เมนูปิด

คำพิพากษาฎีกาที่749/2553 
บริษัท น้ำตาลทราย จำกัดโจทก์
กรมสรรพากรจำเลย
เรื่อง อำนาจประเมิน
กฎหมายที่เกี่ยวข้องประมวลรัษฎากร มาตรา 65 ทวิ (4) มาตรา 77 มาตรา 79 ทวิ (เดิม) มาตรา 87 ทวิ (6) (เดิม) มาตรา 91/2 (5) มาตรา 91/16 (6) บัญชีอัตราภาษีการค้า
ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1122

โจทก์ประกอบกิจการโรงงานน้ำตาลทราย การที่โจทก์จ่ายเงินให้เกษตรกรชาวไร่อ้อยเพื่อให้ไปทำการเพาะปลูกอ้อยและนำอ้อยที่ปลูกได้มาขายให้แก่โจทก์ใช้เป็นวัตถุดิบในการผลิตน้ำตาลทราย โจทก์มิได้มุ่งหวังจะได้กำไรในค่าดอกเบี้ยจากชาวไร่อ้อย ลักษณะการทำธุรกรรมดังกล่าวหาได้มีวัตถุประสงค์เป็นการดำเนินกิจการให้กู้ยืมเงิน จึงมิใช่เป็นเรื่องที่โจทก์ประกอบกิจการประเภทการค้า 12 ธนาคาร ชนิด 1 แห่งบัญชีอัตราภาษีการค้า และไม่เข้าลักษณะเป็นการประกอบกิจการโดยปกติเยี่ยงธนาคารพาณิชย์ อันอยู่ในบังคับต้องเสียภาษีธุรกิจเฉพาะตามมาตรา 91/2 (5) แห่งประมวลรัษฎากร การที่เจ้าพนักงานประเมินกำหนดดอกเบี้ยตามการประเมินให้โจทก์ต้องเสียภาษีการค้าและเสียภาษีธุรกิจเฉพาะจึงไม่ชอบ
ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1122 บัญญัติว่า ถ้าและเงินอันจะพึงส่งใช้เป็นค่าหุ้นตามเรียกนั้น ผู้ถือหุ้นคนใดมิได้ส่งใช้ตามวันกำหนด ผู้นั้นจำต้องเสียดอกเบี้ยนับแต่วันที่กำหนดให้ส่งใช้จนถึงวันที่ส่งเสร็จ ดังนั้น โจทก์จึงมีสิทธิคิดดอกเบี้ยจากผู้ถือหุ้นที่ค้างชำระได้ แต่ดอกเบี้ยดังกล่าวเป็นค่าตอบแทนที่โจทก์เรียกเก็บเนื่องจากการใช้เงินค่าหุ้นการจัดตั้งบริษัทซึ่งกระทำเพียงคราวเดียว หาใช่เป็นดอกเบี้ยของกิจการโจทก์ที่จะเข้าข่ายเป็นการประกอบกิจการโดยปกติเยี่ยงธนาคารพาณิชย์ ตามประเภทการค้า 12 ธนาคาร ชนิด 1 แห่งบัญชีอัตราภาษีการค้า และการประกอบกิจการโดยปกติเยี่ยงธนาคารพาณิชย์ ตามมาตรา 91/2 (5) แห่งประมวลรัษฎากร เจ้าพนักงานประเมินมีอำนาจกำหนดดอกเบี้ยให้โจทก์
ต้องคำนวณกำไรขาดทุนสุทธิตามมาตรา 65 ทวิ (4) แห่งประมวลรัษฎากรเท่านั้น แต่ไม่มีอำนาจกำหนดดอกเบี้ยให้โจทก์ต้องเสียภาษีการค้าและภาษีธุรกิจเฉพาะตามการประเมิน เพราะไม่ใช่กรณีโจทก์ประกอบกิจการ
โดยปกติเยี่ยงธนาคารพาณิชย์
การประกอบกิจการเยี่ยงธนาคารพาณิชย์ต้องมีลักษณะทำนองเดียวกันกับธนาคารพาณิชย์และจะต้องเป็นการประกอบกิจการโดยปกติด้วย ลักษณะธุรกรรมระหว่างโจทก์กับบริษัทอุตสาหกรรมน้ำตาล ที.เอ็น. จำกัด มิใช่เป็นเรื่องของการกู้ยืมเงิน แต่เป็นสัญญาซื้อขายใบอนุญาตประกอบกิจการโรงงานผลิตน้ำตาลทราย ดอกเบี้ยจากสัญญาซื้อขายมิใช่ดอกเบี้ยจากการประกอบกิจการโดยปกติเยี่ยงธนาคารพาณิชย์ ดอกเบี้ยดังกล่าวไม่ต้องเสียภาษีการค้าและภาษีธุรกิจเฉพาะตามการประเมิน
