เลขที่หนังสือ | : 0702/663 | วันที่ | : 18 กุมภาพันธ์ 2557 | เรื่อง | : ภาระภาษีอากร กรณีการโอนกิจการทั้งหมด | ข้อกฎหมาย | : มาตรา 74 แห่งประมวลรัษฎากร | ข้อหารือ |
1. กลุ่มบริษัทฯ ได้รับสินเชื่อจากธนาคารฯ เพื่อปรับปรุงโครงสร้างหนี้ (รีไฟแนนซ์) โดยเงื่อนไขหนึ่งของการรีไฟแนนซ์ กำหนดให้บริษัทในกลุ่มโอนกิจการทั้งหมดรวมถึงที่ดินและอาคารที่มีมูลค่าสูงของบริษัท เอ็ม (บริษัทผู้รับโอน) ซึ่งเป็นบริษัทที่จดทะเบียนตั้งขึ้นใหม่ให้เป็นเจ้าของโรงแรมและเป็นผู้กู้เงินจากธนาคารฯ บริษัทฯ อื่น ๆ ในเครือได้ดำเนินการจดทะเบียนเลิกกิจการต่อกรมพัฒนาธุรกิจการค้า กระทรวงพาณิชย์เรียบร้อยแล้วในปี 2554 เช่นกัน
2. บริษัท เอ็ม และบริษัท ดี บริษัทในเครือซึ่งมีรอบระยะเวลาบัญชีปกติ 1 มกราคม ถึง 31 ธันวาคม ได้ยื่นแบบคำขอโอนกิจการทั้งหมด (แบบ คอ. 1 - 4) ต่อสำนักงานสรรพากรพื้นที่กรุงเทพมหานคร 14 และสำนักงานสรรพากรพื้นที่กรุงเทพมหานคร 14 ได้ออกหนังสือแจ้งการควบเข้ากันหรือโอนกิจการทั้งหมดของบริษัทดังกล่าวไปยังกรมที่ดินเพื่อประกอบการยกเว้นภาษีอากรตามประมวลรัษฎากร 3. บริษัท เอ็ม และบริษัท ดี บริษัทในเครือได้โอนกิจการที่ดินและอาคารทั้งหมดให้แก่บริษัทผู้รับโอนแล้วในปี 2554 4. รายการคงเหลือในงบดุล ณ วันสิ้นรอบระยะเวลาบัญชีที่มีการโอนกิจการ ที่มิได้โอนไปยังบริษัทผู้รับโอน สรุปได้ดังนี้ 4.1 ลูกหนี้กรมสรรพากร เช่นสิทธิในการขอคืนภาษีเงินได้นิติบุคคล และภาษีมูลค่าเพิ่ม ซึ่งเกิดจากรายการค้าก่อนวันโอนกิจการ 4.2 เงินประกันมิเตอร์ไฟฟ้า ประปา 4.3 ลูกหนี้การค้าและเจ้าหนี้การค้า สำหรับรายการค่าเช่าอุปกรณ์ เครื่องมือระหว่างบริษัทในเครือ ซึ่งได้ชำระเสร็จสิ้นแล้วระหว่างชำระบัญชี 4.4 เจ้าหนี้ค่าวิชาชีพสอบบัญชี 4.5 มูลหนี้ตามกฎหมายสำหรับมูลค่าทรัพย์สินและหนี้สินตามสัญญาโอนกิจการทั้งหมดที่บริษัทผู้รับโอนกิจการต้องชำระให้แก่บริษัทผู้โอนกิจการ อันเนื่องมาจากการตีราคาตลาดในการโอนกิจการทั้งหมด กลุ่มบริษัทฯ จึงหารือดังนี้ 1 กรณีบริษัท เอ็ม บริษัท ดี จำกัด และบริษัทอื่นๆในเครือ ได้โอนกิจการตามข้อเท็จจริงดังกล่าวข้างต้นเข้าลักษณะเป็นการโอนกิจการที่ได้รับยกเว้นภาษีอากร ตามมาตรา 5 โสฬส มาตรา 5 สัตตรส และมาตรา 6 (31) แห่งพระราชกฤษฎีกาออกตามความในประมวลรัษฎากร ว่าด้วยการยกเว้นรัษฎากร (ฉบับที่ 10) พ.ศ. 2500 ประกอบกับกฎกระทรวง ฉบับที่ 126 (พ.