เมนูปิด

คำพิพากษาฎีกาที่ 15072/2551  
นายเกียว แซ่เฮงโจทก์
กรมสรรพากรจำเลย
เรื่อง การออกหมายเรียก และการประเมิน
กฎหมายที่เกี่ยวข้อง ประมวลรัษฎากร มาตรา 19 มาตรา 23 มาตรา 24 มาตรา 88/3 มาตรา 88/4 มาตรา 88/5 และมาตรา 91/21 (5)
ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 193/31

ตามหนังสือสัญญาจะซื้อจะขายที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้างระบุว่า เป็นการจะซื้อจะขายที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้างโดยโจทก์ลงลายมือชื่อเป็นผู้จะขายไว้ เมื่อพิจารณาเอกสารดังกล่าวมีข้อความระบุว่าผู้จะขายเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ที่ดินตกลงจะขายที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้าง รวมราคาที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้างดังกล่าวเป็นเงินจำนวนหนึ่ง มีการวางมัดจำบางส่วนและตกลงผ่อนชำระส่วนที่เหลือส่วนเงินค่าที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้างที่เหลืออีกจำนวนหนึ่ง ผู้ซื้อจะชำระในวันจดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์ ประกอบกับสภาพอาคารที่ปลูกสร้างบนที่ดินของโจทก์รวม 5 หลัง เป็นตึกแถวสร้างติดกัน ใช้ผนังของอาคารหรือกำแพงร่วมกัน โดยโจทก์เป็นผู้แจ้งการปลูกบ้านใหม่และขอกำหนดหมายเลขประจำบ้านทั้ง 5 หลัง ได้เลขหมายประจำบ้านเรียงกัน จึงไม่น่าเชื่อว่าผู้ซื้อแต่ละรายต่างว่าจ้างให้นาย อ.ปลูกสร้างอาคารคนละคราวกัน จึงฟังได้ว่า โจทก์มีเงินได้พึงประเมินจากการขายอาคารสิ่งปลูกสร้างพร้อมกับที่ดินด้วย มีพื้นที่อาคารรวมประมาณ 150 ตารางเมตร ต้นทุนค่าก่อสร้างตารางเมตรละ 3,500 บาท ราคาต่อ 1 คูหา เป็นเงิน 525,000 บาท ดังนั้น การที่ศาลภาษีอากรกลางพิจารณาพื้นที่รวมของอาคารตามใบรับแจ้งค่าก่อสร้างมีพื้นที่หลังละ 182 ตารางเมตร หากคิดราคาตารางเมตรละ 3,000 บาท ตามที่โจทก์อ้างก็เป็นราคาถึง 546,000 บาท ที่เจ้าพนักงานคำนวณเพียง 150 ตาราเมตร ในอัตราดังกล่าว จึงเป็นประโยชน์ต่อโจทก์และชอบแล้ว

กรณีคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์มีคำวินิจฉัยให้โจทก์ชำระภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาเพิ่มขึ้นจากการประเมินชอบด้วยกฎหมายหรือไม่นั้น โดยที่ภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาปี 2539 ครึ่งปีกับภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาปี 2539 เต็มปี เป็นปีภาษีเดียวกัน เมื่อคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์มีมติให้ปลดภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาครึ่งปีจำนวน 27,634.43 บาท มีผลทำให้เงินจำนวน 27,634.43 บาท เป็นจำนวนภาษีที่โจทก์ยังไม่ได้ชำระให้ถูกต้องครบถ้วนและเป็นจำนวนเงินของภาษีปี 2539 เต็มปี ซึ่งโจทก์มิได้ยื่นแบบแสดงรายการไว้ จำเลยจึงมีอำนาจออกหมายเรียกและทำการประเมินตามมาตรา 23 และมาตรา 24แห่งประมวลรัษฎากร ซึ่งไม่มีกำหนดเวลาในการออกหมายเรียก และเมื่อสิทธิเรียกร้องของรัฐที่จะเรียกเอาภาษีอากรมีกำหนดอายุความ 10 ปี ตามมาตรา 193/31 แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์การประเมินภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาเต็มปีสำหรับปีภาษี 2539 ย่อมรวมถึงจำนวนเงินได้พึงประเมินเต็มปีภาษีที่โจทก์ยังมิได้นำมารวมคำนวณและชำระภาษีสำหรับปีภาษี 2539 การที่คณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์คิดภาษีให้ถูกต้องตามกฎหมายโดยมิได้เอาเงินได้อื่นมารวมคำนวณเพื่อเรียกเก็บภาษี และมิใช่เป็นการประเมินเรียกเก็บภาษีเพิ่มเติมในประเด็นข้ออื่นจึงชอบแล้ว
ตามมาตรา 91/21 (5) แห่งประมวลรัษฎากร ให้นำบทบัญญัติเกี่ยวกับภาษีมูลค่าเพิ่มในส่วนอำนาจเจ้าพนักงานประเมินเฉพาะมาตรา 88/3 มาตรา 88/4 และมาตรา 88/5 แห่งประมวลรัษฎากร มาใช้บังคับโดยอนุโลม โดยมิได้บัญญัติให้นำมาตรา 88/6 แห่งประมวลรัษฎากร ในเรื่องกำหนดเวลาการประเมินภาษีมูลค่าเพิ่มมาใช้บังคับด้วย และตามมาตรา 88/4 เจ้าพนักงานประเมินมีอำนาจออกหมายเรียกตรวจสอบไต่สวนได้โดยไม่มีกำหนดเวลาบังคับ อำนาจของเจ้าพนักงานประเมินจึงไม่อยู่ภายในบังคับของมาตรา 19 แห่งประมวลรัษฎากร ซึ่งเป็นบททั่วไป ทั้งเมื่อมาตรา 193/31 แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ บัญญัติว่า สิทธิเรียกร้องของรัฐที่จะเรียกเอาค่าภาษีอากรมีกำหนดอายุความ 10 ปี ดังนั้น นับตั้งแต่วันที่ 15 กุมภาพันธ์ 2539 อันเป็นวันครบกำหนดที่โจทก์ต้องยื่นแบบแสดงรายการภาษีธุรกิจเฉพาะสำหรับเดือนมกราคม 2539 ซึ่งเป็นเดือนแรกที่มีปัญหาพิพาทในคดีนี้ จนถึงวันที่เจ้าพนักงานประเมินได้ประเมินเรียกเก็บภาษีธุรกิจเฉพาะจากโจทก์เมื่อวันที่ 8 พฤษภาคม 2545 ก็ยังอยู่ในภายในกำหนด 10 ปี เจ้าพนักงานประเมินจึงมีอำนาจประเมินภาษีธุรกิจเฉพาะได้

กรณีเหตุที่จะลดหรืองดเบี้ยปรับในกรณีภาษีธุรกิจเฉพาะนั้น การที่โจทก์ต้องชำระภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาและภาษีธุรกิจเฉพาะ ตลอดจนต้องชำระเบี้ยปรับและเงินเพิ่มตามการประเมินเป็นเพราะโจทก์ไม่ยื่นแบบแสดงรายการภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาสำหรับเงินได้พึงประเมินในปีภาษี 2539 เต็มปี และรายรับจากการขายอาคารบนที่ดินของโจทก์นั้น โจทก์ให้บุตรชายและบุตรสาวของโจทก์เป็นผู้ขอใบอนุญาตก่อสร้างอาคาร ต่อมาได้มีการโอนใบรับแจ้งก่อสร้างอาคารให้แก่ผู้ซื้อแต่ละรายก่อนที่จะมีการทำสัญญาซื้อขายที่ดินกัน เป็นการวางแผนหลีกเลี่ยงภาษีอากรจากเงินได้พึงประเมินและรายรับจากการขายอาคารหลายหลังที่สร้างบนที่ดินดังกล่าว และในชั้นตรวจสอบภาษีอากรโจทก์ไม่ได้ให้ความร่วมมือในการตรวจสอบภาษีเท่าที่ควร กรณีจึงไม่มีเหตุที่จะลดหรืองดเบี้ยปรับให้แก่โจทก์แต่อย่างใด

 

ปรับปรุงล่าสุด: 13-02-2021