เมนูปิด

คำพิพากษาฎีกาที่2752-2753/2553 
นายเจริญ สกุลดี ที่ 1 นางกรรณิการ์ สกุลดี ที่ 2โจทก์
กรมสรรพากร ที่ 1 กับพวกรวม 8 คนจำเลย
เรื่องการเสียภาษีเงินได้ กรณีที่นายจ้างจ่ายให้ครั้งเดียวเพราะเหตุออกจากงาน

กฎหมายที่เกี่ยวข้องประมวลรัษฎากรมาตรา 10 มาตรา 13 ทวิ มาตรา 40(1) (2) มาตรา 42 (17) มาตรา 48 (1) (5)

รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ.2540 มาตรา 30

ประกาศอธิบดีกรมสรรพากรเกี่ยวกับภาษีเงินได้ (ฉบับที่ 45)ฯ

กฎกระทรวง ฉบับที่ 126 (พ.ศ.2509)

การที่จำเลยมีบันทึกข้อความถึงสำนักงานสรรพากรภาคสองเพื่อตอบข้อหารือนั้น เป็นการปฏิบัติหน้าที่ราชการของข้าราชการประจำเพื่อให้จัดเก็บภาษีอากรถูกต้องตามกฎหมาย ซึ่งไม่ใช่การปฏิบัติหน้าที่ของคณะกรรมการวินิจฉัยภาษีอากรตามมาตรา 13 ทวิ แห่งประมวลรัษฎากร และแม้จะระบุชื่อโจทก์ที่ 1 และที่ 2 ก็มิใช่เป็นการนำออกแจ้งให้แก่ผู้ใดหรือยังให้ทราบกันไปโดยวิธืใดเพราะเป็นบันทึกข้อความภายในส่วนราชการกรมสรรพากรนั้นเองและการตีพิมพ์บันทึกข้อความดังกล่าวในหนังสือสรรพากรสาสน์ มีวัตถุประสงค์ให้เข้าใจวิธีการจัดเก็บภาษีโดยมีการปรับปรุงและมิได้ระบุรายชื่อโจทก์ทั้งสองแต่ใช้ตัวอักษรย่อ ซึ่งผู้อ่านทั่วไปไม่สามารถทราบว่าเป็นกรณีของโจทก์ทั้งสองการกระทำดังกล่าวมิได้ฝ่าฝืนบทบัญญัติมาตรา 10 แห่งประมวลรัษฎากร จึงไม่มีเหตุเพิกถอน
การที่อธิบดีกรมสรรพากรได้กำหนดเงื่อนไขของเงินได้พึงประเมินตามข้อ 1 (2) ของประกาศอธิบดีกรมสรรพากรเกี่ยวกับภาษีเงินได้ (ฉบับที่ 45)ฯ ลงวันที่ 24 กันยายน 2535 ให้นำเงินได้ดังกล่าวมาเลือกเสียภาษีโดยหักค่าใช้จ่ายได้ไม่เกินเงินเดือนเดือนสุดท้ายคูณด้วยปีที่ทำงาน จึงเป็นการกำหนดเงื่อนไขโดยมีบทบัญญัติกฎหมายมาตรา 48 (5) แห่งประมวลรัษฎากรให้อำนาจไว้ ไม่ใช่เป็นกรณีที่ประกาศอธิบดีกรมสรรพากรฉบับดังกล่าวขัดต่อมาตรา 48 (5) แห่งประมวลรัษฎากร
