เมนูปิด

คำพิพากษาฎีกาที่6919/2555 
นายอุทัย สันคนาภรณ์โจทก์
กรมสรรพากรที่ 1 กับพวกรวม 2 คนจำเลย
เรื่อง เงินได้ที่ได้รับจากกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ
กฎหมายที่เกี่ยวข้องประกาศอธิบดีกรมสรรพากรเกี่ยวกับภาษีเงินได้ (ฉบับที่ 52)ฯ
ประกาศอธิบดีกรมสรรพากรเกี่ยวกับภาษีเงินได้ (ฉบับที่ 59)ฯ
ประกาศอธิบดีกรมสรรพากรเกี่ยวกับภาษีเงินได้ (ฉบับที่ 80)ฯ

ประกาศอธิบดีกรมสรรพากรเกี่ยวกับภาษีเงินได้ (ฉบับที่ 151)ฯ

โจทก์เข้าทำงานที่การไฟฟ้านครหลวงเมื่อวันที่ 21 สิงหาคม 2504 และเข้าเป็นสมาชิกกองทุนสำรองเลี้ยงชีพพนักงานการไฟฟ้านครหลวงซึ่งจดทะเบียนแล้วเมื่อวันที่ 1 พฤษภาคม 2539 และสิ้นสุดสมาชิกภาพเนื่องจากพ้นสภาพการเป็นพนักงานการไฟฟ้านครหลวงด้วยเหตุเกษียณอายุเมื่อวันที่ 1 ตุลาคม 2542 การเกษียณอายุของโจทก์จึงเกิดขึ้นภายหลังประกาศอธิบดีกรมสรรพากรเกี่ยวกับภาษีเงินได้ (ฉบับที่ 52)ฯที่ให้ไว้ ณ วันที่ 16 กุมภาพันธ์ 2538 แต่เกิดก่อนประกาศอธิบดีกรมสรรพากรเกี่ยวกับภาษีเงินได้ (ฉบับที่ 80)ฯที่ประกาศ ณ วันที่ 29 มีนาคม 2543 อย่างไรก็ตามประกาศอธิบดีกรมสรรพากรเกี่ยวกับภาษีเงินได้ (ฉบับที่ 80)ฯ ข้อ 1 ให้ยกเลิกความในข้อ (1) วรรคหนึ่ง ของข้อ 1 แห่งประกาศอธิบดีกรมสรรพากรเกี่ยวกับภาษีเงินได้ (ฉบับที่ 52)ฯ ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยประกาศอธิบดีกรมสรรพากรเกี่ยวกับภาษีเงินได้ (ฉบับที่ 59)ฯ และให้ใช้ความต่อไปนี้แทน (1) กรณีเกษียณอายุ ลูกจ้างผู้นั้นต้องมีอายุไม่ต่ำกว่า 55 ปีบริบูรณ์ และ (ก) เข้าเป็นสมาชิกกองทุนสำรองเลี้ยงชีพตามกฎหมายว่าด้วยกองทุนสำรองเลี้ยงชีพมาแล้วไม่น้อยกว่า 5 ปี หรือ (ข) เข้ามาเป็นสมาชิกกองทุนสำรองเลี้ยงชีพตามกฎหมายว่าด้วยกองทุนสำรองเลี้ยงชีพในระหว่างวันที่ 13 กันยายน 2537 ถึงวันที่ 2 ธันวาคม 2538 และได้ออกจากงานเพราะเกษียณอายุก่อนวันที่ 2 ธันวาคม 2543 ซึ่งมีระยะเวลาที่ทำงานกับนายจ้างนั้นก่อนเกษียณอายุไม่น้อยกว่า 5 ปี และข้อ 2 กำหนดว่า ประกาศนี้ให้ใช้บังคับสำหรับเงินได้พึงประเมินประจำ พ.ศ.2537 ที่จะต้องยื่นรายการใน พ.ศ.2538 เป็นต้นไป ย่อมแสดงให้เห็นว่า ประกาศอธิบดีกรมสรรพากรเกี่ยวกับภาษีเงินได้ (ฉบับที่ 80)ฯ แม้จะประกาศใช้บังคับหลังจากโจทก์เกษียณอายุ แต่ความในข้อ 2 ดังกล่าว ก็มีผลให้ประกาศอธิบดีกรมสรรพากรเกี่ยวกับภาษีเงินได้ (ฉบับที่ 80)ฯ มีผลบังคับย้อนหลังกับโจทก์ด้วย เมื่อศาลปกครองสูงสุดมีคำพิพากษาเป็นคดีหมายเลขแดงที่ อ.148/2549 แก้คำพิพากษาของศาลปกครองกลางเป็นให้เพิกถอนประกาศอธิบดีกรมสรรพากรเกี่ยวกับภาษีเงินได้ (ฉบับที่ 80)ฯ ข้อ (ข) ที่ถูก คือ ข้อ 1 (1) (ข) โดยให้มีผลเป็นการเพิกถอนตั้งแต่วันที่มีคำพิพากษาถึงที่สุด นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาของศาลปกครองชั้นต้น เงินหรือผลประโยชน์ใด