เมนูปิด

คำพิพากษาฎีกาที่702/2552 
บริษัท ดีเวิลด์ จำกัดโจทก์
กรมสรรพากรจำเลย
เรื่อง อำนาจการประเมินราคาขายอสังหาริมทรัพย์ การประกอบกิจการโดยปกติเยี่ยงธนาคารพาณิชย์
กฎหมายที่เกี่ยวข้องประมวลรัษฎากร มาตรา 49 ทวิ มาตรา 65 ทวิ (4) มาตรา 65 ตรี (9) (18) (20) มาตรา 91/2
พระราชบัญญัติวิธีปฏิบัติราชการทางปกครอง พ.ศ.2539 มาตรา 37

หนังสือแจ้งภาษีเงินได้นิติบุคคล มีข้อความว่า เนื่องจากการตรวจสอบบัญชีของโจทก์ ปรากฏว่าโจทก์ยื่นแบบแสดงรายการภาษีเงินได้นิติบุคคล (ภ.ง.ด.50) มีผลกำไรสุทธิ 6,536,380.47 บาท ยื่นรายได้จากการขายอสังหาริมทรัพย์ไว้ขาดไปจำนวน 8,182,375.- บาท ไม่ยื่นรายได้จากดอกเบี้ยจำนวน 4,275,011.29 บาท โดยมีรายจ่ายต้องห้ามตามมาตรา 65 ตรี (9) (20) แห่งประมวลรัษฎากร จำนวน 2,335,902.50 บาท เมื่อปรับปรุงรายได้และรายจ่ายใหม่แล้ว ปรากฏว่าโจทก์มีกำไรสุทธิจำนวน 21,329,669.26 บาท คำนวณเป็นภาษี 6,398,900.78 บาท เครดิตภาษีที่ชำระแล้วจำนวน 2,033,276.- บาท คงเหลือภาษีที่ต้องชำระ 4,365,624.78 บาท พร้อมทั้งเบี้ยปรับตามมาตรา 22 จำนวน 4,365,624.78 บาท และเงินเพิ่มตามมาตรา 27 แห่งประมวลรัษฎากร ซึ่งคำนวณถึงวันที่ 28 กุมภาพันธ์ 2542 จำนวน 2,160,984.27 บาท รวมเป็นเงินทั้งสิ้น 10,892,233.- บาท ให้โจทก์นำเงินดังกล่าวไปชำระภายใน 30 วันนับแต่วันได้รับหนังสือ หนังสือแจ้งภาษีเงินได้นิติบุคคลดังกล่าวเป็นคำสั่งทางปกครองเป็นหนังสือซึ่งจัดให้มีเหตุผล และเหตุผลดังกล่าวมีข้อเท็จจริงอันเป็นสาระสำคัญ ข้อกฎหมายที่อ้างอิงข้อพิจารณาและข้อสนับสนุนในการใช้ดุลพินิจตามหลักเกณฑ์ของมาตรา 37 วรรคหนึ่ง แห่งพระราชบัญญัติวิธีปฏิบัติราชการทางปกครอง พงศ.2539 นอกจากนี้พยานจำเลยเบิกความถึงรายละเอียดในการตรวจสอบภาษีอากรว่า ได้แจ้งข้อเท็จจริงและเหตุแห่งการประเมินให้โจทก์ทราบทุกขั้นตอน ตั้งแต่การออกหมายเรียกตรวจสอบจนเสร็จ การตรวจสอบและออกหนังสือแจ้งการประเมินตามผลการตรวจสอบนั้น ต่อมาได้สรุปผลการตรวจสอบและแจ้งให้ทราบว่า โจทก์เสียภาษีไม่ถูกต้องอย่างไร ต้องเสียภาษี เบี้ยปรับและเงินเพิ่มเพราะเหตุใด กฎหมายที่อ้างอิงและจำนวนเงินที่ต้องชำระ การตรวจสอบภาษีอากรของเจ้าพนักงานประเมินยังเข้าหลักเกณฑ์ข้อยกเว้นที่จะไม่ต้องแสดงเหตุผลตามมาตรา 37 วรรคสาม (2) แห่งพระราชบัญญัติวิธีปฏิบัติราชการทางปกครอง ที่ว่า เหตุผลนั้นเป็นที่รู้กันอยู่แล้ว โดยไม่จำต้องระบุอีก ดังนั้น หนังสือแจ้งภาษีเงินได้นิติบุคคลฉบับพิพาทชอบด้วยบทบัญญัติมาตรา 37 แห่งพระราชบัญญัติวิธีปฏิบัติราชการทางปกครอง พ.ศ.2539 สำหรับคำวินิจฉัยอุทธรณ์ของคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์ก็ชอบเช่นเดียวกัน