เงินได้ของโจทก์ทั้งสองมิได้มีวิธีการคำนวณเช่นเดียวกับวิธีการคำนวณบำเหน็จบำนาญข้าราชการเนื่องจากมีวิธีนับระยะเวลาการทำงานที่ต่างจากเงินบำเหน็จบำนาญข้าราชการ เงินบำเหน็จของโจทก์ทั้งสองมิใช่เป็นเงินได้ที่นายจ้างจ่ายให้ครั้งเดียวเพราะเหตุออกจากงานตามข้อ 1 (ก) ของประกาศอธิบดีกรมสรรพากรเกี่ยวกับภาษีเงินได้ (ฉบับที่ 45)ฯ ลงวันที่ 24 กันยายน 2535 ที่จะมีสิทธินำเงินได้พึงประเมินดังกล่าวมาเลือกเสียภาษีโดยหักค่าใช้จ่ายตามเกณฑ์ที่กำหนดในมาตรา 48 (5) แห่งประมวลรัษฎากรได้ แต่เข้าลักษณะเป็นเงินได้พึงประเมินตามมาตรา 40 (1) และ (2) แห่งประมวลรัษฎากร ตามข้อ 1 (ง) ของประกาศฉบับดังกล่าว ซึ่งเป็นเงินได้พึงประเมินที่จ่ายให้ครั้งเดียวเพราะเหตุออกจากงานที่มีวิธีการคำนวณแตกต่างไปจากวิธีการตามข้อ 1 (ก) เมื่อโจทก์ทั้งสองเลือกเสียภาษีตามมาตรา 48 (5) แห่งประมวลรัษฎากร จึงต้องปฏิบัติตามข้อ 3 (2) ของประกาศฉบับดังกล่าว และการที่อธิบดีกรมสรรพากรได้กำหนดเงื่อนไขของเงินได้พึงประเมินตามข้อ 1 (ง) ก็เป็นการกำหนดเงื่อนไขโดยมีบทบัญญัติมาตรา 48 (5) แห่งประมวลรัษฎากร ให้อำนาจไว้ ไม่ใช่กรณีที่ประกาศอธิบดีกรมสรรพากรฉบับดังกล่าวขัดต่อมาตรา 48 (5) แห่งประมวลรัษฎากร ตามที่โจทก์ที่ 1 และที่ 2 อุทธรณ์แต่อย่างใด อุทธรณ์ข้อนี้ของโจทก์ที่ 1 และที่ 2 ฟังไม่ขึ้นเมื่อโจทก์ทั้งสองไม่ได้รับสิทธิตามประกาศอธิบดีกรมสรรพากรเกี่ยวกับภาษีเงินได้ (ฉบับที่ 45)ฯ ลงวันที่ 24 กันยายน 2535 ดังนั้น ประกาศจะขัดหรือแย้งมาตรา 30 รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2540 หรือไม่จึงไม่จำต้องพิจารณาเพราะย่อมไม่ทำให้ผลแห่งคดีเปลี่ยนแปลงไป

