เมนูปิด

คำพิพากษาฎีกาที่627/2556 
นางสาวอนงค์ อัจฉริยวนิชโจทก์
อธิบดีกรมสรรพากร ที่ 1จำเลย
สรรพากรภาค 6 ที่ 2 
เรื่อง คดีพิพาทเกี่ยวกับการที่หน่วยงานทางปกครองหรือเจ้าหน้าที่ของรัฐกระทำการโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย (อุทธรณ์คำพิพากษา)
กฎหมายที่เกี่ยวข้องกฎ ก.พ. ว่าด้วยการเลื่อนขั้นเงินเดือน พ.ศ.2544 ข้อ 8
หนังสือสำนักงาน ก.พ. ที่ นร 0708.1/ว 5 ลงวันที่ 2 สิงหาคม 2544
ขณะที่ผู้ฟ้องคดีดำรงตำแหน่งนักวิชาการสรรพากร 4 งานคืนภาษี ฝ่ายกรรมวิธีและคืนภาษีสำนักงานสรรพากรพื้นที่นครปฐม ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 1 ได้มีคำสั่งกรมสรรพากรที่ (สภ.6) 3125/2550 ลงวันที่ 26 กันยายน 2550 เลื่อนขั้นเงินเดือนให้ผู้ฟ้องคดี 0.5 ขั้น ตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคม 2550 ผู้ฟ้องเห็นว่าไม่ได้รับความเป็นธรรมจึงร้องทุกข์ต่อผู้ถูกฟ้องคดีที่ 1 และนำคดีมาฟ้องต่อศาลขอให้เพิกถอนคำสั่ง
ศาลเห็นว่า แม้งานที่ผู้ฟ้องคดีได้รับมอบหมายจากผู้บังคับบัญชาจะเป็นงานของ นาง ก. ตำแหน่งนักวิชาการสรรพากร 6 ว ก็ตาม แต่งานดังกล่าวก็เป็นงานเกี่ยวกับการตรวจรับและวิเคราะห์แบบภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา (ภ.ง.ด.90 และ ภ.ง.ด.91) ซึ่งเป็นงานในหน้าที่ความรับผิดของผู้ฟ้องคดีและงานในหน้าที่ความรับผิดชอบของข้าราชการตำแหน่งนักวิชาการสรรพากรและข้าราชการตำแหน่งเจ้าหน้าที่สรรพากรทุกระดับตามคำสั่งสำนักงานสรรพากรพื้นที่นครปฐม ที่ 156/2549 เรื่องการแบ่งงานตามอัตรากำลังและตำแหน่งตามโครงสร้างใหม่ ลงวันที่ 2 ตุลาคม 2549 และเมื่อพิจารณาผลการปฏิบัติงานของผู้ฟ้องคดีเปรียบเทียบกับผลการปฏิบัติงานของข้าราชการอื่น ๆ ในงานคืนภาษี ฝ่ายกรรมวิธีและคืนภาษี สำนักงานสรรพากรพื้นที่นครปฐม แล้วจะเห็นได้ว่า ผู้ที่ได้รับการพิจารณาเลื่อนขั้นเงินเดือน 1 ขั้น จะมีผลการปฏิบัติงานคืนภาษีทั้งภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา (ภ.ง.ด.90 และ ภ.ง.ด.91) ภาษีมูลค่าเพิ่ม (ภ.พ.30) และภาษีอื่น ๆ ส่วนผู้ที่ได้รับการพิจารณาเลื่อนขั้นเงินเดือน 0.5 ขั้น ซึ่งรวมถึงผู้ฟ้องคดีจะมีผลการปฏิบัติงานคืนภาษีแต่เพียงภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา (ภ.