เมนูปิด

คำพิพากษาฎีกาที่3106/2558 
กรมสรรพากรโจทก์
นายสมชายหรือธนพัต หวังเกียรติกำจรหรือวงศ์รุจิดา กับพวกจำเลย
เรื่อง การจัดการทรัพย์สินของลูกหนี้ที่ฟ้องคดีไว้ก่อนมีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์เด็ดขาด
กฎหมายที่เกี่ยวข้องพระราชบัญญัติล้มละลาย พ.ศ. 2483 มาตรา 22 มาตรา 25
ตาม พ.ร.บ.ล้มละลาย พ.ศ.2483 มาตรา 22 ซึ่งบัญญัติว่า เมื่อศาลสั่งพิทักษ์ทรัพย์ของลูกหนี้เด็ดขาดแล้ว เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์แต่ผู้เดียวมีอำนาจดังต่อไปนี้ (1) จัดการและจำหน่ายทรัพย์สินของลูกหนี้ หรือกระทำการที่จำเป็นเพื่อให้กิจการของลูกหนี้ที่ค้างอยู่เสร็จสิ้นไป (2) เก็บรวบรวมและรับเงิน หรือทรัพย์สินซึ่งจะตกได้แก่ลูกหนี้ หรือซึ่งลูกหนี้มีสิทธิจะได้รับจากผู้อื่น และ (3) ประนีประนอมยอมความ หรือฟ้องร้อง หรือต่อสู้คดีใด ๆ เกี่ยวกับทรัพย์สินของลูกหนี้ อันเป็นบทบัญญัติที่มีวัตถุประสงค์เพื่อที่จะให้อำนาจแก่เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ในการจัดการและเก็บรวบรวมทรัพย์สินของลูกหนี้มาให้ได้มากที่สุด เพื่อประโยชน์แก่เจ้าหนี้ในการขอรับชำระหนี้และมาตรา 25 ซึ่งบัญญัติว่า ให้เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์เข้าว่าคดีแพ่งทั้งปวงอันเกี่ยวกับทรัพย์สินของลูกหนี้ ซึ่งค้างพิจารณาอยู่ในศาลในขณะที่มีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์ และเมื่อเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์มีคำขอโดยทำเป็นคำร้อง ศาลมีอำนาจงดการพิจารณาคดีแพ่งนั้นไว้ หรือจะสั่งประการใดตามที่เห็นสมควรก็ได้ ในกรณีที่มีคดีแพ่งอันเกี่ยวกับทรัพย์สินของลูกหนี้ค้างพิจารณาอยู่ในศาลในขณะที่มีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์ซึ่งกฎหมายบังคับให้เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ต้องเข้าว่าคดีแทนลูกหนี้ผู้ถูกฟ้องนั้น ถ้าเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์เห็นว่าการที่จะให้มีการพิจารณาคดีต่อไปจะยังประโยชน์แก่การจัดการและเก็บรวบรวมทรัพย์สินของลูกหนี้มากยิ่งกว่าและมิได้ร้องขอให้งดการพิจารณาคดีไว้แล้ว ศาลย่อมมีอำนาจที่จะสั่งประการใดตามที่เห็นสมควรก็ได้ หาใช่ว่าศาลจะต้องงดการพิจารณาคดีและจำหน่ายคดีที่ค้างพิจารณาอยู่ทั้งหมดออกจากสารบบความได้เพียงสถานเดียว ซึ่งข้อเท็จจริงในคดีนี้ก็ได้ความว่า เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ประสงค์ที่จะให้ศาลพิจารณาคดีต่อไป โดยยื่นคำร้องขอเข้าว่าความแทนจำเลยร่วมที่ 1 และขอให้ศาลชั้นต้นดำเนินกระบวนพิจารณาคดีต่อไปกับยื่นคำให้การมาพร้อมด้วยเช่นนี้ จึงต้องถือว่าเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ได้เข้าว่าความแทนจำเลยร่วมที่ 1 ลูกหนี้ตามอำนาจหน้าที่ที่กฎหมายบัญญัติไว้ครบถ้วนแล้ว แม้ผลของคดีอาจทำให้ที่ดินทั้ง 5 แปลง ต้องกลับไปเป็นของจำเลยร่วมที่ 1 ก็เรียกไม่ได้ว่าเป็นเรื่องที่โจทก์จัดการและเก็บรวบรวมทรัพย์สินของลูกหนี้ หรือฟ้องร้องคดีอันเกี่ยวกับทรัพย์สินของลูกหนี้ อันเป็นการก้าวก่ายอำนาจหน้าที่ของเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ซึ่งต้องห้ามตาม พ.ร.บ.ล้มละลาย พ.ศ.2483 มาตรา 22 (2) (3) แต่อย่างใด เพราะคดีนี้ โจทก์ได้มีการดำเนินคดีฟ้องร้องก่อนที่จำเลยร่วมที่ 1 จะถูกพิทักษ์ทรัพย์เด็ดขาด การที่ศาลชั้นต้นมิได้จำหน่ายคดีของโจทก์ออกจากสารบบความ จึงหาเป็นกระบวนพิจารณาที่ไม่ชอบไม่

      แหล่งที่มา กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

       

       

      ปรับปรุงล่าสุด: 15-02-2021