คำพิพากษาฎีกาที่1467/2557 | |
นายทรงวิทย์ ติยพงศ์พัฒนา | โจทก์ |
กรมสรรพากร | จำเลย |
เรื่อง การคืนเงินภาษีอากร | |
กฎหมายที่เกี่ยวข้องกฏกระทรวง ฉบับที่ 126 (พ.ศ. 2509) ออกตามความในประมวลรัษฎากรว่าด้วยการยกเว้นรัษฎากร | |
ประกาศอธิบดีกรมสรรพากร เกี่ยวกับภาษีเงินได้ (ฉบับที่ 52) เรื่อง กำหนดหลักเกณฑ์ เงื่อนไข และวิธีการ สำหรับกรณีลูกจ้างออกจากงานเพราะเกษียณอายุ ทุพพลภาพ หรือตาย ลงวันที่ 16 กุมภาพันธ์ 2538 แก้ไขเพิ่มเติมโดยประกาศอธิบดีเกี่ยวกับภาษีเงินได้ (ฉบับที่ 151) ลงวันที่ 16 มกราคม 2549 ตามข้อ 2 (36) แห่งกฎกระทรวง ฉบับที่ 126 (พ.ศ. 2509) ออกตามความในประมวลรัษฎากร ว่าด้วยการยกเว้นรัษฎากร กำหนดว่า เงินหรือผลประโยชน์ใด ๆ ที่ลูกจ้างได้รับจากกองทุนสำรองเลี้ยงชีพตามกฎหมายว่าด้วยกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ เมื่อลูกจ้างออกจากงานเพราะเกษียณอายุ ทุพพลภาพ หรือตาย ทั้งนี้ ตามหลักเกณฑ์ เงื่อนไข และวิธีการที่อธิบดีกรมสรรพากรกำหนด ให้ได้รับยกเว้นไม่ต้องรวมคำนวณเพื่อเสียภาษีเงินได้ตามมาตรา 42 (17) แห่งประมวลรัษฎากร ซึ่งข้อ 1 (1) ของประกาศอธิบดีกรมสรรพากรเกี่ยวกับภาษีเงินได้ (ฉบับที่ 52) เรื่อง กำหนดหลักเกณฑ์ เงื่อนไข และวิธีการ สำหรับกรณีลูกจ้างออกจากงานเพราะเกษียณอายุ ทุพพลภาพ หรือตาย ลงวันที่ 16 กุมภาพันธ์ 2538 ที่แก้ไขเพิ่มเติมโดยประกาศอธิบดีกรมสรรพากร เกี่ยวกับภาษีเงินได้ (ฉบับที่ 151) ลงวันที่ 16 มกราคม 2549 กำหนดว่า กรณีเกษียณอายุ ลูกจ้างผู้นั้นต้องมีอายุไม่ต่ำกว่า 55 ปีบริบูรณ์ ซึ่งออกจากงานเพราะครบกำหนดหรือสิ้นกำหนดเวลาทำงานตามสัญญาจ้างแรงงานที่เป็นลายลักษณ์อักษร และเข้าเป็นสมาชิกกองทุนสำรองเลี้ยงชีพมาแล้วไม่น้อยกว่า 5 ปี กรณีของโจทก์แม้ตามข้อ 23 ของข้อบังคับองค์การโทรศัพท์แห่งประเทศไทย ว่าด้วยการพนักงาน พ.ศ. 2536 ระบุว่า พนักงานจะต้องพ้นตำแหน่งเมื่อ (1) อายุครบ 60 ปีบริบูรณ์ก็ตาม แต่การที่โจทก์ออกจากงานก่อนกำหนดตามประกาศบริษัท ท. เรื่อง โครงการลาออกก่อนเกษียณอายุประจำปี 2548 นั้น เป็นการเลิกสัญญาจ้างกันโดยความตกลงของทั้งสองฝ่ายที่เป็นลายลักษณ์อักษรในภายหลัง อันมีผลให้กำหนดเวลาทำงานตามสัญญาจ้างแรงงานสิ้นสุด ทั้งมิใช่เป็นการทำข้อตกลงให้โจทก์ลาออกในกรณีปกติตามข้อ 23 (3) ของข้อบังคับองค์การโทรศัพท์แห่งประเทศไทย ว่าด้วยการพนักงาน พ.