เมนูปิด

คำพิพากษาฎีกาที่14164/2553 
กรมสรรพากรโจทก์
นายพันธ์ศักดิ์ บุญพงษา ที่ 1จำเลย
บริษัท โพรเจ็คท์ ทัชดาวน์ 1996 จำกัด ที่ 2
เรื่อง เพิกถอนการฉ้อฉล
กฎหมายที่เกี่ยวข้องประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 237
ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 249

ห้างหุ้นส่วนจำกัด พันธ์พงษาก่อสร้าง มีนายพันธ์ศักดิ์ บุญพงษา จำเลยที่ ๑ เป็นหุ้นส่วนผู้จัดการ และค้างชำระหนี้ค่าภาษีเงินได้นิติบุคคลปีภาษี ๒๕๓๘ – ปี 2540 และค่าภาษีอื่น ๆ รวมเป็นเงิน ๓๕,๒๙๖,๖๒๗.- บาท เจ้าหน้าที่ของโจทก์ได้มีหนังสือลงวันที่ 23 ธันวาคม 2542 แจ้งให้ห้างฯ ชำระหนี้ค่าภาษีอากรจำนวน 35,296,627.- บาท และมีหนังสือลงวันที่ 28 กุมภาพันธ์ 2543 เตือนให้ห้างฯ ชำระหนี้ค่าภาษีอากร แต่ห้างฯ ไม่ชำระ เมื่อตรวจสอบทรัพย์สินของห้างและจำเลยที่ 1 พบว่า จำเลยที่ 1 เป็นเจ้าของที่ดินพิพาทเนื้อที่ 3 ไร่เศษ อยู่ในเขตจังหวัดนนทบุรี จึงได้แจ้งเจ้าหน้าที่ของโจทก์ในท้องที่รับผิดชอบดำเนินการยึดไว้ แต่ในระหว่างนั้นปรากฏว่า จำเลยที่ 1 ได้จดทะเบียนโอนขายที่ดินให้จำเลยที่ 2 ไปในวันที่ 24 เมษายน 2543 โดยสัญญาระบุว่า บริษัทจำเลยที่ 2 ซื้อไว้ใช้สร้างโกดัง จำเลยที่ 2 มอบอำนาจให้นางสาว น. ให้ถ้อยคำว่า จำเลยที่ 2 ไม่ได้ซื้อที่ดินพิพาทจากจำเลยที่ 1 แต่จำเลยที่ 1 ใช้ที่ดินพิพาทประกันหนี้เงินกู้แก่จำเลยที่ 2 โดยจำเลยที่ 2 ไม่ได้ชำระเงินค่าที่ดิน ประกอบกับการที่จำเลยที่ 1 อ้างว่า มารดาเป็นหนี้เงินกู้ยืมนาย ย. บิดาของจำเลยที่ 2 เป็นพยานหลักฐานที่เลื่อนลอยปราศจากน้ำหนักให้น่าเชื่อ อีกทั้งการโอนที่ดินพิพาทตีใช้หนี้น่าจะกระทำไปตั้งแต่ปี 2540 ซึ่งมีการคิดบัญชีหนี้กันและได้โอนที่ดินตีใช้หนี้จำนวน 2 แปลง แต่กลับมาโอนที่ดินพิพาทตีใช้หนี้ เมื่อภายหลังโจทก์มีหนังสือเตือนให้ห้างฯ ชำระ ค่าภาษีอากรแล้วเพียง 2 เดือน การโอนที่ดินพิพาทซึ่งไม่ติดจำนองแก่จำเลยที่ 2 ย่อมแสดงให้เห็นได้ชัดว่า เป็นการหลีกเลี่ยงไม่ให้เจ้าหนี้บังคับชำระหนี้ของห้างฯ และจำเลยที่ 1 จากที่ดินพิพาท อันเป็นการทำให้เจ้าหนี้เสียเปรียบ และการที่จำเลยที่ 1 แจ้งแก่นาย ย. ว่า จำเลยที่ 1 ทำธุรกิจขาดทุนไม่มีเงินชำระหนี้จึงขอโอนที่ดินพิพาทตีใช้หนี้ แสดงให้เห็นว่า นาย ย. รู้ว่า จำเลยที่ 1 ประสบภาวะขาดทุนแต่นาย ย. ก็รับโอนที่ดินพิพาทเพื่อให้ได้เปรียบเจ้าหนี้รายอื่นย่อมเป็นการทำให้เจ้าหนี้อื่นเสียเปรียบ จากพยานหลักฐานและพฤติการณ์ดังกล่าว เห็นได้ว่า นิติกรรมการซื้อขายที่ดินพิพาท ระหว่าง จำเลยที่ 1 กับจำเลยที่ 2 มีพิรุธส่อไปในทางไม่สุจริตและไม่มีการชำระเงินค่าที่ดินกันจริง ทั้งไม่น่าเชื่อว่า จำเลยที่ 1 เป็นหนี้นาย ย. จนต้องโอนที่ดินพิพาทเพื่อตีใช้หนี้โดยให้จำเลยที่ 2 ถือกรรมสิทธิ์แทนนาย ย. ซึ่งข้อพิรุธดังกล่าวยังเจือสมกับพยานหลักฐานของโจทก์ ทำให้พยานหลักฐานของโจทก์มีน้ำหนักรับฟังได้ดีกว่าจึงเชื่อได้ว่า จำเลยที่ 1 สมคบกันทำนิติกรรมซื้อขายที่ดินพิพาทกับจำเลยที่ 2 โดยรู้ว่าเป็นทางให้โจทก์เสียเปรียบ โดยจำเลยที่ 2 ไม่ได้เสียค่าตอบแทนให้แก่จำเลยที่ 1 และไม่เป็นการโอนที่ดินพิพาทเพื่อตีใช้หนี้ส่วนตัวของจำเลยที่ 1 ให้แก่นาย ย. โดยให้จำเลยที่ 2 รับโอนกรรมสิทธิ์ไว้แทนนาย ย. โจทก์ย่อมมีสิทธิขอให้ศาลพิพากษาเพิกถอนนิติกรรมนี้ เพราะเหตุการฉ้อฉลได้ตามมาตรา 237 แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ส่วนที่จำเลยที่ 1 ฎีกาว่า ปัจจุบันโจทก์ตกลงยอมผ่อนผันให้ห้างฯ ชำระหนี้จำนวน 23,806,993.98 บาท โดยผ่อนชำระได้นั้น เป็นฎีกากล่าวอ้างข้อเท็จจริงที่ไม่ได้ยกขึ้นว่ากันมาแล้วโดยชอบในศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์ ไม่ชอบด้วยมาตรา 249 แห่งประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัย ที่ศาลล่างทั้งสองพิพากษาให้เพิกถอนนิติกรรมซื้อขายที่ดินพิพาทนั้น ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย ฎีกาของจำเลยทั้งสองฟังไม่ขึ้น

 

ปรับปรุงล่าสุด: 13-02-2021