เมนูปิด

คำพิพากษาฎีกาที8335/2559 
บริษัทกุลเทค เอ็นจิเนียริ่ง จำกัดโจทก์
กรมสรรพากรจำเลย
เรื่อง คำสั่งทางปกครอง
กฎหมายที่เกี่ยวข้องพระราชบัญญัติวิธีปฎิบัติราชการทางปกครอง พ.ศ.2539 มาตรา 5 มาตรา 37

ประมวลรัษฎากร มาตรา 27 จัตวา

คำสั่งที่จะเป็นคำสั่งทางปกครองตามพระราชบัญญัติวิธีปฏิบัติราชการทางปกครอง พ.ศ.2539 มาตรา 5 วรรคสาม (1) และ (2) นอกจากจะต้องเป็นคำสั่งในเรื่องการใช้อำนาจตามกฎหมายของเจ้าหน้าที่แล้ว ยังจะต้องมีผลเป็นการสร้างนิติสัมพันธ์ขึ้นระหว่างบุคคลในอันที่จะก่อ เปลี่ยนแปลง โอน สงวน ระงับหรือมีผลกระทบต่อสถานภาพของสิทธิหรือหน้าที่ของบุคคลด้วย ทั้งนี้ไม่ว่าจะเป็นการถาวรหรือชั่วคราว เมื่อพิจารณาหนังสือสำนักงานสรรพากรพื้นที่กรุงเทพมหานคร 24 ลงวันที่ 18 สิงหาคม 2553 แจ้งให้โจทก์นำส่งเอกสาร และหนังสือสำนักงานสรรพากรภาค 3 ลงวันที่ 13 มีนาคม 2555 ขอเชิญโจทก์พบและให้นำส่งเอกสารหลักฐาน หนังสือทั้งสองฉบับดังกล่าวยังมิได้มีผลเป็นการสร้างนิติสัมพันธ์อันใดขึ้นระหว่างกรมสรรพากรและโจทก์ผู้ขอคืนภาษีอากรที่โจทก์อ้างว่า เมื่อเจ้าพนักงานเรียกให้ส่งเอกสารแล้วหากไม่ปฏิบัติตามจะก่อให้เกิดนิติสัมพันธ์ตามกฎกระทรวง ฉบับที่ 161 (พ.ศ.2526) ออกตามความใน ประมวลรัษฎากร ว่าด้วยการให้ดอกเบี้ยแก่ผู้ได้รับคืนเงินภาษีอากรที่กำหนดให้ระงับการคิดดอกเบี้ยตั้งแต่วันสุดท้ายของเวลาที่เจ้าพนักงานสั่งการ นั้น การระงับการคิดดอกเบี้ยในกรณีดังกล่าว หาใช่เป็นผลมาจากการสั่งให้ส่งเอกสารของเจ้าพนักงานโดยตรง หากแต่เป็นผลสืบเนื่องมาจากเหตุที่ผู้ขอคืนภาษีอากรไม่ปฏิบัติตามคำสั่งของเจ้าพนักงาน อันทำให้ต้องระงับการคิดดอกเบี้ยโดยผลบังคับของกฎกระทรวงฉบับที่ 161 ถือไม่ได้ว่าคำสั่งเรียกให้ส่งเอกสารของเจ้าพนักงานได้ก่อให้เกิดนิติสัมพันธ์ที่มีผลกระทบต่อสถานภาพของสิทธิหรือหน้าที่ของผู้ขอคืนภาษีอากรดังนั้น การออกหนังสือพิพาททั้งสองฉบับของเจ้าพนักงานให้ส่งเอกสารหลักฐานอันควรแก่เรื่องเพื่อประกอบการพิจารณาในการคืนภาษีอากรตาม ประมวลรัษฎากร มาตรา 27 จัตวา จึงเป็นเพียงการเตรียมการและการดำเนินการของเจ้าพนักงานเพื่อจะนำไปสู่การออกคำสั่งทางปกครองต่อไปว่าจะมีคำสั่งคืนเงินค่าภาษีอากรแก่โจทก์หรือไม่ ซึ่งอยู่ในความหมายของคำว่า "การพิจารณาทางปกครอง" ตามมาตรา 5 วรรคสอง แห่ง พระราชบัญญัติวิธีปฏิบัติราชการทางปกครองฯ หนังสือพิพาททั้งสองฉบับจึงไม่เป็นคำสั่งทางปกครอง ย่อมไม่จำต้องระบุเหตุผลตามมาตรา 37

แหล่งที่มา กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

 

ปรับปรุงล่าสุด: 15-02-2021