ง.ด.90 และ ภ.ง.ด.91) กรณีจึงถือไม่ได้ว่า ผู้ฟ้องคดีปฏิบัติหน้าที่ได้ผลดีเด่น หรือมีความคิดริเริ่มในเรื่องใดเรื่องหนึ่งหรือปฏิบัติงานตามหน้าที่มีสถานการณ์ตรากตรำเสี่ยงอันตรายมาก หรือปฏิบัติงานที่มีภาระหน้าที่หนักเกินกว่าระดับตำแหน่งหรือตรากตรำเหน็ดเหนื่อยเป็นพิเศษ หรือปฏิบัติงานที่ได้รับมอบหมายให้กระทำกิจกรรมอย่างใดอย่างหนึ่งจนสำเร็จเป็นผลดียิ่ง อันจะอยู่ในหลักเกณฑ์ที่จะได้รับการเลื่อนขั้นเงินเดือนตั้งแต่หนึ่งขึ้นตามข้อ 8 ของกฎ ก.พ. ว่าด้วยการเลื่อนขั้นเงินเดือน พ.ศ.2544 นอกจากนี้ การที่ผู้ฟ้องคดีมีหนังสือต่าง ๆ สอบถามหรือขอคำแนะนำเกี่ยวกับขั้นตอนการปฏิบัติงาน และเรื่องอื่น ๆ ผู้บังคับบัญชาก็ย่อมจะต้องสังเกตเห็นพฤติกรรมการปฏิบัติงานและความประพฤติของผู้ฟ้องคดีได้โดยตลอดอยู่แล้ว การประเมินผลการปฏิบัติงานของผู้ฟ้องคดีจึงได้คำนึงถึงคุณภาพและปริมาณงาน ประสิทธิภาพและประสิทธิผลของงานที่ได้ปฏิบัติ ความสามารถและความอุตสาหะในการปฏิบัติงาน ตลอดจนการรักษาวินัยและการปฏิบัติตนเหมาะสมกับการเป็นข้าราชการ อีกทั้ง การที่ผู้ฟ้องคดีอุทธรณ์ว่า ผู้ฟ้องคดีมีปัญหากับผู้บังคับบัญชา โดยอ้างกรณีที่ผู้ฟ้องคดีได้ร้องเรียนหรือร้องทุกข์ขอความเป็นธรรมในการพิจารณาเลื่อนขั้นเงินเดือนครั้งที่ 2 ปีงบประมาณ พ.ศ.2550 และขอความความคืบหน้าการร้องเรียนหรือร้องทุกข์ขอความเป็นธรรมในการจัดสรรเงินรางวัลประจำปีงบประมาณ พ.ศ.2549 ซึ่งต่อมาผู้ฟ้องคดีได้ฟ้องผู้บังคับบัญชาต่อศาลปกครองกลาง ก็เป็นกรณีที่เกิดขึ้นภายหลังจากที่ผู้บังคับบัญชาได้ประเมินผลการปฏิบัติงานของผู้ฟ้องคดีไปแล้ว ส่วนกรณีที่หัวหน้างานซึ่งเป็นผู้บังคับบัญชาชั้นต้นได้มีหนังสือลงวันที่ 9 มกราคม 2550 ถึงสรรพากรพื้นที่นครปฐม ขอให้ย้ายผู้ฟ้องคดีไปช่วยปฏิบัติงาน ณ หน่วยงานอื่น และผู้ฟ้องคดีมีหนังสือลงวันที่ 22 กุมภาพันธ์ 2550 ร้องทุกข์ขอความเป็นธรรมในการเลื่อนขั้นเงินเดือนปีงบประมาณ พงศ.2548 ถึง พ.