ๆ ที่ลูกจ้างได้รับจากกองทุนสำรองเลี้ยงชีพตามกฎหมายว่าด้วยกองทุนสำรองเลี้ยงชีพเมื่อลูกจ้างออกจากงานเพราะเกษียณอายุที่จะได้รับยกเว้นไม่ต้องรวมคำนวณเพื่อเสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา จึงเป็นกรณีที่ลูกจ้างผู้นั้นต้องมีอายุไม่ต่ำกว่า 55 ปีบริบูรณ์ และเป็นสมาชิกกองทุนสำรองเลี้ยงชีพตามกฎหมายว่าด้วยกองทุนสำรองเลี้ยงชีพมาแล้วไม่น้อยกว่า 5 ปีด้วย สำหรับกรณีที่เป็นสมาชิกกองทุนสำรองเลี้ยงชีพตามกฎหมายว่าด้วยกองทุนสำรองเลี้ยงชีพน้อยกว่า 5 ปี แต่เป็นสมาชิกในระหว่างวันที่ 13 กันยายน 2537 ถึงวันที่ 2 ธันวาคม 2538 และได้ออกจากงานเพราะเกษียณอายุก่อนวันที่ 2 ธันวาคม 2543 ซึ่งมีระยะเวลาที่ทำงานกับนายจ้างนั้นก่อนเกษียณอายุไม่น้อยกว่า 5 ปี ก็จะได้รับยกเว้นไม่ต้องรวมคำนวณเพื่อเสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาเช่นเดียวกัน สำหรับประกาศอธิบดีกรมสรรพากรเกี่ยวกับภาษีเงินได้ (ฉบับที่ 151)ฯ ประกาศ ณ วันที่ 16 มกราคม 2549 ข้อ 1 ให้ยกเลิกความใน (1) วรรคหนึ่ง ของข้อ 1 ของประกาศอธิบดีกรมสรรพากรเกี่ยวกับภาษีเงินได้ (ฉบับที่ 52)ฯ ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยประกาศอธิบดีกรมสรรพากรเกี่ยวกับภาษีเงินได้ (ฉบับที่ 59)ฯ โดยข้อ 1 (1) (ข) กำหนดว่า เข้าเป็นสมาชิกกองทุนสำรองเลี้ยงชีพในระหว่างวันที่ 13 กันยายน 2537 ถึงวันที่ 2 ธันวาคม 2538 และได้ออกจากงานเพราะเกษียณอายุก่อนวันที่ 2 ธันวาคม 2543 ซึ่งมีระยะเวลาทำงานกับนายจ้างนั้นก่อนเกษียณอายุไม่น้อยกว่า 5 ปี และข้อ 2 มีข้อความเหมือนกับประกาศอธิบดีกรมสรรพากรเกี่ยวกับภาษีเงินได้ (ฉบับที่ 80)ฯ ประกาศฉบับนี้จึงมีผลบังคับใช้กับโจทก์ด้วยเช่นกัน ส่วนประกาศอธิบดีกรมสรรพากรเกี่ยวกับภาษีเงินได้ (ฉบับที่ 158)ฯ ซึ่งประกาศ ณ วันที่ 18 ตุลาคม 2549 &#;าศนี้ให้ใช้บังคับตั้งแต่วันที่ 25 สิงหาคม 2549 เป็นต้นไป ประกาศอธิบดีกรมสรรพากรเกี่ยวกับภาษีเงินได้ (ฉบับที่ 158)ฯ จึงนำมาใช้บังคับแก่โจทก์ไม่ได้ แม้โจทก์จะมีอายุไม่ต่ำกว่า 55 ปีบริบูรณ์ แต่โจทก์เข้าเป็นสมาชิกกองทุนสำรองเลี้ยงชีพตามกฎหมายว่าด้วยกองทุนสำรองเลี้ยงชีพมาน้อยกว่า 5 ปี อีกทั้งโจทก์ไม่ได้เข้าเป็นสมาชิกในระหว่างวันที่ 13 กันยายน 2537 ถึงวันที่ 2 ธันวาคม 2538 และได้ออกจากงานเพราะเกษียณอายุก่อนวันที่ 2 ธันวาคม 2543 ซึ่งมีระยะเวลาที่ทำงานกับนายจ้างนั้นก่อนเกษียณอายุไม่น้อยกว่า 5 ปี ตามประกาศอธิบดีกรมสรรพากรเกี่ยวกับภาษีเงินได้ (ฉบับที่ 151)ฯ ข้อ 1 (1) (ข) โจทก์จึงไม่ได้รับยกเว้นไม่ต้องนำเงินหรือผลประโยชน์ใดๆ ที่ลูกจ้างได้รับจากกองทุนสำรองเลี้ยงชีพตามกฎหมายว่าด้วยกองทุนสำรองเลี้ยงชีพเมื่อลูกจ้างออกจากงานเพราะเกษียณอายุ มารวมคำนวณเพื่อเสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา

 

ปรับปรุงล่าสุด: 14-02-2021