คำพิพากษาฎีกาที่15098/2558 | |
วิทยาลัยดุสิตธานี | โจทก์ |
กรมสรรพากร | จำเลย |
เรื่อง การยกเว้นภาษีเงินได้ | |
กฎหมายที่เกี่ยวข้องประมวลรัษฎากร มาตรา 40 (4),มาตรา 40 (ข) | |
พระราชกฤษฎีกา ออกตามความในประมวลรัษฎากร ว่าด้วยการยกเว้นรัษฎากร (ฉบับที่ 284) พ.ศ.2538มาตรา 3 | |
โจทก์เป็นนิติบุคคลตามพระราชบัญญัติสถาบันอุดมศึกษาเอกชน พ.ศ.2546 โดยบริษัท ร. เป็นผู้ได้รับใบอนุญาตให้จัดตั้งโจทก์ และโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินของบริษัทให้แก่โจทก์เพื่อใช้ประกอบกิจการวิทยาลัย ต่อมาโจทก์จัดสรรเงินส่วนแบ่งกำไรที่ได้จากการประกอบกิจการของโจทก์ให้แก่บริษัท ร. อันเป็นการจัดสรรเงินรายได้จากการประกอบกิจการให้บริการด้านการศึกษาของโจทก์ตามมาตรา 66 แห่ง พระราชบัญญัติสถาบันอุดมศึกษาเอกชน พ.ศ.2546 เงินผลประโยชน์ที่ผู้รับใบอนุญาตได้รับจากโจทก์จึงเป็นเงินได้จากการอื่นนอกจากที่ระบุไว้ใน (1) ถึง (7) ตามมาตรา 40 (8) แห่งประมวลรัษฎากร และตามคำสั่งกรมสรรพากรที่ ท.ป. 4/2528 เรื่อง สั่งให้ผู้จ่ายเงินได้พึงประเมินตามมาตรา 40 แห่งประมวลรัษฎากร มีหน้าที่หักภาษีเงินได้ ณ ที่จ่าย ข้อ 12/1 วรรคหนึ่ง กำหนดว่า "ให้บริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคล หรือนิติบุคคลอื่น ซึ่งเป็นผู้จ่ายเงินได้พึงประเมินตามมาตรา 40 (8) เฉพาะที่เป็นการจ่ายเงินได้จากการให้บริการอื่น ๆ... หักภาษี ณ ที่จ่าย โดยคำนวณหักไว้ในอัตราร้อยละ 3.0 ..." ตามพระราชกฤษฎีกา ออกตามความใน ประมวลรัษฎากร ว่าด้วยการยกเว้นรัษฎากร (ฉบับที่ 284) พ.ศ.2538 มาตรา 3 กำหนดให้ยกเว้นภาษีเงินได้ตามส่วน 3 หมวด 3 ในลักษณะ 2 แห่ง ประมวลรัษฎากร สำหรับเงินได้ของบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคล ดังนี้ (1) กำไรสุทธิที่ได้จากกิจการสถาบันอุดมศึกษาเอกชนที่ตั้งขึ้นตามกฎหมายว่าด้วยสถาบันอุดมศึกษาเอกชน... (2) เงินปันผลหรือเงินส่วนแบ่งของกำไรที่ได้จากบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลที่ประกอบกิจการตาม (1) โจทก์มีฐานะเป็นนิติบุคคลตามพระราชบัญญัติสถาบันอุดมศึกษาเอกชน ฯ ไม่เข้าลักษณะเป็นบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลตามมาตรา 39 แห่งประมวลรัษฎากร เงินผลประโยชน์ที่โจทก์จ่ายให้แก่บริษัท ร. จึงไม่อาจถือเป็นเงินส่วนแบ่งของกำไรตามมาตรา 40 (4) (ข) เงินผลประโยชน์ที่ผู้รับใบอนุญาตได้รับจากโจทก์ จึงไม่ได้รับยกเว้นตามพระราชกฤษฎีกาดังกล่าว | |
แหล่งที่มา กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา |