เมนูปิด

คำพิพากษาฎีกาที่3778/2553 
บริษัทแอกโกร-ออน (ไทยแลนด์) จำกัดโจทก์
กรมสรรพากรจำเลย
เรื่อง การประเมินภาษีมูลค่าเพิ่ม กรณีคำนวณผลผลิตโดยเทียบจากหน่วยไฟฟ้าที่ใช้เป็นเกณฑ์
กฎหมายที่เกี่ยวข้องประมวลรัษฎากร มาตรา 88 , 88/2

โจทก์ฟ้องอ้างว่า โจทก์ทำบัญชีถูกต้องตามกฎหมายและได้นำส่งหลักฐานทางบัญชี
และเอกสารที่เกี่ยวข้องทั้งหมดให้เจ้าหน้าที่ตรวจสอบ ซึ่งสามารถตรวจสอบถึงปริมาณผลผลิตสินค้า
ที่แท้จริงได้ โดยโจทก์นำกรรมการผู้จัดการ ผู้จัดการฝ่ายบัญชีและสมุห์บัญชีของโจทก์มาเบิกความยืนยันในประเด็นนี้ แต่จากการสืบพยานฝ่ายจำเลยซึ่งเป็นเจ้าหน้าที่ตรวจสอบและเจ้าหน้าที่ผู้พิจารณาอุทธรณ์
ได้ความว่า จากคำให้การของผู้รับมอบอำนาจโจทก์และการตรวจสอบเอกสารที่ผู้รับมอบอำนาจโจทก์นำส่งในประเด็นภาษีมูลค่าเพิ่มพบว่า โจทก์มิได้จัดทำบัญชีคุมสินค้าและวัตถุดิบ การตรวจสอบบัญชีรับสินค้าและวัตถุดิบกับเช็คสั่งจ่ายค่าซื้อวัตถุดิบยอดไม่ตรงกัน รายละเอียดภาชนะบรรจุที่โจทก์สั่งซื้อและลงบัญชีไว้ยอดไม่สัมพันธ์กัน โจทก์ไม่มีหลักฐานเกี่ยวกับจำนวนภาชนะบรรจุที่อ้างว่าลูกค้าจัดส่งให้
แม้ในชั้นพิจารณาอุทธรณ์โจทก์จะส่งเอกสารเพิ่มเติม แต่เจ้าหน้าที่ผู้พิจารณาอุทธรณ์ตรวจสอบแล้วปรากฏว่า การ์ดวัตถุดิบและเอกสารอื่นๆ ที่โจทก์นำส่งในชั้นพิจารณาอุทธรณ์นั้นตรวจพบความผิดปกติ
ทุกรายการ ไม่อาจเชื่อถือหรือรับฟังได้ ทางนำสืบของจำเลยในประเด็นนี้จึงมีน้ำหนักให้รับฟังได้ว่า โจทก์ไม่มีบัญชีคุมสินค้าและวัตถุดิบ ไม่มีบัญชีคุมภาชนะบรรจุ และเอกสารที่เกี่ยวข้องทั้งหมดที่โจทก์นำส่งไม่อาจนำมาตรวจสอบถึงปริมาณผลผลิตสินค้าที่แท้จริงในรอบระยะเวลาบัญชีพิพาทได้ เมื่อโจทก์
ไม่มีบัญชีคุมสินค้าและวัตถุดิบและบัญชีคุมภาชนะบรรจุมาพิสูจน์ในเห็นว่าปริมาณผลผลิต
ในรอบระยะเวลาบัญชีพิพาทมีจำนวน 1,593,892,340 กรัม ที่ศาลภาษีอากรกลางเชื่อว่า
ในรอบระยะเวลาบัญชีพิพาทโจทก์มีปริมาณผลผลิตจำนวนดังกล่าว ศาลฎีกาแผนกคดีภาษีอากร
จึงไม่เห็นด้วย อุทธรณ์ของจำเลยฟังขึ้น
คดีมีปัญหาต้องวินิจฉัยต่อไปตามอุทธรณ์ของจำเลยว่า การที่เจ้าพนักงานประเมินใช้ปริมาณการใช้ไฟฟ้าของโจทก์มาเป็นเกณฑ์ในการคำนวณหาปริมาณผลผลิตในรอบระยะเวลาบัญชีพิพาทชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ ในชั้นพิจารณาโจทก์นำสืบในประเด็นนี้ว่า กระบวนการผลิตของโจทก์