ศ. 2509) ออกตามความในประมวลรัษฎากร ว่าด้วยการยกเว้นรัษฎากร ถูกต้องหรือไม่ 2. กรณีบริษัทผู้โอนมีทรัพย์สินและหนี้สินคงเหลือ ณ วันที่มีการโอนกิจการทั้งหมดที่บริษัทไม่ได้โอนให้กับผู้รับโอนกิจการ และเนื่องจากรายการทรัพย์สินหรือหนี้สินเหล่านั้นเป็นสิทธิเฉพาะของผู้โอนกิจการ และเป็นรายการทรัพย์สินหรือหนี้สินที่เกิดจากการดำเนินการที่เสร็จสิ้นก่อนวันโอนกิจการ ไม่เข้าลักษณะเป็นการขาย ตามบทนิยามของคำว่า "ขาย" ในมาตรา 77/1(8)(ฉ) แห่งประมวลรัษฎากร ถูกต้องหรือไม่ 3. กรณีภายหลังบริษัทผู้โอนจดทะเบียนเลิกกิจการ และได้จ่ายเงินคืนให้ผู้ถือหุ้นเป็นจำนวนเงินที่เกินกว่าเงินลงทุน ผู้ถือหุ้นดังกล่าวจะได้รับยกเว้นภาษีอากรตามมาตรา 5 สัตตรส แห่งพระราชกฤษฎีกาฯ (ฉบับที่ 10) พ.ศ. 2500 ประกอบกับข้อ 2 (50) ของกฎกระทรวง ฉบับที่ 126 (พ.ศ. 2509)ฯ ถูกต้องหรือไม่ | แนววินิจฉัย |
1. ภาษีเงินได้นิติบุคคล
กรณีบริษัทผู้โอนได้จดทะเบียนเลิกกิจการและมีการชำระบัญชีในรอบระยะเวลาบัญชีที่มีการโอนกิจการ แม้ยังไม่เสร็จการชำระบัญชีก็ตาม ทรัพย์สินที่บริษัทผู้โอนได้โอนให้กับบริษัทผู้รับโอนจะต้องตีราคาตามราคาตลาดในวันที่จดทะเบียนเลิก แต่ไม่ให้ถือราคาดังกล่าวเป็นรายได้หรือรายจ่ายในการคำนวณกำไรสุทธิหรือขาดทุนสุทธิของบริษัทผู้โอน ดังนั้น หากราคาตลาดนั้นสูงกว่าหรือต่ำกว่าราคาทุน ผลกำไรหรือขาดทุนที่เกิดขึ้นนั้น บริษัทผู้โอนไม่ต้องนำมาถือเป็นรายได้หรือรายจ่ายในการคำนวณกำไรสุทธิหรือขาดทุนสุทธิเพื่อเสียภาษีเงินได้นิติบุคคล ตามมาตรา 74(1) (ค) แห่งประมวลรัษฎากร 2. ภาษีมูลค่าเพิ่ม การโอนกิจการทั้งหมดให้แก่กันระหว่างบริษัทผู้โอนกับบริษัทผู้รับโอน หากบริษัทผู้รับโอนเป็นผู้ประกอบการจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่ม และบริษัทผู้โอนได้หยุดประกอบกิจการตั้งแต่วันโอนกิจการเป็นต้นไป แม้ว่าบริษัทผู้โอนจะไม่สามารถโอนบัญชีลูกหนี้และเจ้าหนี้คงเหลือบางรายการให้กับบริษัทผู้รับโอน แต่โดยที่บัญชีลูกหนี้และเจ้าหนี้คงเหลือนั้น เกิดจากการดำเนินกิจการที่เสร็จสิ้นก่อนวันโอนกิจการ การโอนกิจการดังกล่าวเข้าลักษณะเป็นการโอนกิจการทั้งหมดซึ่งไม่ถือเป็นการขายตามมาตรา 77/1(8)(ฉ) แห่งประมวลรัษฎากร บริษัทผู้โอนจึงไม่มีหน้าที่ต้องเสียภาษีมูลค่าเพิ่มจากการโอนกิจการดังกล่าวแต่อย่างใด 3. ภาษีธุรกิจเฉพาะและอากรแสตมป์ การโอนกิจการของกลุ่มบริษัทฯ ตามข้อเท็จจริงดังกล่าวข้างต้นเป็นไปตามหลักเกณฑ์ วิธีการและเงื่อนไขตามข้อ 2(1) และ (4) ของประกาศอธิบดีกรมสรรพากร เรื่อง กำหนดหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขการควบเข้ากันหรือการโอนกิจการทั้งหมดให้แก่กันของบริษัทมหาชน จำกัด หรือบริษัทจำกัด เพื่อยกเว้นรัษฎากร ลงวันที่ 27 กันยายน พ.