เมนูปิด

คำพิพากษาฎีกาที่10340/2559 
บริษัท ที โอ ที จำกัด (มหาชน)โจทก์
กรมสรรพากรจำเลย
เรื่อง ประโยชน์ใด ๆ ซึ่งอาจคิดคำนวณได้เป็นเงิน
กฎหมายที่เกี่ยวข้องประมวลรัษฎากร มาตรา 78/1 (1)มาตรา 79

โจทก์ทำสัญญาอนุญาตให้บริษัท อ. ดำเนินกิจการให้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่ทั่วประเทศ ซึ่งโจทก์ยื่นแบบแสดงรายการภาษีมูลค่าเพิ่มโดยนำรายรับจากผลประโยชน์ตอบแทนที่โจทก์ได้รับจากบริษัท อ. ทั้งจำนวนมาคำนวณเป็นมูลค่าของฐานภาษี ต่อมาได้มีการจัดเก็บภาษีสรรพสามิตดังนี้ เงินจำนวนเท่าภาษีสรรพสามิตซึ่งเรียกเก็บจากการให้บริการตามสัญญาอนุญาตดังกล่าวย่อมจะต้องนำมารวมเป็นมูลค่าของฐานภาษีดังที่บัญญัติไว้ในประมวลรัษฎากร มาตรา 79 วรรคหนึ่ง เป็นการเฉพาะแล้ว ส่วนที่คณะรัฐมนตรีมีมติให้ดำเนินการเพื่อให้มีการหักค่าภาษีสรรพสามิตออกจากส่วนแบ่งรายได้ที่คู่สัญญาต้องนำส่งให้โจทก์ซึ่งกระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศฯ เห็นว่า คู่สัญญาภาคเอกชนจะต้องชำระผลประโยชน์ตอบแทนจนเต็มจำนวนตามอัตราที่กำหนดไว้ในสัญญา ทั้งนี้ คู่สัญญาภาคเอกชนมีสิทธินำเงินค่าภาษีที่ได้ชำระแล้วดังกล่าวตลอดทั้งปี (ไม่รวมดอกเบี้ย ค่าปรับ หรือเงินเพิ่มใด ๆ) มาหักออกจากจำนวนเงินผลประโยชน์ตอบแทนที่ต้องจ่ายให้คู่สัญญาภาครัฐเมื่อสิ้นปีดำเนินการได้นั้น มิได้มีผลทำให้ต้องมีการเปลี่ยนแปลงแก้ไขสัญญาในเรื่องการลดจำนวนเงินผลประโยชน์ตอบแทนที่บริษัทคู่สัญญาต้องจ่ายแก่โจทก์ และแม้บริษัท อ. จะใช้วิธีนำค่าภาษีสรรพสามิตที่ชำระให้แก่กรมสรรพสามิตไปแล้วมาหักออกจากผลประโยชน์ตอบแทนที่จ่ายให้โจทก์ซึ่งเป็นเหตุให้โจทก์ไม่ได้รับเงินสดส่วนนี้ แต่การหักหนี้กันเองเช่นนี้ย่อมส่งผลให้สิทธิเรียกร้องของบริษัทคู่สัญญาในอันที่จะนำเงินค่าภาษีสรรพสามิตมาหักออกจากเงินผลประโยชน์ตอบแทนที่ต้องจ่ายให้โจทก์เมื่อตอนสิ้นปีดำเนินการตามมติคณะรัฐมนตรีนั้นระงับลง ประโยชน์จากการหักหนี้ดังกล่าวจึงต้องถือว่าเป็นประโยชน์ใด ๆ ซึ่งอาจคิดคำนวณได้เป็นเงินที่โจทก์ได้รับแล้วอันเป็นส่วนหนึ่งของฐานภาษีตามมาตรา 79 วรรคสอง มติคณะรัฐมนตรีดังกล่าวเป็นเพียงแนวทางดำเนินการระหว่างคู่สัญญาด้วยกันเอง จึงเป็นคนละส่วนกับความรับผิดในการเสียภาษีมูลค่าเพิ่มของโจทก์ที่เกิดขึ้นตั้งแต่ขณะที่โจทก์ได้รับชำระค่าบริการ ตามมาตรา 78/1 (1) มติคณะรัฐมนตรีจึงมิได้มีผลเป็นการลบล้างหรือเปลี่ยนแปลงความรับผิดในการเสียภาษีมูลค่าเพิ่มตามกฎหมายของโจทก์ เงินค่าภาษีสรรพสามิตที่บริษัทคู่สัญญาหักออกจากเงินผลประโยชน์ตอบแทนที่ต้องจ่ายแก่โจทก์ จึงย่อมเป็นส่วนหนึ่งของมูลค่าของฐานภาษีมูลค่าเพิ่มและถือเป็นรายรับที่โจทก์ได้รับจริงแล้ว

แหล่งที่มา กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

 

ปรับปรุงล่าสุด: 15-02-2021