คำพิพากษาฎีกาที่ 8581/2551 | |
นางสารจันทร์ วิภาตพงษ์ | โจทก์ |
กรมสรรพากร | จำเลย |
เรื่อง ภาษีธุรกิจเฉพาะ การแบ่งกรรมสิทธิ์รวม | |
กฎหมายที่เกี่ยวข้อง ประมวลรัษฎากรมาตรา 91/1(4) มาตรา 91/2(6) | |
ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1364 | |
ตามมาตรา 1364 แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ การแบ่งทรัพย์สินซึ่งเป็นกรรมสิทธิ์รวมนั้น พึงกระทำโดยตกลงแบ่งทรัพย์สินกันเองระหว่างเจ้าของรวม หรือตกลงขายทรัพย์สินนั้นแล้วเอาเงินที่ขายได้แบ่งกัน ดังนั้น เจ้าของรวมจึงมีสิทธิที่จะตกลงแบ่งทรัพย์สินกันโดยวิธีใดวิธีหนึ่งใน 2 วิธี ดังกล่าว ตามข้อเท็จจริงคดีนี้ปรากฏว่า โจทก์และนาง ก.เป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์รวมในที่ดินผืนใหญ่ติดต่อกันซึ่งแบ่งแยกทางทะเบียนออกเป็นหนังสือรับรองการทำประโยชน์(น.ส.3ก.) 64 ฉบับ การที่โจทก์ต้องดำเนินการจดทะเบียนโอนที่ดินตาม น.ส.3ก. จำนวน 33 แปลง ให้แก่นาง ก. และนาง ก.ดำเนินการจดทะเบียนโอนที่ดินตาม น.ส.3ก. จำนวน 7 แปลง ให้แก่โจทก์ โดยที่ดินที่ต่างฝ่ายต่างจดทะเบียนโอนให้ซึ่งกันและกันนั้น เดิมเป็นกรรมสิทธิ์รวมของทั้งสองฝ่าย แต่ได้เปลี่ยนสภาพการถือกรรมสิทธิ์รวมมาเป็นกรรมสิทธิ์ของแต่ละฝ่ายตามส่วนของตนอันเข้าลักษณะเป็นการแบ่งทรัพย์สินโดยวิธีตกลงแบ่งทรัพย์สินกันเองระหว่างเจ้าของรวมตามวิธีแรกของมาตรา 1364 แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ แม้เนื้อที่ที่เจ้าของกรรมสิทธิ์รวมแต่ละคนได้รับแตกต่างกัน แต่ไม่ปรากฏข้อเท็จจริงว่าโจทก์ได้ประโยชน์ซึ่งอาจคิดคำนวณเป็นเงินเพิ่มขึ้น จากส่วนที่โจทก์ได้รับส่วนแบ่งมากกว่านาง ก. กรณีมิใช่การโอนที่เป็นการขายตามความหมายในมาตรา 91/1(4) แห่งประมวลรัษฎากร แม้การจดทะเบียนโอนดังกล่าวจะจำเป็นต้องทำเป็นสัญญาซื้อขายตามระบบจดทะเบียนก็ตาม ก็ไม่อาจถือเป็นการซื้อขาย เพราะตามเจตนาและข้อเท็จจริงไม่ใช่การตกลงซื้อขาย แต่เป็นเพียงการตกลงแบ่งกรรมสิทธิ์รวมระหว่างเจ้าของรวมเท่านั้น เมื่อการโอนที่ดินจำนวน 33 แปลง ของโจทก์ให้แก่นาง ก.ไม่ถือเป็นการขายตามความหมายในมาตรา 91/1(4) แห่งประมวลรัษฎากรแล้ว โจทก์จึงไม่ต้องเสียภาษีธุรกิจเฉพาะ เพราะกรณีของโจทก์เช่นนี้ไม่อยู่ในบังคับต้องเสียภาษีธุรกิจเฉพาะตามมาตรา 91/2(6) แห่งประมวลรัษฎากร การประเมินของเจ้าพนักงานประเมินตามหนังสือแจ้งการประเมินภาษีธุรกิจเฉพาะจึงไม่ชอบด้วยกฎหมาย |