ศ. 2542 ออกตามความในมาตรา 5 โสฬส มาตรา 5 สัตตรส มาตรา 6(31) แห่งพระราชกฤษฎีกาฯ (ฉบับที่ 10) พ.ศ. 2500 และข้อ 2(50) ของกฎกระทรวง ฉบับที่ 126 (พ.ศ. 2509)ฯ แล้ว และหากบริษัทผู้โอนหรือบริษัทผู้รับโอน ได้ปฏิบัติตามหลักเกณฑ์ วิธีการและเงื่อนไขอื่นตามประกาศอธิบดีกรมสรรพากร ฯ ลงวันที่ 27 กันยายน พ.ศ. 2542 แล้ว การโอนอสังหาริมทรัพย์อันเนื่องมาจากการโอนกิจการทั้งหมดให้แก่กัน ได้รับยกเว้นภาษีธุรกิจเฉพาะ และอากรแสตมป์ ตามมาตรา 5 โสฬส และมาตรา 6(31) แห่งพระราชกฤษฎีกาฯ (ฉบับที่ 10) พ.ศ. 2500 4. กรณีผู้ถือหุ้น ผลประโยชน์ที่ผู้ถือหุ้นได้รับจากการคืนทุนในส่วนที่ตีราคาเป็นเงินได้เกินกว่าเงินทุนเป็นเงินได้พึงประเมินตามมาตรา 40(4)(ฉ) แห่งประมวลรัษฎากร และการโอนกิจการของกลุ่มบริษัทฯ ตามข้อเท็จจริงดังกล่าวข้างต้นเป็นไปตามหลักเกณฑ์ วิธีการและเงื่อนไขตามข้อ 2(1) และ (4) ของประกาศอธิบดีกรมสรรพากร เรื่อง กำหนดหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขการควบเข้ากันหรือการโอนกิจการทั้งหมดให้แก่กันของบริษัทมหาชน จำกัด หรือบริษัทจำกัด เพื่อยกเว้นรัษฎากร ลงวันที่ 27 กันยายน พ.ศ. 2542 ออกตามความในมาตรา 5 โสฬส มาตรา 5 สัตตรส มาตรา 6(31) แห่งพระราชกฤษฎีกาฯ (ฉบับที่ 10) พ.ศ. 2500 และข้อ 2(50) ของกฎกระทรวง ฉบับที่ 126 ( พ.ศ. 2509) ฯ แล้ว และหากบริษัทผู้โอนหรือบริษัทผู้รับโอน ได้ปฏิบัติตามหลักเกณฑ์ วิธีการและเงื่อนไขอื่นตามประกาศอธิบดีกรมสรรพากรฯ ลงวันที่ 27 กันยายน พ.ศ. 2542 แล้ว ผู้ถือหุ้นที่เป็นบุคคลธรรมดาได้รับยกเว้นภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา ตามข้อ 2 (50) แห่งกฎกระทรวง ฉบับที่ 126 (พ.ศ. 2509)ฯ และผู้ถือหุ้นที่เป็นบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลได้รับยกเว้ภาษีเงินได้นิติบุคคล ตามมาตรา 5 สัตตรส แห่งพระราชกฤษฎีกาฯ (ฉบับที่ 10) พ.ศ. 2500 อนึ่ง การยกเว้นภาษีเงินได้ดังกล่าว ใช้เฉพาะกับผลประโยชน์จากการคืนทุนในส่วนที่ตีราคาเป็นเงินได้เกินกว่าเงินทุนซึ่งเกี่ยวข้องกับการโอนกิจการทั้งหมดเท่านั้น | เลขตู้ | : 77/38869 |