เมนูปิด

คำพิพากษาฎีกาที่12131/2558 
นายทรงวุฒิ ตันพานิชโจทก์
กรมสรรพากรจำเลย

เรื่อง การขอคืนภาษีกรณีโครงการเกษียณอายุก่อนกำหนด

กฎหมายที่เกี่ยวข้องประมวลรัษฎากร มาตรา 27 ตรี มาตรา 42 มาตรา 63 (เดิม)

กฎกระทรวง ฉบับที่ 126 (พ.ศ.2509) ออกตามความในประมวลรัษฎากร ว่าด้วยการยกเว้นรัษฎากร

หลักเกณฑ์และเงื่อนไขที่กำหนดตามประกาศเรื่อง โครงการเกษียณอายุก่อนกำหนดประจำปี 2550 ที่ให้พนักงานออกจากงานก่อนอายุครบ 60 ปีบริบูรณ์ โดยความสมัครใจร่วมกันคือข้อกำหนดส่วนหนึ่งในหลักเกณฑ์การเกษียณอายุงาน โดยเพิ่มเติมจากข้อบังคับธนาคารเพื่อการเกษตรฯ ฉบับที่ 4 ที่กำหนดให้เกษียณเมื่ออายุครบ 60 ปีบริบูรณ์ เป็นให้เกษียณอายุเมื่ออายุครบ 60 ปีบริบูรณ์ หรือเกษียณอายุงานก่อนอายุครบ 60 ปีบริบูรณ์ การที่โจทก์ใช้สิทธิตามประกาศนี้แม้จะเป็นเวลาที่ยังไม่มีการแก้ไขเพิ่มเติมข้อบังคับดังกล่าว ถือได้ว่าเป็นการเกษียณอายุโดยการออกจากงานเมื่อสิ้นกำหนดเวลาการทำงานตามสัญญาจ้างแรงงานที่กำหนดไว้เป็นลายลักษณ์อักษรแล้ว

เงินได้ที่โจทก์ได้รับจากกองทุนสำรองเลี้ยงชีพประจำปีภาษี 2550 ได้รับยกเว้นไม่ต้องรวมคำนวณเพื่อเสียภาษีเงินได้ โจทก์จึงเป็นผู้ไม่มีหน้าที่ต้องเสียภาษี ซึ่งตามประมวลรัษฎากร มาตรา 63 เดิม ที่ใช้บังคับในขณะพิพากษาคดีนี้ มีเจตนารมณ์ที่จะใช้บังคับแก่บุคคลผู้มีหน้าที่เสียภาษีที่ถูกหักภาษีไว้ ณ ที่จ่าย เป็นจำนวนเงินเกินกว่าที่ควรต้องเสียเท่านั้น มิได้บัญญัติขยายรวมไปถึงบุคคลผู้ไม่มีหน้าที่ต้องเสียภาษี แต่ถูกหักภาษี ณ ที่จ่าย ดังเช่นโจทก์ในคดีนี้ ซึ่งต่อมาภายหลังจึงได้มีการแก้ไขเพิ่มเติมมาตรา 63 ดังกล่าว โดยมาตรา 63 วรรคสอง ที่แก้ไขใหม่ บัญญัติให้บุคคลผู้ไม่มีหน้าที่ต้องยื่นรายการเกี่ยวกับเงินได้พึงประเมินในปีภาษีแต่ถูกหักภาษี ณ ที่จ่าย บุคคลนั้นมีสิทธิได้รับเงินคืนแต่ต้องยื่นคำร้องขอคืนภายในกำหนด กรณีของโจทก์จึงไม่อยู่ภายใต้บังคับประมวลรัษฎากร มาตรา 63 เดิม เมื่อกรณีของโจทก์ไม่มีบทบัญญัติไว้เป็นอย่างอื่น โจทก์จึงมีความชอบธรรมที่จะใช้สิทธิขอคืนภายใน 3 ปี นับแต่วันสุดท้ายแห่งกำหนดเวลายื่นรายการภาษีตามมาตรา 27 ตรี ซึ่งเป็นบทบัญญัติให้ใช้กับกรณีทั่วไป จึงต้องคืนภาษีให้กับโจทก์

      แหล่งที่มา กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

      clear-gif

       

      ปรับปรุงล่าสุด: 15-02-2021