เมนูปิด

คำพิพากษาฎีกาที่2097/2553 
กรมสรรพากรโจทก์
ห้างหุ้นส่วนจำกัด แก้วเจริญมอเตอร์ กับพวกจำเลย
เรื่อง การรับสภาพหนี้ของทายาท อายุความการฟ้องคดีภาษีอากร
กฎหมายที่เกี่ยวข้องประมวลรัษฎากร มาตรา 68, 71 (1)

ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 193/14 (1) , 253 (3),256 , 1754 วรรคสาม

กรมสรรพากรเป็นโจทก์ยื่นฟ้องห้างฯ ที่ 1 นายใช้ แก้วเจริญสีทอง ในฐานะผู้จัดการมรดกของนายไชยา แก้วเจริญสีทอง ที่ 2 เป็นจำเลย ให้รับผิดในหนี้ภาษีอากรค้างชำระเป็นภาษีเงินได้นิติบุคคล 290,368.91 บาท ภาษีเงินได้นิติบุคคลครึ่งปี 21,683.- บาท และภาษีมูลค่าเพิ่ม 965,338.23 บาท พร้อมเบี้ยปรับเงินเพิ่มรวมภาษีค้างชำระเป็นเงิน 1,572,985.99 บาท ศาลภาษีอากรกลางมีคำพิพากษาให้จำเลยที่ 1 ชำระภาษีเงินได้นิติบุคคล ภาษีมูลค่าเพิ่ม เบี้ยปรับและเงินเพิ่ม รวมเป็นเงิน 1,572,985.99 บาท แก่โจกท์ ให้ยกฟ้องจำเลยที่ 2 ค่าฤชาธรรมเนียมให้เป็นพับ โจทก์ได้อุทธรณ์คำพิพากษาดังกล่าวต่อศาลฎีกา ซึ่งมีปัญหาต้องวินิจฉัยตามอุทธรณ์ของโจทก์ว่า คดีสำหรับจำเลยที่ 2 ขาดอายุความหรือไม่ เห็นว่า ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1754 วรรคสาม บัญญัติห้ามมิให้เจ้าหนี้ฟ้องร้องบังคับตามสิทธิเรียกร้อง อันมีต่อเจ้ามรดกเมื่อพ้นกำหนด 1 ปี นับแต่เมื่อเจ้าหนี้ได้รู้หรือควรได้รู้ถึงความตายของเจ้ามรดก โจทก์บรรยายและนำสืบว่า ทราบว่านายไชยาฯ ถึงแก่ความตายเมื่อประมาณเดือนเมษายน 2548 โจทก์ฟ้องคดีเมื่อวันที่ 31 มีนาคม 2549 ฟ้องโจทก์จึงไม่ขาดอายุความโดยจำเลยที่ 2๒ ไม่นำสืบให้เห็นเป็นอย่างอื่น การที่โจทก์กล่าวอ้างข้อเท็จจริงนี้ โจทก์ย่อมมีภาระการพิสูจน์ข้อเท็จริง แต่พยานโจทก์เป็นเพียงการเบิกความลอย ๆ และไม่ปรากฏพยานหลักฐานอื่นมาสนับสนุนว่า โจทก์ได้ทราบถึงการตายเมื่อเดือนเมษายน 2548 คำเบิกความดังกล่าวจึงไม่มีน้ำหนักรับฟัง และที่โจทก์อุทธรณ์ว่า เมื่อวันที่ 7 เมษายน 2547 จำเลยที่ 2 ให้ตัวแทนจำเลยที่ 2 นำเงินจำนวน 15,000.- บาท ชำระหนี้ภาษีอากรค้างของจำเลยที่ 1 ถือได้ว่าเป็นการกระทำใด ๆ อันปราศจากข้อสงสัยแสดงให้เห็นเป็นปริยายว่ายอมรับสภาพหนี้ตามสิทธิเรียกร้องตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 193/14 (1) นั้น เห็นว่า แบบคำขอชำระหนี้ภาษีอากรคงค้างดังกล่าว มีข้อความระบุไว้โดยแจ้งชัดว่า จำเลยที่ 1 เป็นผู้ขอชำระภาษีอากรค้าง โดยระบุหมายเลขประจำตัวผู้เสียภาษีอากรของจำเลยที่ 1 มิได้ระบุว่า ผู้ชำระเป็นตัวแทนหรือผู้รับมอบอำนาจจากจำเลยที่ 