คำพิพากษาฎีกาที่12846/2557 | |
บริษัท เอี่ยมอะไหล่ยนต์ จำกัด | โจทก์ |
กรมสรรพากร | จำเลย |
เรื่อง ภาษีมูลค่าเพิ่ม | |
กฎหมายที่เกี่ยวข้องประมวลรัษฎากร มาตรา 79/3 (1) มาตรา 88 (2) มาตรา 88/2 (3) และมาตรา 88/4 | |
การที่จำเลยวางแนวทางปฏิบัติในการกำหนดมูลค่าของฐานภาษีจากการขายเครื่องยนต์เก่าที่โจทก์นำเข้าไว้ว่าจะต้องไม่ต่ำกว่าราคาที่เจ้าพนักงานกรมศุลกากรได้ทำการประเมินเพื่อเรียกเก็บอากรขาเข้าตามกฎหมายว่าด้วยศุลกากรบวกด้วยอากรขาเข้าของกรมศุลกากร ซึ่งกรมศุลกากรได้คำนวณราคาประเมินเครื่องยนต์เก่าที่โจทก์นำเข้าเพื่อเรียกเก็บภาษีและอากรขาเข้า โดยใช้ราคานำเข้าที่สำแดงไว้ในใบขนสินค้าเปรียบเทียบกับราคาที่ปรากฏในรายงานการประชุมร่วมกองวิเคราะห์ราคาและกองพิธีการและประเมินแล้วแต่ราคาใดจะสูงกว่า แต่ทั้งนี้ไม่เกินร้อยละ 40 ของราคาใหม่แห่งสินค้าประเภทนั้นในปีสุดท้ายก่อนปีนำเข้าเป็นราคาประเมินวิธีการกำหนดราคาของกรมศุลกากรดังกล่าวเป็นราคาเฉลี่ยที่คำนวณโดยการเก็บรวบรวมสถิติราคาสินค้าจากผู้นำเข้าทุกรายการที่จำเลยวางแนวปฏิบัติดังกล่าวจึงเป็นการกำหนดราคาที่มีเหตุผลซึ่งโจทก์ก็เคยยินยอมชำระอากรขาเข้าและภาษีมูลค่าเพิ่มสำหรับการนำเข้าตามราคาประเมินของกรมศุลกากร ทั้งโจทก์นำภาษีมูลค่าเพิ่มที่ได้ชำระไว้มาถือเป็นภาษีซื้อและใช้ในการคำนวณภาษีมูลค่าเพิ่มตามมาตรา 82/3 แห่งประมวลรัษฎากร ประกอบกับโจทก์ได้ยื่นแบบแสดงรายการชำระภาษีมูลค่าเพิ่มของปี 2548 เพิ่มเติมตามการคำนวณของเจ้าพนักงานอีกด้วยย่อมแสดงให้เห็นว่า เป็นการประเมินที่ใกล้เคียงกับราคาตลาดที่แท้จริงที่สุด การที่โจทก์กลับมาปฏิเสธในส่วนภาษีมูลค่าเพิ่มเป็นคดีนี้ว่าราคาที่กรมศุลกากรเรียกเก็บอากรขาเข้าไม่ใช่ราคาที่ถูกต้องแท้จริงนั้น พยานหลักฐานของโจทก์ไม่มีน้ำหนักน่าเชื่อถือว่าโจทก์ซื้อเครื่องยนต์เก่าในราคาตามที่ระบุในใบโอนเงินซึ่งต่ำกว่าราคาที่กรมศุลกากรกำหนดและโจทก์ยังไม่มีหลักฐานแสดงการซื้อขาย การชำระราคาสินค้าหรือการส่งมอบสินค้าให้แก่ผู้ซื้อสินค้าหรือพยานหลักฐานอื่นให้ปรากฏว่าโจทก์มีเหตุสมควรอย่างไร จึงขายสินค้าในราคาต่ำกว่าราคาประเมินของกรมศุลกากรอันถือเป็นราคาตลาดตามมาตรา 79/3 (1) แห่งประมวลรัษฎากรจึงต้องถือว่าการขายสินค้าของโจทก์เป็นการขายต่ำกว่าราคาตลาดโดยไม่มีเหตุอันสมควร การประเมินภาษีมูลค่าเพิ่มของเจ้าพนักงานจึงชอบแล้ว การที่เจ้าพนักงานประเมินใช้ราคาประเมินของกรมศุลกากรดังกล่าวเป็นราคาตลาดในการกำหนดมูลค่าของฐานภาษีของสินค้าที่โจทก์ขายไปนั้น นับว่าเป็นคุณแก่โจทก์เพราะเป็นราคาต้นทุนของสินค้าจึงย่อมจะต่ำกว่าราคาที่โจทก์ขายไป ที่โจทก์อ้างว่า โจทก์มีสินค้าคงเหลือปลายปี 2547 จำนวน 1,301,847.