แม้โจทก์ไม่มีวัตถุประสงค์หลักในการให้กู้ยืมเงิน แต่การที่โจทก์ได้ให้บริษัทในกลุ่มเดียวกันกู้ยืมเงินหลายราย ถือได้ว่าการให้กู้ยืมดังกล่าวเป็นการประกอบกิจการโดยปกติทางการค้าของโจทก์ อันเป็นการประกอบกิจการโดยปกติเยี่ยงธนาคารพาณิชย์ โจทก์จึงต้องเสียภาษีการค้าตามประเภทการค้า 12 ธนาคาร ชนิด 1 แห่งบัญชีอัตราภาษีการค้าซึ่งใช้บังคับในขณะนั้นและต้องเสียภาษีธุรกิจเฉพาะตามมาตรา 91/2 (6) แห่งประมวลรัษฎากร และการที่โจทก์ให้บริษัทที่เกี่ยวข้องกู้เงินโดยคิดดอกเบี้ยต่ำ ย่อมมิใช่ปกติวิสัยของผู้ทำการค้าทั่วไป ทั้งโจทก์ยังมีผลขาดทุนติดต่อกันมาหลายปีด้วยจึงเป็นกรณีไม่มีเหตุอันสมควร โจทก์จะอ้างเกณฑ์เงินสดซึ่งใช้สำหรับดอกเบี้ยที่โจทก์ตกลงกับบริษัทผู้กู้มาใช้อ้างในกรณีเจ้าพนักงานประเมินใช้อำนาจประเมินในส่วนดอกเบี้ยที่ต่ำกว่าราคาตลาดโดยไม่มีเหตุผลอันสมควรตามประมวลรัษฎากร มาตรา 87 ทวิ (6) (เดิม) และมาตรา 91/16 (6) ไม่ได้ การประเมินภาษีการค้าและภาษีธุรกิจเฉพาะกรณีนี้ของเจ้าพนักงานประเมินชอบแล้ว
ตามประมวลรัษฎากร หมวด 4 ภาษีการค้า ส่วนที่ 1 ข้อความทั่วไป มาตรา 77 (เดิม) บัญญัติว่า ขาย หมายความรวมถึงสัญญาจะขาย ขายฝาก แลกเปลี่ยน ให้เช่าซื้อ จำหน่าย จ่ายโอน โดยมีผลประโยชน์ตอบแทนด้วย และส่วนสอง รายรับ มาตรา 79 ทวิ (เดิม) บัญญัติว่า กรณีต่อไปนี้ให้ถือว่าเป็นการขายสินค้า และให้ถือมูลค่าของสินค้าดังกล่าวเป็นรายรับ ฯลฯ (3) ผู้ประกอบการค้าตามประเภทการค้า 1 และประเภทการค้า 2 แห่งบัญชีภาษีการค้า นำสินค้าที่ตนใช้ประกอบการค้านั้นไปใช้หรือโอนกรรมสิทธิ์หรือโอนการครอบครองซึ่งสินค้าดังกล่าวโดยมิใช่เพื่อขาย การที่โจทก์ส่งมอบสินค้าน้ำตาลทรายดิบให้แก่ผู้อื่นนำไปส่งออกและโจทก์ยังตัดสินค้าดังกล่าวออกจากบัญชีสินค้าคงเหลือ ณ วันที่ 31 ตุลาคม 2534 เห็นได้ว่า โจทก์มีเจตนาโอนกรรมสิทธิ์ในน้ำตาลทรายดิบนั้นเป็นปริมาณมีกำหนดให้ไปโดยเด็ดขาดแล้วเพราะเป็นการมอบให้ไปส่งออก ย่อมเข้าลักษณะเป็นการขายตามความในมาตรา 79 ทวิ (เดิม) แล้ว ย่อมฟังได้ว่าราคาสินค้าน้ำตาลทรายดิบที่โจทก์ได้โอนกรรมสิทธิ์หรือโอนการครอบครองสินค้าดังกล่าวไปแล้ว ถือว่าเป็นรายรับจากการขายสินค้าที่จะต้องเสียภาษีการค้าตามการประเมิน

 

ปรับปรุงล่าสุด: 13-02-2021