เงินชดเชยและผลประโยชน์ตอบแทนพิเศษที่โจทก์ทั้งสอง ได้รับเนื่องจากการเข้าโครงการเกษียณอายุก่อนกำหนด คงเป็นเพียงเงินชดเชยตามข้อตกลงนโยบายภาครัฐ เพื่อลดจำนวนพนักงานลงเท่านั้นมิอาจถือเป็นเงินค่าชดเชยเพราะเหตุถูกเลิกจ้างตามกฎหมายว่าด้วยพนักงานรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์ดังนั้นเงินชดเชยและผลประโยชน์ตอบแทนพิเศษที่โจทก์ทั้งสองได้รับตามโครงการเกษียณอายุก่อนกำหนดตามฟ้อง จึงไม่เป็นเงินชดเชยตามกฎหมายแรงงานและมิได้รับยกเว้นไม่ต้องรวมคำนวณเพื่อเสียภาษีเงินได้ตามมาตรา 42 (17) แห่งประมวลรัษฎากร ประกอบกฎกระทรวง ฉบับที่ 126 (พ.ศ.2509) แก้ไขเพิ่มเติมโดยกฎกระทรวงฉบับที่ 217 (พ.ศ.2542) กับทั้งไม่เข้าลักษณะเป็นเงินชดเชยตามกฎหมายแรงงานตามข้อ 1 (ค) ของประกาศอธิบดีกรมสรรพากร เกี่ยวกับภาษีเงินได้ (ฉบับที่ 45)ฯ ลงวันที่ 24 กันยายน 2535 ดังนั้นเมื่อโจทก์ทั้งสองได้นำเงินจำนวนดังกล่าวมาเป็นฐานเพื่อคำนวณค่าใช้จ่ายตามมาตรา 48 (5) แห่งประมวลรัษฎากร จึงมีประเด็นที่คณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์ต้องพิจารณาว่าเงินชดเชยและผลประโยชน์ตอบแทนพิเศษได้รับมาเป็นเงินได้ที่ได้รับยกเว้นไม่ต้องรวมคำนวณเพื่อเสียภาษีเงินได้หรือไม่ และเลือกเสียภาษีโดยหักค่าใช้จ่ายตามมาตรา 48 (5) แห่งประมวลรัษฎากร ได้เพียงใดเมื่อเจ้าพนักงานประเมินถือว่าเงินชดเชยที่โจทก์ทั้งสองได้รับเป็นเงินได้ตามข้อ 1 (ค) ของประกาศอธิบดีกรมสรรพากรเกี่ยวกับภาษีเงินได้ (ฉบับที่ 45)ฯ ลงวันที่ 24 กันยายน 2535เป็นการไม่ถูกต้องคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณย่อมมีอำนาจแก้ไขปรับปรุงภาษีและเงินเพิ่มให้ถูกต้องเสียใหม่ได้ตามมาตรา 31 วรรค 2 มิใช่กรณีพิจารณานอกเหนือจากประเด็นที่โจทก์ทั้งสองอุทธรณ์คัดค้านต่อคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์แต่อย่างใด
การพิจารณาคำร้องขอคืนภาษี การแจ้งการประเมินภาษี และการพิจารณาอุทธรณ์มีบทบัญญัติที่กำหนดวิธีปฏิบัติราชการทางปกครองไว้โดยเฉพาะ จึงเข้าหลักเกณฑ์ตามข้อยกเว้นตามมาตรา 3 วรรค 2 ที่ไม่นำความในวรรค 1 แห่งพระราชบัญญัติวิธีปฏิบัติราชการทางปกครอง พ.ศ.2539 มาใช้บังคับกรณีนี้ ดังนั้น จึงไม่ต้องพิจารณาว่า ประมวลรัษฎากรในส่วนนี้มีหลักเกณฑ์ที่ประกันความเป็นธรรมหรือมีมาตรฐานในการปฏิบัติราชการต่ำหรือสูงกว่าพระราชบัญญัติวิธีปฏิบัติราชการทางปกครอง พ.ศ.2539
เมื่อหนังสือแจ้งการประเมินภาษีมีข้อเท็จจริงอันเป็นสาระสำคัญ ข้อกฎหมายที่อ้างอิง ข้อพิจารณาและข้อสนับสนุนในการใช้ดุลพินิจ ประกอบกับก่อนมีการออกหนังสือแจ้งภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา เจ้าพนักงานประเมินได้ทำการตรวจสอบรายการขอคืนภาษี ตรวจสอบความถูกต้องครบถ้วนของการยื่นแบบแสดงรายการ ส่วนคำวินิจฉัยอุทธรณ์ ก็ได้ระบุรายละเอียดของคำวินิจฉัยฯ เหตุผลและกฎหมายที่เกี่ยวข้อง กำหนดวิธีการให้ผู้อุทธรณ์นำเงินภาษีและเงินพิ่มไปชำระ ณ ที่ทำการใด นอกจากนี้ในส่วนท้ายของคำวินิจฉัยอุทธรณ์ได้ลงวันเดือนปีที่พิจารณาอุทธรณ์ พร้อมลายมือชื่อคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์ กับทั้งมีหมายเหตุระบุ ในกรณีหากประสงค์จะอุทธรณ์คำวินิจฉัยอุทธรณ์ต่อศาล ให้อุทธรณ์ภายในกำหนด 30 วัน นับแต่วันได้รับแจ้งคำวินิจฉัยอุทธรณ์ จึงถือได้ว่าจัดให้มีเหตุผลตามมาตรา 37 วรรค 1 แห่งพระราชบัญญัติวิธีปฎิบัติราชการทางปกครองพ.ศ.2539 แล้ว ดังนั้น หนังสือแจ้งการประเมินภาษีเงินได้และคำวินิจฉัยอุทธรณ์ จึงเป็นคำสั่งทางปกครองที่ชอบด้วยกฎหมายแล้ว
พิพากษายืน ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นอุทธรณ์ให้เป็นพับ

 

ปรับปรุงล่าสุด: 13-02-2021