ศ.2549 ก็เป็นเพียงความเห็นต่อการปฏิบัติงานของผู้ฟ้องคดีเท่านั้น ซึ่งการประเมินผลการปฏิบัติงานครั้งนี้หัวหน้างานของผู้ฟ้องคดีก็มิได้เป็นผู้ประเมิน ข้ออ้างและพยานหลักฐานที่ผู้ฟ้องคดีส่งต่อศาลไม่พอรับฟังได้ว่าผู้ฟ้องคดีถูกกลั่นแกล้งดังที่อ้าง จึงไม่อาจรับฟังได้ว่าผู้บังคับบัญชาใช้อำนาจกลั่นแกล้งผู้ฟ้องคดีโดยประเมินผลการปฏิบัติงานให้ผู้ฟ้องคดีอย่างไม่เป็นธรรมและเมื่อไม่ปรากฏว่า ผู้บังคับบัญชาใช้อำนาจกลั่นแกล้งผู้ฟ้องคดีดังนั้น การที่ผู้บังคับบัญชาประเมินผลการปฏิบัติงานให้ผู้ฟ้องคดี 0.5 ขั้น จึงสอดคล้องกับบทบัญญัติของกฎหมายและระเบียบแล้ว
สำหรับการประกาศรายชื่อผู้ที่มีผลการประเมินอยู่ในระดับดีเด่นในที่เปิดเผยให้ข้าราชการได้รับทราบโดยทั่วกันนั้น ผู้ฟ้องคดีอุทธรณ์ว่าไม่มีการประกาศให้ทราบและการประกาศรายชื่อดังกล่าวเป็นขั้นตอนอันเป็นสาระสำคัญที่มีผลต่อการประเมินผลการปฏิบัติงานของผู้ฟ้องคดี โดยผู้ฟ้องคดีมีสิทธิคัดค้านการประกาศรายชื่ออีกทั้งยังเป็นการเปิดโอกาสให้ผู้บังคับบัญชาและผู้ใต้บังคับบัญชาทำความเข้าใจกันก่อนซึ่งอาจได้ข้อยุติโดยไม่ต้องนำคดีมาฟ้องต่อศาลศาลเห็นว่าการประกาศรายชื่อดังกล่าวเป็นการดำเนินการตามหลักเกณฑ์และวิธีการประเมินประสิทธิภาพและประสิทธิผลการปฏิบัติงานของข้าราชการพลเรือนสามัญตามหนังสือสำนักงาน ก.พ. ที่ นร 0708.1/ว 5 ลงวันที่ 2 สิงหาคม 2544 อันเป็นการกำหนดวิธีการที่แสดงถึงความโปร่งใสในการใช้ดุลพินิจของผู้บังคับบัญชาที่จะพิจารณาเลื่อนขั้นเงินเดือนให้แก่ผู้ที่มีผลการประเมินอยู่ในระดับดีเด่น ซึ่งผู้ถูกฟ้องคดีทั้งสองได้โต้แย้งในคำให้การว่า ได้ดำเนินการประกาศเรื่องนี้ในรูปสื่ออิเล็กทรอนิกส์ลงในระบบ INTRANET ของกรมสรรพากร ผู้ฟ้องคดีจึงสามารถเข้าไปตรวจดูได้ ศาลเห็นว่า การดำเนินการดังกล่าวสมควรต้องดำเนินการให้เป็นเอกสารหลักฐานที่สามารถอ้างอิงได้ โดยออกประกาศเป็นลายลักษณ์อักษรการที่ผู้ถูกฟ้องคดีทั้งสองอ้างว่า ได้ประกาศลงในระบบ INTRANET และไม่มีพยานหลักฐานยืนยันข้อเท็จจริงดังที่อ้าง จึงต้องรับฟังว่า ไม่มีการออกประกาศดังกล่าว การกระทำของผู้ถูกฟ้องคดีทั้งสองจึงไม่สอดคล้องกับกฎระเบียบที่เกี่ยวข้อง แต่อย่างไรก็ตาม สำหรับกรณีของผู้ฟ้องคดีซึ่งได้รับการพิจารณาเลื่อนขั้นเงินเดือน 0.5 ขั้น นั้น เมื่อผู้ฟ้องคดีใช้สิทธิฟ้องคดีนี้ต่อศาลศาลได้วินิจฉัยไว้แล้วว่า การประเมินผลการปฏิบัติงานของผู้ฟ้องคดีได้คำนึงถึงคุณภาพและปริมาณงาน ประสิทธิภาพและประสิทธิผลของงานที่ได้ปฏิบัติมา