เมนูปิด

คำพิพากษาฎีกาที่19205/2556 
นางเกษร นามเรืองศรีโจทก์
กรมสรรพากรกับพวก รวม 3 คนจำเลย
เรื่อง การยกเว้นรัษฎากร สำหรับเงินหรือผลประโยชน์ใดๆ ที่ได้รับจากกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ ตามกฎหมายว่าด้วยกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ
กฎหมายที่เกี่ยวข้องประมวลรัษฎากร มาตรา 4 ทศ กฎกระทรวง ฉบับที่ 161 (พ.ศ.2526) ข้อ 1
กฎกระทรวงฉบับที่ 126 (พ.ศ.2509) ข้อ 2 (36) แก้ไขเพิ่มเติมโดยกฎกระทรวง ฉบับที่ 195 (พ.ศ.2538) และประกาศอธิบดีกรมสรรพากร เกี่ยวกับภาษีเงินได้ (ฉบับที่ 52) ข้อ 1 (1)
แก้ไขเพิ่มเติมโดยประกาศอธิบดีกรมสรรพากร เกี่ยวกับภาษีเงินได้ (ฉบับที่ 151)
การที่ศาลภาษีอากรกลางนำเงินจำนวน 4,738.92 บาท ที่จะต้องคืนให้แก่จำเลยที่ 1 มาหักกลบลบหนี้กับหนี้ภาษีอากรของจำเลยที่ 1 ต้องถือว่ามีการหักกลบลบหนี้กันในวันที่ศาลภาษีอากรกลางมีคำพิพากษา ซึ่งในวันดังกล่าวจำเลยที่ 1 มีหนี้ภาษีอากรค้าง 35,097.57 บาท เมื่อหักเงินจำนวน 4,738.92 บาท แล้วจึงคงเหลือค่าภาษีอากรค้าง 30,358.65 บาท นั้น คดีนี้มีจำนวนทุนทรัพย์ที่พิพาท ไม่เกินห้าหมื่นบาท ต้องห้ามมิให้คู่ความอุทธรณ์ในข้อเท็จจริงตามมาตรา 25 แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้ง ศาลภาษีอากรและวิธีพิจารณาคดีภาษีอากร พ.ศ.2528 ในการวินิจฉัยปัญหาข้อกฎหมายจำต้องถือตามข้อเท็จจริงที่ศาลภาษีอากรกลางได้วินิจฉัยจากพยานหลักฐานในสำนวน ตามมาตรา 29 แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลภาษีอากรและวิธีพิจารณาคดีภาษีอากร พ.ศ.2528 ประกอบมาตรา 238 แห่งประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง ซึ่งศาลภาษีอากรกลางฟังข้อเท็จจริงมาว่า จำเลยที่ 1 ค้างชำระภาษีสำหรับเดือนภาษีสิงหาคม 2541 เป็นค่าภาษี 17,549.04 บาท และเงินเพิ่ม 526.47 บาท รวมเป็นเงิน 18,075.- บาท ตามหนังสือแจ้งการประเมินภาษีมูลค่าเพิ่ม เลขที่ กว/3014220/5/104808 ลงวันที่ 14 มิถุนายน 2542 โจทก์อายัดบัญชีเงินฝากของจำเลยที่ 1 แล้วนำเงินไปชำระค่าภาษีอากรค้างเดือนภาษีกันยายน 2542 เมื่อวันที่ 25 มกราคม 2543 จำนวน 4,662.62 บาท และวันที่ 5 มิถุนายน 2544 จำนวน 76.30 บาท รวมจำนวนเงินที่ชำระ 4,738.92 บาท เมื่อนำไปหักออกคงค้างชำระ 12,810.12 บาท ศาลเห็นว่า โจทก์มีคำสั่งอายัดเงินฝากของจำเลยที่ 1 ทั้งสองจำนวน เพื่อนำไปชำระหนี้ภาษีอากรทั้งสองเดือนภาษีรวมกันแม้จะเคยนำเงินที่อายัดไปชำระหนี้เดือนภาษีกันยายน 2542 แล้ว ต่อมาปรากฏว่า เจ้าพนักงานประเมินไม่มีอำนาจประเมินในส่วนนี้ทำให้ไม่มีหนี้ภาษีอากรตามการประเมินดังกล่าว โจทก์ก็ย่อมนำเงินนั้นไปหักออกจากหนี้ภาษีอากรเดือนสิงหาคม 2541 ได้ ตามมาตรา 12 แห่งประมวลรัษฎากร แต่โจทก์จะต้องปฏิบัติให้ถูกต้องภายในกรอบแห่งกฎหมายรวมทั้งในเรื่องลำดับการหักชำระหนี้ภาษีอากร เมื่อกรณีนี้เป็นเรื่องจำเลยที่ 1 ลูกหนี้ต้องผูกพันต่อโจทก์เจ้าหนี้ในอันจะกระทำการเพื่อชำระหนี้เป็นการอย่างเดียวกันโดยมูลหนี้หลายราย หนี้ถึงกำหนดชำระพร้อมกัน หนี้สินรายที่ตกหนักที่สุดแก่จำเลยที่ 1 ลูกหนี้ย่อมได้รับปลดเปลื้องไปก่อน ตามมาตรา 328 วรรคสอง แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ที่ศาลภาษีอากรกลางวินิจฉัยให้นำเงินดังกล่าวมาชำระภาษีมูลค่าเพิ่มก่อนจึงชอบแล้ว และเนื่องจากเงินเพิ่มต้องเสียร้อยละ 1.5 ต่อเดือนหรือเศษของเดือนของเงินภาษีที่ต้องชำระหรือนำส่ง จึงต้องคำนวณเงินเพิ่มจากหนี้ภาษีมูลค่าเพิ่มที่เหลือจากการหักชำระหนี้ในแต่ละครั้ง แต่เงินเพิ่มที่คำนวณได้มิให้เกินจำนวนภาษีที่ต้องชำระหรือนำส่งตามมาตรา 89/1 วรรคสอง แห่งประมวลรัษฎากร เงินเพิ่มจึงต้องไม่เกิน 12,810.12 บาท เมื่อรวมหนี้ภาษีมูลค่าเพิ่มและเงินเพิ่มแล้ว จำเลยที่ 1 คงค้างชำระค่าภาษีอากรทั้งสิ้น 25,620.24 บาท ที่ศาลภาษีอากรกลางพิพากษามา ศาลฎีกาแผนกคดีภาษีอากรเห็นพ้องด้วย อุทธรณ์ของโจทก์ฟังไม่ขึ้น

 

ปรับปรุงล่าสุด: 16-02-2021