2 ให้ชำระหนี้ค่าภาษีอากรคงค้างแทนดังอ้าง การชำระหนี้กระทำเมื่อวันที่ 7 เมษายน 2547 ซึ่งเป็นเวลาภายหลังจากนายไชยาฯ ถึงแก่ความตายแล้ว จึงไม่ใช่คำขอชำระหนี้ภาษีอากรคงค้างของนายไชยาฯ ในฐานะส่วนตัว เมื่อโจทก์ไม่มีพยานหลักฐานมานำสืบให้เห็นได้ว่าหลักฐานดังกล่าวเป็นการชำระหนี้ภาษีอากรคงค้างโดยจำเลยที่ 2 ในฐานะผู้จัดการมรดกของนายไชยาฯ หรือนายปิยะ อันแสน ผู้มีชื่อ ในเอกสารดังกล่าวชำระหนี้ภาษีอากรคงค้างแทนจำเลยที่ 2 ในฐานะผู้จัดการมรดก ซึ่งเป็นคนละบุคคลกับจำเลยที่ 1 จึงไม่อาจรับฟังได้ว่าการกระทำดังกล่าวเป็นการรับสภาพหนี้ของจำเลยที่ 2 ซึ่งทำให้อายุความมรดกสะดุดหยุดลงตามที่โจทก์อุทธรณ์ และที่โจทก์อุทธรณ์ในประการต่อไปว่า หนี้ภาษีอากรค้างเป็นหนี้ที่มีอยู่เป็นคุณแก่โจทก์ในมูลค่าภาษีอากรตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 253 (3)เป็นบุริมสิทธิสามัญ ฟ้องของโจทก์เรียกหนี้ภาษีอากรค้างจากจำเลยที่ 2 ซึ่งเป็นผู้จัดการมรดกของนายไชยาฯ จึงไม่ขาดอายุความนั้น เห็นว่า ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 256 บุริมสิทธิในมูลค่าภาษีอากรนั้น ใช้สำหรับเอาบรรดาค่าภาษีอากรที่ลูกหนี้ยังค้างชำระอยู่ในปีปัจจุบันและก่อนนั้นขึ้นไปอีกปีหนึ่ง กรณีของจำเลยที่ 1เป็นหนี้ภาษีอากรค้างชำระสำหรับภาษีเงินได้นิติบุคคลรอบระยะเวลาบัญชีตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2540 ถึงวันที่ 31 ธันวาคม 2540 ซึ่งต้องยื่นแบบแสดงรายการและชำระภาษีภายใน 150 วัน นับแตวันสุดท้ายของรอบระยะเวลาบัญชีดังกล่าวตามมาตรา 68 แห่งประมวลรัษฎากร และเป็นหนี้ภาษีมูลค่าเพิ่มสำหรับเดือนภาษีมกราคมถึงธันวาคม 2540 ซึ่งต้องยื่นแบบแสดงรายการและชำระภาษีมูลค่าเพิ่มภายในวันที่ 15 ของเดือนถัดไปตามมาตรา 83 วรรคสอง แห่งประมวลรัษฎากร เมื่อถึงกำหนดชำระแล้วจำเลยที่ 1มิได้ชำระจึงถือเป็นภาษีอากรค้าง หนี้ภาษีอากรค้างชำระตามฟ้องทั้งภาษีเงินได้นิติบุคคลและภาษีมูลค่าเพิ่มไม่ใช่ค่าภาษีอากรที่ยังค้างชำระอยู่ในปีปัจจุบันและก่อนนั้นขึ้นไปอีกปีหนึ่ง จึงไม่เป็นหนี้บุริมสิทธิสามัญ ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 253 (3) ตามที่โจทก์อุทธรณ์ ส่วนปัญหาตามอุทธรณ์ของโจทก์ข้ออื่นนอกจากนี้ ไม่จำต้องวินิจฉัยเพราะไม่ทำให้ผลแห่งคดีเปลี่ยนแปลงไป ที่ศาลภาษีอากรกลางพิพากษา มาว่า คดีโจทก์สำหรับจำเลยที่ 2 ขาดอายุความนั้น ศาลฎีกาแผนกคดีภาษีอากรเห็นพ้องด้วย อุทธรณ์ของโจทก์ฟังไม่ขึ้น

 

ปรับปรุงล่าสุด: 13-02-2021