ที่ดินที่โจทก์ขายไปเป็นที่ดินแยกจากโฉนดแปลงเดียวกัน โจทก์ได้จักการสาธารณูปโภคน้ำไฟแบ่งเป็นแปลงเล็กสี่เหลี่ยม ทุกแปลงติดถนนตามผังโครงการ ที่ดินที่แบ่งแยกออมาต่างมีสภาพที่ตั้งทำเลใกล้เคียงกันและเป็นการขายในระยะเวลาใกล้เคียงกัน เมื่อบางแปลงขายได้ราคาต่ำกว่าราคาประเมินทุนทรัพย์เพื่อเรียกเก็บค่าธรรมเนียมจดทะเบียนสิทธิลิติกรรมตามประมวลกฎหมายที่ดิน เจ้าพนักงานประเมินย่อมมีอำนาจประเมินราคาตามราคาประเมินทุนทรัพย์เพื่อเรียกเก็บค่าธรรมเนียมจดทะเบียนสิทธิและนิติกรรมตามประมวลกฎหมายที่ดิน โดยถือราคาตลาดในวันที่โอนตามมาตรา 65 ทวิ (4) แห่งประมวลรัษฎากร มิใช่การใช้อำนาจตามมาตรา 49 ทวิ แห่งประมวลรัษฎากร
กรณีโจทก์ลงบัญชีรับเงินสดจากการขายที่ดิน ไม่ปรากฏว่าโจทก์นำเงินดังกล่าวไปชำระหนี้ที่โจทก์กู้ยืมมาซึ่งต้องเสียดอกเบี้ยหรือนำไปฝากธนาคารเพื่อให้เกิดดอกเบี้ย เจ้าพนักงานประเมินถือว่าเป็นการให้กรรมการนำเงินดังกล่าวไปใช้ เข้าลักษณะเป็นการให้กู้ยืมเงินโดยไม่มีเหตุอันสมควรที่โจทก์จะไม่คิดดอกเบี้ย เจ้าพนักงานย่อมมีอำนาจประเมินดอกเบี้ยรับจากเงินดังกล่าวได้ตามมาตรา 65 ทวิ (4) แห่งประมวลรัษฎากร มิใช่เป็นกรณีที่เจ้าพนักงานประเมินกำหนดรายรับขึ้นเองโดยผิดข้อเท็จจริงและผิดหลักการบัญชี
กรณีค่าธรรมเนียมที่ดิน เป็นกรณีซึ่งเจ้าพนักงานประเมินตรวจสอบหลักฐานใบเสร็จรับเงินจากสำนักงานที่ดินซึ่งระบุว่าได้รับเงินจากโจทก์และผู้ซื้อ จึงฟังว่าโจทก์ผู้ขายที่ดินกับผู้ซื้อที่ดินชำระค่าธรรมเนียมคนละครึ่ง แต่โจทก์นำส่วนของผู้ซื้อมาถือเป็นรายจ่ายในการคำนวณกำไรสุทธิ กรณีค่าพาหนะและค่าเบี้ยเลี้ยง โจทก์ไม่สามารถนำหลักฐานมาพิสูจน์ว่าผู้ใดเป็นผู้รับ และค่าอากรแสตมป์เนื่องจากโจทก์เสียภาษีธุรกิจเฉพาะไว้แล้ว จึงได้รับยกเว้นการเสียอากรแสตมป์ ต่อมาเมื่อได้รับแจ้งคืนอากรแสตมป์ตามคำร้องแล้ว โจทก์ยังบันทึกเป็นรายจ่าย การประเมินของเจ้าพนักงานที่ประเมินด้านรายจ่ายทั้ง 3 กรณี จึงชอบแล้ว
กรณีการประเมินภาษีธุรกิจเฉพาะสำหรับดอกเบี้ยรับ ตามมาตรา 91/2 แห่งประมวลรัษฎากร บัญญัติว่า การประกอบกิจการดังต่อไปนี้ ในราชอาณาจักร ให้อยู่ในบังคับต้องเสียภาษีธุรกิจเฉพาะตามบทบัญญัติในหมวดนี้...(5) การประกอบกิจการโดยปกติเยี่ยงธนาคารพาณิชย์ที่จะเข้าข่ายต้องเสียภาษีธุรกิจเฉพาะจะต้องมีลักษณะทำนองเดียวกับธนาคารและต้องประกอบกิจการดังกล่าวโดยปกติด้วย คำว่า “โดยปกติ” ย่อมมีความหมายอยู่ในตัวว่าได้ประกอบกิจการดังกล่าวเช่นที่เคยปฏิบัติมา ตามข้อเท็จจริงที่ปรากฏในสำนวนการตรวจสอบภาษีอากรสำหรรับรอบระยะเวลาบัญชีที่พิพาท ไม่ปรากฏว่าโจทก์ให้กู้ยืมเงินโดยเรียกเอาดอกเบี้ยเป็นการหาประโยชน์จากการกู้ยืมเงินแต่อย่างใด และไม่ปรากกว่าโจทก์ประกอบกิจการดังกล่าวโดยปกติในรอบระยะเวลาบัญชีก่อน ๆ กรณีโจทก์รับเงินจากการขายที่ดินเป็นจำนวนมากแต่ไม่นำไปแสวงหาประโยชน์หรือไม่นำไปใช้หนี้เงินกู้ ยังถือไม่ได้ว่าโจทก์ประกอบกิจการโดยปกติเยี่ยงธนาคารพาณิชย์ เจ้าพนักงานประเมินของจำเลยจะกำหนดดอกเบี้ยจากเงินดังกล่าวถือเป็นรายรับต้องนำมาคำนวณภาษีธุรกิจเฉพาะหาได้ไม่

 

ปรับปรุงล่าสุด: 13-02-2021