เมนูปิด

คำพิพากษาฎีกาที่1884 - 1886/2557 
นายคำแหง เสนทอง ที่ 1 กับพวกรวม 3 คนโจทก์
กรมสรรพากรจำเลย
เรื่อง การคืนเงินภาษีอากร
กฎหมายที่เกี่ยวข้องพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลภาษีอากรและวิธีพิจารณาคดีภาษีอากร พ.ศ. 2528 มาตรา 29
ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 142 วรรคหนึ่ง มาตรา 246
ประมวลรัษฎากร มาตรา 4 ทศ มาตรา 63
กฎกระทรวง ฉบับที่ 126 (พ.ศ. 2509) ออกตามความในประมวลรัษฎากรว่าด้วยการยกเว้นรัษฎากร
ประกาศอธิบดีกรมสรรพากร เกี่ยวกับภาษีเงินได้ (ฉบับที่ 52) เรื่อง กำหนด หลักเกณฑ์ เงื่อนไข และวิธีการ สำหรับกรณีลูกจ้างออกจากงานเพราะเกษียณอายุ ทุพพลภาพ

หรือตายลงวันที่ 16 กุมภาพันธ์พ.ศ. 2538แก้ไขเพิ่มเติมโดยประกาศอธิบดีเกี่ยว กับภาษีเงินได(ฉบับที่ 151) ลงวันที่ 16 มกราคม 2549 ศ. 2549

ตามข้อ 2 (36) แห่งกฎกระทรวง ฉบับที่ 126 (พ.ศ. 2509) ออกตามความในประมวลรัษฎากร ว่าด้วยการยกเว้นรัษฎากร กำหนดว่า เงินหรือผลประโยชน์ใด ๆ ที่ลูกจ้างได้รับจากกองทุนสำรองเลี้ยงชีพตามกฎหมายว่าด้วยกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ เมื่อลูกจ้างออกจากงานเพราะเกษียณอายุ ทุพพลภาพ หรือตาย ทั้งนี้ ตามหลักเกณฑ์ เงื่อนไข และวิธีการที่อธิบดีกรมสรรพากรกำหนด ให้ได้รับยกเว้นไม่ต้องรวมคำนวณเพื่อเสียภาษีเงินได้ตามมาตรา 42 (17) แห่งประมวลรัษฎากร ซึ่งข้อ 1 (1) ของประกาศอธิบดีกรมสรรพากร เกี่ยวกับภาษีเงินได้ (ฉบับที่ 52) เรื่อง กำหนดหลักเกณฑ์ เงื่อนไข และวิธีการ สำหรับกรณีลูกจ้างออกจากงานเพราะเกษียณอายุ ทุพพลภาพ หรือตาย ลงวันที่ 16 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2538 ที่แก้ไขเพิ่มเติมโดยประกาศอธิบดีกรมสรรพากร เกี่ยวกับภาษีเงินได้ (ฉบับที่ 151) เรื่อง กำหนดหลักเกณฑ์ เงื่อนไข และวิธีการ สำหรับกรณีลูกจ้างออกจากงานเพราะเกษียณอายุ ทุพพลภาพ หรือตาย ลงวันที่ 16 มกราคม พ.ศ. 2549 กำหนดว่า กรณีเกษียณอายุ ลูกจ้างผู้นั้นต้องมีอายุไม่ต่ำกว่า 55 ปีบริบูรณ์ ซึ่งออกจากงานเพราะครบกำหนดหรือสิ้นกำหนดเวลาทำงานตามสัญญาจ้างแรงงานที่เป็นลายลักษณ์อักษร และเข้าเป็นสมาชิกกองทุนสำรองเลี้ยงชีพมาแล้วไม่น้อยกว่า 5 ปี ดังนี้ ตามประกาศอธิบดีกรมสรรพากร เกี่ยวกับภาษีเงินได้ (ฉบับที่ 52)ฯ ที่แก้ไขเพิ่มเติมดังกล่าวมิได้มีบทบังคับเด็ดขาดว่า กรณีเกษียณอายุจะต้องเป็นกำหนดเวลาทำงานที่มีอยู่แล้วตั้งแต่เวลาที่ลูกจ้างเริ่มเข้าทำงาน จึงไม่อาจขยายความให้เป็นผลร้ายแก่ผู้เสียภาษีอากรได้ กรณีของโจทก์แม้ตามข้อ 26 ของข้อบังคับธนาคารแห่งประเทศไทย ว่าด้วยการพนักงาน พ.ศ. 2532 จะกำหนดเวลาการจ้างแรงงานไว้ว่า พนักงานคนใดมีอายุครบ 60 ปีบริบูรณ์ ให้พ้นจากตำแหน่ง เพราะครบเกษียณอายุเมื่อสิ้นปีงบประมาณตามกฎหมายว่าด้วยวิธีการงบประมาณของปีที่พนักงานผู้นั้นมีอายุครบ 60 ปีบริบูรณ์ก็ตาม แต่การที่โจทก์ออกจากงานก่อนกำหนดตามข้อบังคับธนาคารแห่งประเทศไทย ว่าด้วยการออกจากงานโดยความเห็นชอบร่วมกัน พ.ศ. 2544 นั้น เป็นการเลิกสัญญาจ้างกันโดยความตกลงของทั้งสองฝ่ายที่เป็นลายลักษณ์อักษรในภายหลัง อันมีผลให้กำหนดเวลาทำงานตามสัญญาจ้างแรงงานสิ้นสุดลง ทั้งมิใช่เป็นการทำข้อตกลงให้โจทก์ลาออกในกรณีปกติตามข้อ 19 (2) ของข้อบังคับธนาคารแห่งประเทศไทย ว่าด้วยการพนักงาน พ.ศ. 2532 จึงถือได้ว่าโจทก์ออกจากงานเพราะสิ้นกำหนดเวลาทำงานตามสัญญาจ้างแรงงานที่เป็นลายลักษณ์อักษร ตามหลักเกณฑ์กรณีเกษียณอายุในข้อ 1 (1) ของประกาศอธิบดีกรมสรรพากร เกี่ยวกับภาษีเงินได้ (ฉบับที่ 52)ฯ ดังกล่าวแล้ว เมื่อขณะออกจากงานโจทก์ที่ 1 และโจทก์ที่ 3 มีอายุ 59 ปีส่วนโจทก์ที่ 2 มีอายุ 58 ปี ทั้งโจทก์ทั้งสาม เข้าเป็นสมาชิกกองทุนสำรองเลี้ยงชีพมาแล้วไม่น้อยกว่า 5 ปี เงินได้ที่โจทก์ทั้งสามได้รับจากกองทุนสำรองเลี้ยงชีพย่อมได้รับยกเว้นไม่ต้องรวมคำนวณเพื่อเสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา ตามข้อ 2 (36) แห่งกฎกระทรวง ฉบับที่ 126 (พ.ศ. 2509)ฯ และประกาศอธิบดีกรมสรรพากร เกี่ยวกับภาษีเงินได้ (ฉบับที่ 52)ฯ ที่แก้ไขเพิ่มเติมโดยประกาศอธิบดีกรมสรรพากรเกี่ยวกับภาษีเงินได้ (ฉบับที่ 151)ฯ

