เมนูปิด

คำพิพากษาฎีกาที่ 7952/2551 
นายพรชัย กิจดำรงชัย ที่ 1 โจทก์
นายธนภณ กิจดำรงชัย ที่ 2  
กรมสรรพากร จำเลย

เรื่อง ภาษีธุรกิจเฉพาะ กรณีการขายอสังหาริมทรัพย์เป็นทางค้าหรือหากำไร

กฎหมายที่เกี่ยวข้อง ประมวลรัษฎากร มาตรา 91/2 (6) มาตรา 91/5 (6) มาตรา 91/10 วรรคสาม และมาตรา 91/16 (6)

พระราชกฤษฎีกาออกตามความในประมวลรัษฎากร ว่าด้วยการขายอสังหาริมทรัพย์ที่เป็นทางค้าหรือหากำไร (ฉบับที่ 244) พ.ศ.2534 มาตรา 3(6)

โจทก์ทั้งสองร่วมกันซื้อที่ดินเมื่อวันที่ 20 กันยายน 2534 และขายที่ดินตามฟ้องไปเมื่อวันที่4 กันยายน 2535 ตามมาตรา 91/10 วรรคสาม แห่งประมวลรัษฎากร (ที่ใช้ในขณะนั้น) กำหนดหน้าที่ให้โจทก์ทั้งสองต้องยื่นแบบแสดงรายการและชำระภาษีธุรกิจเฉพาะภายในวันที่ 15 ตุลาคม 2535 แม้โจทก์ทั้งสองจะมีสิทธิชำระภาษีธุรกิจเฉพาะจากการขายที่ดินดังกล่าวได้ตั้งแต่วันที่ 4 กันยายน 2535 ถึงวันที่ 15 ตุลาคม 2535 แต่ก่อนครบกำหนดดังกล่าวไม่อาจถือได้ว่าโจทก์ทั้งสองมีหนี้ภาษีอากรค้างและจำเลยยังไม่อาจบังคับสิทธิเรียกร้องต่อโจทก์ทั้งสองได้ ในเรื่องอายุความนั้นให้เริ่มนับตั้งแต่ขณะที่จำเลยอาจบังคับสิทธิเรียกร้องได้เป็นต้นไปตามมาตรา 193/12 แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ จึงต้องเริ่มนับอายุความสำหรับคดีนี้ถัดจากวันที่ 15 ตุลาคม 2535 เป็นต้นไป เมื่อนับถึงวันที่ 28 กันยายน 2545 ซึ่งเป็นวันที่เจ้าพนักงานประเมินมีหนังสือแจ้งการประเมินภาษีธุรกิจเฉพาะไปยังโจทก์ทั้งสองอันมีผลเป็นอย่างเดียวกับการฟ้องคดียังไม่เกิน10 ปี เจ้าพนักงานประเมินจึงแจ้งการประเมินภาษีธุรกิจเฉพาะฉบับพิพาทแก่โจทก์ทั้งสองภายในอายุความตามกฎหมายแล้ว
การที่โจทก์ทั้งสองมีอาชีพทำโรงสีและค้าขายได้ร่วมกันซื้อที่ดินดังกล่าวโดยไม่เคยใช้ทำการเกษตร ที่โจทก์ทั้งสองอ้างว่าหลังจากซื้อที่ดินมาแล้วประสบปัญหาการเงินรุนแรง ต้องเป็นหนี้การค้าเจ้าหนี้และสถาบันการเงิน จึงจำเป็นต้องขายที่ดินแปลงพิพาทไปนั้น ก็มีเพียงโจทก์ทั้งสองอ้างตนเองเบิกความลอย ๆ ไม่มีพยานหลักฐานอื่นสนับสนุนคำเบิกความ จึงไม่มีน้ำหนักในการรับฟัง ข้อเท็จจริงฟังไม่ได้ว่าเป็นการขายที่ดินที่โจทก์ทั้งสองใช้ในเกษตรกรรม เมื่อการขายที่ดินแปลงพิพาทของโจทก์ทั้งสองเป็นการขายที่กระทำภายใน 5 ปี นับแต่วันที่ได้ที่ดินนั้นมา จึงถือว่าเป็นการขายที่เป็นการค้าหรือหากำไรอยู่ในบังคับต้องเสียภาษีธุรกิจเฉพาะ ตามมาตรา 91/2 (6) แห่งประมวลรัษฎากร ประกอบพระราชกฤษฎีกาออกตามความในประมวลรัษฎากร ว่าด้วยการขายอสังหาริมทรัพย์ที่เป็นทางค้าหรือหากำไร (ฉบับที่ 244) พ.