- บาท และปี 2549 จำนวน 2,230,454.52 บาท แต่จำเลยประเมินภาษีโดยคำนวณยอดขายสินค้าสูงขึ้นเท่ากับราคาประเมินของกรมศุลกากรและถือเป็นราคาตลาด จึงเป็นการประเมินเพิ่มขึ้นจากราคาขาย ส่วนจำนวนสินค้าที่ขายนั้น เจ้าพนักงานประเมินยังคงถือตามที่โจทก์แสดงไว้ในแบบแสดงรายการภาษี จึงฟังไม่ได้ว่า เจ้าพนักงานประเมินทำการประเมินภาษีมูลค่าเพิ่มในส่วนสินค้าคงเหลือดังที่โจทก์อ้าง ที่โจทก์อ้างอีกว่า จำเลยไม่ได้เรียกให้ส่งเอกสารหลักฐานทางบัญชีปี 2549 นั้น การประเมินภาษีมูลค่าเพิ่มตามมาตรา 88/4 แห่งประมวลรัษฎากร เป็นอำนาจของเจ้าพนักงานประเมินที่จะออกหมายเรียกผู้มีหน้าที่เสียภาษี ผู้ทำการแทนหรือพยาน หรือสั่งให้บุคคลเหล่านั้นนำบัญชีเอกสารหรือหลักฐานอื่นอันควรแก่เรื่องมาให้ตรวจสอบไต่สวนได้ โดยไม่มีบทบัญญัติใดบังคับให้เจ้าพนักงานประเมินต้องแจ้งให้ผู้มีหน้าที่เสียภาษีอากรส่งเอกสารหลักฐานที่เกี่ยวข้องก่อนจึงจะทำการประเมินภาษีมูลค่าเพิ่มได้เมื่อเจ้าพนักงานประเมินตรวจสอบราคาประเมินของกรมศุลกากรและยอดขายตามแบบแสดงรายกาภาษีแล้วพบว่า โจทก์ยื่นแบบแสดงรายการภาษีปี 2549 โดยแสดงจำนวนภาษีที่จะต้องเสียต่ำกว่าความเป็นจริง เจ้าพนักงานประเมินย่อมมีอำนาจประเมินภาษีมูลค่าเพิ่มพร้อมเบี้ยปรับแก่โจทก์ได้ ตามมาตรา 88 (2) และมาตรา 88/2 (3) แห่งประมวลรัษฎากร ดังนั้น การกำหนดราคาขายและการประเมินเรียกเก็บภาษีมูลค่าเพิ่มเดือนภาษีธันวาคม 2547 และเดือนภาษีธันวาคม 2549 ของเจ้าพนักงานประเมินและคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์ จึงชอบด้วยกฎหมายแล้ว การที่โจทก์เป็นผู้ประกอบการจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่มแต่ยื่นแบบแสดงรายการภาษีมูลค่าเพิ่ม (ภ.พ.30) แสดงยอดขายต่ำกว่าสินค้าที่กรมศุลกากรประเมิน โดยไม่นำส่งเอกสารหลักฐานแก่เจ้าพนักงานประเมินให้เพียงพอแก่การตรวจสอบ ถือว่าไม่ให้ความร่วมมือในการตรวจสอบภาษี กรณีจึงไม่มีเหตุอันควรที่จะงดหรือลดเบี้ยปรับให้แก่โจทก์ คดีนี้โจทก์ฟ้องขอให้ศาลบังคับจำเลยชำระเงินอันเป็นทุนทรัพย์ในคดี 1,033,967.22 บาท ซึ่งอาจกำหนดค่าทนายในชั้นสูงในศาลภาษีอากรกลางได้ถึงร้อยละ 5 เป็นเงินกว่า 50,000.- บาท และในการพิจารณาคดีมีการสืบพยานหลักฐานกันมาทั้งสองฝ่ายทั้งพยานบุคคลและพยานเอกสาร ย่อมเห็นได้ว่าค่าทนายความที่กำหนด 20,000.- บาท ไม่สูงเกินควร ไม่มีเหตุที่ศาลฎีกาจะแก้ไขเปลี่ยนแปลง |