มาตรา 63 แห่งประมวลรัษฎากร ที่บัญญัติให้ผู้มีสิทธิได้รับคืนเงินภาษีที่ถูกหัก ณ ที่จ่าย และนำส่งแล้ว ต้องยื่นคำร้องต่อเจ้าพนักงานประเมินภายใน 3 ปี นับแต่วันสุดท้ายแห่งปีซึ่งได้ถูกหักภาษีเกินไปนั้น เป็นกรณีผู้นั้นมีสิทธิได้รับคืนเงินภาษีมาโดยตลอดตามปกติทั่วไป สำหรับคดีนี้เงินได้ที่โจทก์ที่ 1 และโจทก์ที่ 2 ได้รับจากกองทุนสำรองเลี้ยงชีพประจำปี 2545 นั้น ได้รับยกเว้นไม่ต้องรวมคำนวณเพื่อเสียภาษีเงินได้เป็นผลสืบเนื่องมาจากประกาศอธิบดีกรมสรรพากร เกี่ยวกับภาษีเงินได้ (ฉบับที่ 52)ฯ ที่แก้ไขเพิ่มเติมโดยประกาศอธิบดีกรมสรรพากร เกี่ยวกับภาษีเงินได้ (ฉบับที่ 151)ฯ และประกาศอธิบดีกรมสรรพากร เกี่ยวกับภาษีเงินได้ (ฉบับที่ 158) เรื่อง กำหนดหลักเกณฑ์ เงื่อนไข และวิธีการ สำหรับกรณีลูกจ้างออกจากงานเพราะเกษียณอายุ ทุพพลภาพ หรือตาย ลงวันที่ 18 ตุลาคม พ.ศ. 2549 ทั้งตามประกาศอธิบดีกรมสรรพากร เกี่ยวกับภาษีเงินได้ (ฉบับที่ 151)ฯ ยังระบุให้ใช้สำหรับเงินได้พึงประเมินประจำ พ.ศ. 2537 ที่จะต้องยื่นรายการใน พ.ศ. 2538 เป็นต้นไป อันเป็นการยกเว้นให้มีผลย้อนหลังไปถึงเงินได้ที่ไม่อาจยื่นคำร้องขอคืนภายในเวลา 3 ปี นับแต่วันสุดท้ายแห่งปีซึ่งถูกหักภาษีเกินไปด้วย ซึ่งอาจไร้ผลหรือก่อผลประหลาดหากจะต้องบังคับให้โจทก์ที่ 1 และโจทก์ที่ 2 ยื่นคำร้องขอคืนภายในกำหนดระยะเวลาตามมาตรา 63 แห่งประมวลรัษฎากร ดังนั้น เมื่อเงินได้ของโจทก์ที่ 1 และโจทก์ที่ 2 ที่ถูกหักภาษี ณ ที่จ่าย ไปในคดีนี้ได้รับผลย้อนหลังตามประกาศอธิบดีกรมสรรพากร เกี่ยวกับภาษีเงินได้ (ฉบับที่ 151)ฯ จึงต้องคืนเงินภาษีอากรให้แก่โจทก์ที่ 1 และโจทก์ที่ 2

มาตรา 4 ทศ แห่งประมวลรัษฎากร บัญญัติเรื่องการคืนเงินภาษีอากรไว้เป็นพิเศษแล้ว ซึ่งโจทก์ทั้งสามมีสิทธิได้รับดอกเบี้ยจากยอดเงินที่ขอคืนได้ตามอัตรา หลักเกณฑ์ และเงื่อนไข ที่กำหนดโดยกฎกระทรวง ฉบับที่ 161 (พ.ศ.2526) ออกตามความในประมวลรัษฎากร ว่าด้วยการให้ดอกเบี้ยแก่ผู้ได้รับเงินคืนภาษีอากร

 

ปรับปรุงล่าสุด: 16-02-2021