ศ.2534 มาตรา 3(6)
มาตรา 91/5 (6) แห่งประมวลรัษฎากร กำหนดให้ฐานภาษีสำหรับกิจการขายอสังหาริมทรัพย์เป็นทางค้าหรือหากำไร คือรายรับก่อนหักรายจ่าย ใด ๆ ทั้งสิ้น นอกจากนี้เจ้าพนักงานประเมินมีอำนาจตามมาตรา 91/16 (6) แห่งประมวลรัษฏากร ที่จะกำหนดราคาทรัพย์สินตามราคาตลาดในวันที่มีการโอนทรัพย์สินในกรณีที่การโอนทรัพย์สินมีค่าตอบแทนต่ำกว่าราคาตลาดโดยไม่มีเหตุอันสมควร คดีนี้แม้โจทก์ทั้งสองทำสัญญาซื้อขายที่ดินระบุว่าได้รับเงินเพียง 7,000,000 บาท แต่เมื่อราคาประเมินทุนทรัพย์เพื่อเรียกเก็บค่าธรรมเนียม ในการจดทะเบียนสิทธิและนิติกรรมตามประมวลกฎหมายที่ดินซึ่งเป็นราคาที่ใช้อยู่ในวันที่มีการโอนนั้นเป็นจำนวนเงิน 12,629,200 บาท และโจทก์ทั้งสองลงชื่อในบันทึกถ้อยคำการชำระภาษีอากร ยอมให้เจ้าพนักงานที่ดินหักภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาและอากรแสตมป์ โดยรับรองรายการว่าทุนทรัพย์ที่ถือเป็นเงินได้สำหรับคำนวณภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาและอากรแสตมป์เป็นเงิน 12,629,200 บาท ประกอบกับโจทก์ทั้งสองไม่ได้นำสืบว่าที่ดินแปลงอื่นในบริเวณใกล้เคียงมีราคาต่ำกว่าราคาประเมินดังกล่าว จึงฟังได้ว่าราคาขายที่ดินแปลงพิพาทตามสัญญา 7,000,000 บาท นั้น ต่ำกว่าราคาตลาดโดยไม่มีเหตุอันสมควรที่เจ้าพนักงานประเมินใช้ราคาประเมินทุนทรัพย์เพื่อเรียกเก็บค่าธรรมเนียมจดทะเบียนสิทธิและนิติกรรมตามประมวลกฎหมายที่ดินเป็นเงิน 12,629,200 บาท เป็นฐานภาษีประเมินให้โจทก์ทั้งสองเสียภาษีธุรกิจเฉพาะ จึงชอบแล้ว
การที่คณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์ได้งดเบี้ยปรับจำนวน 757,752 บาท และลดภาษีส่วนท้องถิ่น จำนวน 75,775.20 บาท รวมเป็นเงิน 833,527.20 บาท ให้โจทก์ทั้งสอง ตามพฤติการณ์ถือว่าเป็นคุณแก่โจทก์ทั้งสอง มากแล้ว จึงไม่มีเหตุสมควรลดเงินเพิ่มตามที่โจทก์ทั้งสองอุทธรณ์

 

 

ปรับปรุงล่าสุด: 13-02-2021