ใช้แรงงานคนเป็นหลัก โดยโจทก์มีคนงานประมาณ 300 คน โจทก์ใช้กำลังไฟฟ้าทั้งในส่วนของโรงงาน บ่อบำบัดและสำนักงาน ปริมาณการใช้ไฟฟ้าไม่มีส่วนสัมพันธ์กับปริมาณการผลิตสินค้า ฝ่ายจำเลยนำสืบหักล้างว่า เมื่อเอกสารที่โจทก์ส่งมอบให้ไม่สามารถตรวจสอบปริมาณผลผลิตได้ จึงต้องอาศัย
ข้อมูลการใช้ไฟฟ้าในการผลิตซึ่งเป็นต้นทุนการผลิต และข้อมูลการใช้ไฟฟ้าของบริษัทโจทก์
จากสำนักงานการไฟฟ้าจังหวัดพะเยาเป็นตัวเลขที่แน่นอน เชื่อถือได้ เจ้าหน้าที่ตรวจสอบหลักฐาน
ใบแจ้งประกอบกิจการโรงงานของบริษัทโจทก์ที่แจ้งต่ออุตสาหกรรมจังหวัดพะเยา ประกอบกับ
การตรวจสถานประกอบการของโจทก์ และคำให้การของผู้จัดการโรงงานโจทก์ปรากฏว่า เครื่องจักรที่ใช้ในกระบวนการผลิตทั้งหมดใช้ไฟฟ้าเป็นพลังงาน โจทก์ใช้หม้อไฟฟ้ารวมทั้งโรงงานไม่มีการแยกแต่ละจุด นอกจากนั้นกรรมการผู้จัดการและผู้จัดการฝ่ายบัญชีของโจทก์ยังเบิกความรับว่า ค่าใช้จ่ายด้านไฟฟ้าทั้งหมดของโรงงานทางบัญชีได้ลงรายการในส่วนของต้นทุนการผลิต ค่าไฟฟ้าที่ใช้ในส่วนของสำนักงาน
ในโรงงานก็จะไม่แยกบัญชีต่างหากออกไป คงลงบัญชีเป็นค่าไฟฟ้ารวมของโรงงาน เจือสมกับทางนำสืบของจำเลยทำให้คำพยานจำเลยมีน้ำหนักรับฟังได้ว่า กระบวนการผลิตของโรงงานโจทก์ใช้ไฟฟ้าเป็นพลังงานหลักและค่าไฟฟ้ารวมของโรงงานโจทก์เป็นต้นทุนการผลิต ดังนั้น เมื่อไม่อาจตรวจสอบหาปริมาณผลผลิตที่แท้จริงในรอบระยะเวลาบัญชีพิพาท การที่เจ้าพนักงานประเมินใช้ปริมาณการใช้ไฟฟ้าของโจทก์ในรอบระยะเวลาบัญชีเดียวกันมาเป็นเกณฑ์ในการคำนวณหาผลผลิตรอบระยะเวลาบัญชีพิพาท
จึงเป็นวิธีที่ยอมรับได้ และชอบด้วยข้อเท็จจริงและข้อกฎหมายแล้ว อุทธรณ์ของจำเลยในข้อนี้
ฟังขึ้นเช่นกัน การประเมินนี้นับว่าเป็นการประเมินที่เหมาะสมและมีเหตุอันสมควรแล้ว เมื่อเป็นการประเมินที่ชอบด้วยกฎหมาย การที่คณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์วินิจฉัยว่า การประเมินชอบด้วยกฎหมาย
แต่ให้ลดเบี้ยปรับให้อีกคงเรียกเก็บเพียงร้อยละ 30 ของเบี้ยปรับตามการประเมิน จึงเป็นคำวินิจฉัย
ที่ชอบด้วยกฎหมายเช่นเดียวกัน ที่ศาลภาษีอากรกลางพิพากษามานั้นศาลฎีกาแผนกคดีภาษีอากรไม่เห็นด้วย อุทธรณ์ของจำเลยฟังขึ้น พิพากษาแก้ให้ยกฟ้อง ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นอุทธรณ์ให้เป็นพับ

 

ปรับปรุงล่าสุด: 13-02-2021