ศ. 2536 จึงถือได้ว่าโจทก์ออกจากงานเพราะสิ้นกำหนดเวลาทำงานตามสัญญาจ้างแรงงานที่เป็นลายลักษณ์อักษร ตามหลักเกณฑ์กรณีเกษียณอายุในข้อ 1 (1) ของประกาศอธิบดีกรมสรรพากร เกี่ยวกับภาษีเงินได้ (ฉบับที่ 52)ฯ ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยประกาศอธิบดีกรมสรรพากร เกี่ยวกับภาษีเงินได้ (ฉบับที่ 151)ฯ แล้ว เมื่อขณะออกจากงานโจทก์มีอายุ 56 ปี และเข้าเป็นสมาชิกกองทุนสำรองเลี้ยงชีพมาแล้วไม่น้อยกว่า 5 ปี เงินได้ที่โจทก์ได้รับจากกองทุนสำรองเลี้ยงชีพย่อมได้รับยกเว้นไม่ต้องรวมคำนวณเพื่อเสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา ตามข้อ 2 (36) แห่งกฎกระทรวง ฉบับที่ 126 (พ.ศ. 2509) ออกตามความ ในประมวลรัษฎากร ว่าด้วยการยกเว้นรัษฎากร และประกาศอธิบดีกรมสรรพากร เกี่ยวกับภาษีเงินได้ (ฉบับที่ 52)ฯ ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยประกาศอธิบดีกรมสรรพากร เกี่ยวกับภาษีเงินได้ (ฉบับที่ 151)ฯ ดังนั้น ที่ศาลภาษีอากรกลางพิพากษาให้จำเลยคืนเงินค่าภาษีอากรแก่โจทก์จึงชอบแล้ว อุทธรณ์ของจำเลยฟังไม่ขึ้น กรณีศาลภาษีอากรกลางพิพากษาให้จำเลยคืนเงินภาษีอากรแก่โจทก์พร้อมดอกเบี้ยนับแต่วันที่ 1 กรกฎาคม 2549 ซึ่งเป็นวันถัดจากวันครบระยะเวลาสามเดือนนับแต่วันสิ้นกำหนดระยะเวลายื่นแบบแสดงรายการจนกว่าจะชำระเสร็จนั้น ศาลเห็นว่า ตามมาตรา 4 ทศ แห่งประมวลรัษฎากรกำหนดให้ผู้ได้รับคืนเงินภาษีอากรมีสิทธิได้รับดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 1 ต่อเดือนหรือเศษของเดือนของเงินภาษีอากรที่ได้รับคืนโดยไม่คิดทบต้น ทั้งนี้ ตามหลักเกณฑ์และเงื่อนไขที่กำหนดโดยกฎกระทรวง ซึ่งข้อ 1 แห่งกฎกระทรวงฉบับที่ 161 (พ.ศ. 2526) ออกตามความในประมวลรัษฎากร ว่าด้วยการให้ดอกเบี้ยแก่ผู้ได้รับคืนเงินภาษีอากร ระบุว่าดอกเบี้ยที่จะให้แก่ผู้ได้รับคืนเงินภาษีอากรให้คิดดังต่อไปนี้ (1) กรณีคืนเงินภาษีอากรที่ถูกหักไว้ ณ ที่จ่าย ให้เริ่มคิดดอกเบี้ยตั้งแต่วันถัดจากวันครบระยะเวลาสามเดือน นับแต่... (ข) วันยื่นคำร้องขอคืนเงินภาษีอากร ถ้าผู้ได้รับคืนเงินภาษีอากรไม่ต้องยื่นแบบแสดงรายการเกี่ยวกับเงินภาษีอากรที่ถูกหักไว้ ณ ที่จ่าย และวรรค 2 ระบุว่า การคิดดอกเบี้ยตามวรรคหนึ่งให้คิดจนถึงวันที่ลงในหนังสือแจ้งคำสั่งคืนเงิน ดังนี้ เมื่อโจทก์ผู้ไม่มีหน้าที่เสียภาษีได้ยื่นคำร้องขอคืนเงินภาษีอากรในวันที่ 30 สิงหาคม 2549 จึงครบระยะเวลาสามเดือนนับแต่วันยื่นคำร้องขอคืนเงินภาษีอากรในวันที่ 30 พฤศจิกายน 2549 โจทก์ย่อมมีสิทธิได้รับดอกเบี้ยนับตั้งแต่วันที่ 1 ธันวาคม 2549 เป็นต้นไปจนถึงวันที่ลงในหนังสือแจ้งคำสั่งคืนเงิน ปัญหานี้เป็นปัญหาข้อกฎหมายเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน แม้ไม่มีคู่ความฝ่ายใดอุทธรณ์ ศาลฎีกาแผนกคดีภาษีอากรมีอำนาจหยิบยกขึ้นวินิจฉัยและแก้ไขให้ถูกต้องได้ จึงให้จำเลยคืนเงินภาษีอากรพร้อมดอกเบี้ยนับแต่วันที่ 1 ธันวาคม 2549 เป็นต้นไปจนกว่าจะถึงวันที่จำเลยมีหนังสือแจ้งคำสั่งคืนเงินค่าภาษีอากรแก่โจทก์ |