ความสามารถและความอุตสาหะในการปฏิบัติงาน ตลอดจนการรักษาวินัยและการปฏิบัติตนเหมาะสมกับการเป็นข้าราชการ อันเป็นการสอดคล้องกับกฎหมายและระเบียบแล้ว การไม่ประกาศรายชื่อผู้ที่มีผลการประเมินอยู่ในระดับดีเด่น ในที่เปิดเผยให้ข้าราชการได้รับทราบโดยทั่วกันจึงไม่มีผลถึงกับทำให้การประเมินผลการปฏิบัติงานในกรณีของผู้ฟ้องคดีไม่ชอบด้วยกฎหมายแต่อย่างใด
ส่วนกรณีที่เมื่อเสร็จสิ้นการประเมินผลการปฏิบัติงานแต่ละครั้ง ผู้บังคับบัญชาควรที่จะนำผลการประเมินไปใช้ประกอบการให้คำปรึกษาแนะนำแก่ผู้รับการประเมินเพื่อให้มีการแก้ไขปรับปรุงการปฏิบัติงานและกำหนดแผนการพัฒนาผู้รับการประเมินเพื่อให้มีสมรรถนะและผลสัมฤทธิ์ของงานดียิ่งขึ้นนั้น ผู้ฟ้องคดีอุทธรณ์ว่า ไม่มีการดำเนินการดังกล่าว และในระหว่างการปฏิบัติงานก็มิได้มีการให้คำแนะนำและแจ้งผลการปฏิบัติงานให้ผู้ฟ้องคดีทราบ ศาลเห็นว่า กรณีดังกล่าวเป็นการแนะนำแก่ผู้บังคับบัญชาในฐานะผู้ประเมินในการใช้ดุลพินิจทางการบริหารเพื่อให้เกิดผลดีแก่ทางราชการโดยการนำผลการประเมินไปใช้ประกอบการให้คำปรึกษาแนะนำแก่ผู้รับการประเมินภายหลังจากที่มีการประเมินผลการปฏิบัติงานของผู้รับการประเมินเสร็จแล้ว เพื่อให้มีการแก้ไขปรับปรุงการปฏิบัติงานและมีการกำหนดแผนการพัฒนาผู้รับการประเมินให้มีสมรรถนะและผลสัมฤทธิ์ของงานให้ดียิ่งขึ้น ซึ่งมิได้มีผลต่อการประเมินหรือการพิจารณาเลื่อนขั้นเงินเดือนในครั้งนี้แต่อย่างใด อีกทั้ง ภายหลังจากนั้น ผู้ฟ้องคดีก็ได้มีหนังสือขอทราบผลการประเมินและคำแนะนำในการประเมิน ตลอดจนคำแนะนำเกี่ยวกับขั้นตอนการปฏิบัติงานมาตลอด ผู้ฟ้องคดีจึงสามารถนำผลการประเมินและคำแนะนำดังกล่าวมาเป็นข้อมูลประกอบการวางแผนเพื่อให้การปฏิบัติงานของผู้ฟ้องคดีดียิ่งขึ้นได้อยู่แล้ว ดังนั้น คำสั่งของผู้ถูกฟ้องคดีที่ 1 ตามคำสั่งกรมสรรพากรที่ (สภ.6) 3125/2550 ลงวันที่ 26 กันยายน 2550 ในส่วนที่เลื่อนขั้นเงินเดือนให้ผู้ฟ้องคดี 0.5 ขั้น ตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคม 2550 เป็นคำสั่งที่ชอบด้วยกฎหมายอุทธรณ์ของผู้ฟ้องคดีฟังไม่ขึ้น การที่ศาลปกครองชั้นต้นพิพากษายกฟ้องศาลปกครองสูงสุดเห็นพ้องด้วยพิพากษายืน

 

ปรับปรุงล่าสุด: 15-02-2021