคำวินิจฉัยอุทธรณ์ว่าโจทก์มีรายรับจากการขายอาคารเลขที่ 71/ 25 เป็นเงิน 11,600,000.- บาท และให้โจทก์ชำระภาษีธุรกิจเฉพาะเพิ่มขึ้นจากการ ประเมินเป็นเงินภาษี เบี้ยปรับ เงินเพิ่ม และภาษีส่วนท้องถิ่น รวมเป็นภาษีที่เพิ่มขึ้นจำนวน 628,320.- บาท จึงมิใช่เป็นการวินิจฉัยในประเด็นเดียวกัน และมิใช่เป็นการคิดภาษีให้ถูกต้องตาม กฎหมายแต่เป็นการวินิจฉัย เรียกเก็บภาษีเพิ่มเติมในประเด็นข้ออื่นนอกเหนือจากการประเมินของเจ้าพนักงานฯ คณะกรรมการพิจารณา อุทธรณ์ ย่อมไม่มีอำนาจที่จะกำหนดได้.

 

 

ปรับปรุงล่าสุด: 12-02-2021