เมนูปิด

คำพิพากษาฎีกาที่13360/2553 
กรมสรรพากรโจทก์
บริษัทบริหารสินทรัพย์ไทยโจทก์ร่วม
ธนาคารกรุงเทพ จำกัด (มหาชน)จำเลย
เรื่อง ภาษีอากร และค้ำประกัน
กฎหมายที่เกี่ยวข้องประกาศกรมสรรพากร เรื่อง ขยายกำหนดเวลายื่นรายการและชำระภาษีมูลค่าเพิ่มของผู้ประกอบการทั้งที่เป็นผู้ขายและผู้ซื้อน้ำมันดิบของพืช ลงวันที่ 30 มิถุนายน 2538
และพระราชกำหนดบริษัทบริหารสินทรัพย์ไทย พ.ศ.2544 มาตรา 3
บริษัท ช. ยื่นใบแจ้งการค้างชำระภาษีอากร (บ.ช.35) โดยค้างชำระภาษีอากรตามแบบแสดงรายการภาษีมูลค่าเพิ่ม (ภ.พ.30) ประจำเดือนภาษีมกราคม 2535 ถึงเดือนภาษีกรกฎาคม 2536 จำนวนเงินที่ค้างชำระ 7,843,000.- บาท ขอผ่อนชำระงวดแรกวันที่ 30 สิงหาคม 2538 จำนวนเงิน 718,553.40 บาท งวดที่ 2 ถึงงวดที่ 12 ภายในวันที่ 30 ของทุกเดือน เดือนละ 713,000.- บาท ซึ่งเป็นการยื่นใบแจ้งการค้างชำระภาษีอากรตามประกาศกรมสรรพากร เรื่อง ขยายกำหนดเวลายื่นรายการและชำระภาษีมูลค่าเพิ่มของผู้ประกอบการทั้งที่เป็นผู้ขายและผู้ซื้อน้ำมันดิบของพืช ลงวันที่ 30 มิถุนายน 2538 ต่อมาบริษัทฯ ผิดนัดไม่ชำระค่าภาษีอากรค้างตั้งแต่งวดที่ 8 ถึงงวดที่ 12 เป็นจำนวนเงิน 3,565,000.- บาท ดังนี้ พฤติการณ์ของบริษัทฯ ถือได้ว่า บริษัทฯ มิได้ชำระภาษีมูลค่าเพิ่มตามที่ขอผ่อนชำระภายในกำหนดเวลาตามข้อ 5 ของประกาศกรมสรรพากรดังกล่าว บริษัทฯ จึงหมดสิทธิได้รับประโยชน์ตามประกาศกรมสรรพากรฉบับนี้เฉพาะภาษีมูลค่าเพิ่มสำหรับงดที่มิได้ชำระตามกำหนดเวลา รวมทั้งงวดที่ยังไม่ถึงกำหนดชำระทั้งหมดด้วยตามประกาศกรมสรรพากรดังกล่าว บริษัทฯ จึงต้องรับผิดชำระภาษีมูลค่าเพิ่ม เบี้ยปรับ และเงินเพิ่มตั้งแต่งวดที่ 8 ซึ่งถึงกำหนดชำระในวันที่ 30 มีนาคม 2539 เป็นต้นไป จนถึงงวดที่ 12 ตามประกาศกรมสรรพากรที่กล่าวมาแล้ว ซึ่งเป็นความรับผิดตามข้อตกลงอันเป็นสัญญาที่บริษัทดังกล่าวทำไว้แก่โจทก์โดยยอมรับถึงหนี้ค่าภาษีที่ต้องชำระตามฟ้อง กับมีเงื่อนไขในสัญญาเรื่องการผิดนัดชำระค่าภาษีตามสัญญาจะต้องชำระเงินเพิ่มและเบี้ยปรับ โจทก์จึงมีสิทธิเรียกร้องตามสัญญานี้ให้บริษัทฯ ชำระเบี้ยปรับตามประกาศกรมสรรพากรที่กล่าวมาแล้ว โดยเจ้าพนักงานประเมินของโจทก์ไม่จำต้องทำการประเมินและแจ้งการประเมินเป็นหนังสือไปยังบริษัทฯ ให้เสียเบี้ยปรับจำนวน 3,565,000.- บาท ตามมาตรา 88 หรือมาตรา 88/1 และมาตรา 88/5 แห่งประมวลรัษฎากร ก่อน และเมื่อจำเลยทำหนังสือสัญญาค้ำประกันลงวันที่ 6 กันยายน 2539 ยอกผูกพันตนเป็นผู้ค้ำประกันการชำระหนี้ของบริษัทฯ ต่อโจทก์เป็นเงิน 3,565,000.- บาท พร้อมเบี้ยปรับและเงินเพิ่มตามกฎหมาย หากบริษัทฯ ไม่ชำระค่าภาษีดังกล่าวเมื่อโจทก์เรียกร้องจำเลยยินยอมชำระภาษีอากรพร้อมเบี้ยปรับและเงินเพิ่มตามกฎหมายทั้งหมดแก่โจทก์ทันทีโดยมิต้องเรียกร้องให้บริษัทฯ ชำระก่อน ซึ่งโจทก์มีหนังสือแจ้งภาระหนี้ภาษีอากร ราย บริษัทฯ ไปยังจำเลยในฐานะค้ำประกันบริษัทฯ จำเลยได้นำเงินไปชำระค่าภาษีอากรจำนวน 3,560,052.50 บาท และเงินเพิ่มจำนวน 3,560,052.50 บาท ต่อมาโจทก์มีหนังสือแจ้งหนี้ภาษีอากร ราย บริษัทฯ ไปยังจำเลยว่า บริษัทฯ ผิดเงื่อนไขการผ่อนชำระ มีผลให้บริษัทฯ ต้องชำระเบี้ยปรับเพิ่มเติมจำนวน 3,565,000.- บาท ซึ่งจำเลยในฐานะผู้ค้ำประกันต้องร่วมรับผิดชำระหนี้ในส่วนของเบี้ยปรับด้วย แต่จำเลยเพิกเฉยจึงเป็นการไม่ปฏิบัติตามสัญญาค้ำประกันที่ทำไว้แก่โจทก์ โจทก์จึงมีสิทธิเรียกร้องให้จำเลยชำระหนี้สำหรับเบี้ยปรับตามสัญญาค้ำประกัน
การโอนสินทรัพย์ด้วยคุณภาพแก่บรรษัทบริหารสินทรัพย์ไทยนั้น ย่อมเป็นไปตามพระราชกำหนดบรรษัทบริหารสินทรัพย์ไทย พ.ศ.2544 ซึ่งบัญญัติความหมายของคำว่าสินทรัพย์ไว้ตามมาตรา 3 ว่า “สิทธิเรียกร้องของสถาบันที่มีต่อลูกหนี้ของตน ในมูลหนี้อันเกิดจากการให้สินเชื่อ...” และตามสัญญาโอนสินทรัพย์ ลงวันที่ 12 ตุลาคม 2544 ระหว่างจำเลยร่วมในฐานะผู้รับโอนกับจำเลยในฐานะผู้โอน ข้อ 3 ที่ระบุว่า เงื่อนไขการโอนสินทรัพย์ด้อยคุณภาพ (2) จำเลยร่วมจะรับโอนสิทธิเรียกร้องอันเกิดจากภาระผูกพันของผู้โอนที่สามารถเรียกร้องจากลูกหนี้ได้ เมื่อผู้โอนได้จ่ายเงินตามภาระผูกพันนั้นให้แก่บุคคลที่สามแล้ว ทั้งนี้ ไม่เกินยอดภาระผูกพันคงค้างตามบัญชี ณ วันโอนสินทรัพย์ด้อยคุณภาพ รายลูกหนี้ดังกล่าว ดังนี้การโอนสินทรัพย์ด้อยคุณภาพของจำเลยย่อมเป็นเพียงการโอนสิทธิเรียกร้องของจำเลยที่มีต่อลูกหนี้ในกรณีนี้คือบริษัทฯ มิใช่เป็นเรื่องจำเลยโอนความเป็นลูกหนี้ของตนให้แก่จำเลยร่วมหรือให้จำเลยร่วมเข้ามารับผิดร่วมกับจำเลยตามสัญญาค้ำประกันบริษัทฯ ที่มีต่อโจทก์ ดังนั้น ภาระหนี้ในส่วนเบี้ยปรับตามหนังสือค้ำประกันจำนวนดังกล่าวที่จำเลยมีต่อโจทก์ย่อมไม่เป็นสินทรัพย์ด้อยคุณภาพที่โอนไปยังจำเลยร่วมจำเลยร่วมจึงไม่ต้องรับผิดต่อโจทก์ แต่จำเลยยังคงต้องรับผิดต่อโจทก์ตามสัญญาค้ำประกัน

 

ปรับปรุงล่าสุด: 13-02-2021