เลขที่หนังสือ | : กค 0702/พ./5571 |
วันที่ | : 26 มิถุนายน 2556 |
เรื่อง | : ภาษีมูลค่าเพิ่ม กรณีการประเมินและขอคืนภาษีมูลค่าเพิ่ม |
ข้อกฎหมาย | : มาตรา 88 มาตรา 88/6 มาตรา 89 และมาตรา 84 แห่งประมวลรัษฎากร |
ข้อหารือ |
บริษัทฯ ประกอบกิจการส่งออกและขายเสื้อผ้าในประเทศ ซึ่งบริษัทฯ ส่งออกซื้อผ้าไปต่างประเทศมากกว่าขายภายในประเทศ จึงเป็นเหตุให้มีภาษีซื้อมากกว่าภาษีขายและมีภาษีชำระไว้เกินตั้งแต่เดือนภาษีกรกฎาคม 2540 เป็นต้นมา โดยบริษัทฯ จะนำเครดิตภาษีที่เหลืออยู่ในแต่ละเดือนภาษีไปชำระภาษีมูลค่าเพิ่มในเดือนภาษีถัดไป แต่ในเดือนภาษีมิถุนายน 2554 บริษัทฯ ได้ยื่นแบบแสดงรายการภาษีมูลค่าเพิ่ม (ภ.พ.30) ขอคืนภาษีมูลค่าเพิ่มเป็นเงินสดจำนวนทั้งสิ้น 7,278,402.55 บาท โดยยกเครดิตภาษีตั้งแต่เดือนภาษีกรกฎาคม 2540 พันยอดติดต่อกันมาจนถึงเดือนภาษีมิถุนายน 2554 บริษัทฯ จึงขอทราบ ดังนี้
1. กรณีเจ้าพนักงานประเมินตรวจพบว่า มีใบกำกับภาษีบางส่วนไม่สามารถขอคืนได้ ซึ่งเกินกว่า 2 ปี แต่ไม่เกินร้อยละ 25 ของฐานภาษีที่แสดงในแบบ ภ.พ.30 เจ้าพนักงานมีอำนาจประเมินเบี้ยปรับ เงินเพิ่มในส่วนภาษีมูลค่าเพิ่ม ตามมาตรา 88/6 แห่งประมวลรัษฎากร ได้หรือไม่ 2. กรณีบริษัทฯ ขอคืนภาษีมูลค่าเพิ่มที่เป็นเครดิตภาษีเกินกว่า 3 ปี บริษัทฯ มีสิทธิขอคืนภาษีมูลค่าเพิ่ม ตามมาตรา 84 ประกอบกับมาตรา 83 แห่งประมวลรัษฎากร หรือไม่ |
แนววินิจฉัย |
บริษัทฯ ได้ยื่นแบบ ภ.พ.30 แสดงยอดซื้อ ภาษีซื้อแจ้งไว้เกิน ถือว่าบริษัทฯ ยื่นแบบ ภ.พ.30 ไว้ไม่ถูกต้องมีข้อผิดพลาดอันเป็นเหตุให้จำนวนภาษีซื้อในเดือนภาษีที่แสดงไว้คลาดเคลื่อนไป เจ้าพนักงานประเมินจึงมีอำนาจประเมินภาษีมูลค่าเพิ่ม ตามมาตรา 88(2) และมาตรา 88/6 วรรคสอง แห่งประมวลรัษฎากร โดยบริษัทฯ ต้องรับผิดเสียเบี้ยปรับอีกหนึ่งเท่าของจำนวนภาษีซื้อที่แสดงไว้เกินไป และเป็นเหตุให้จำนวนภาษีที่ต้องเสียในเดือนภาษีคลาดเคลื่อนไป จึงต้องรับผิดเสียเบี้ยปรับอีกหนึ่งเท่าของเงินภาษีที่เสียคลาดเคลื่อน ตามมาตรา 89(3) และ (4) แห่งประมวลรัษฎากร
กรณีบริษัทฯ ได้ยื่นแบบ ภ.พ.30 ขอคืนภาษีมูลค่าเพิ่มเป็นเครดิตภาษีตั้งแต่เดือนภาษีกรกฎาคม 2540 และยกเครดิตภาษีพันยอดติดต่อกันมาจนถึงเดือนภาษีมิถุนายน 2554 เมื่อบริษัทฯ ไม่ประสงค์จะยกยอดเครดิตภาษีของเดือนภาษีดังกล่าวไปใช้ในเดือนภาษีกรกฎาคม 2554 อีกต่อไป บริษัทฯ มีสิทธิขอคืนภาษีมูลค่าเพิ่มพร้อมกับการยื่นแบบ ภ.พ.30 ของเดือนภาษีมิถุนายน 2554 ได้ตามมาตรา 84 แห่งประมวลรัษฎากร ประกอบกับพระราชกฤษฎีกาออกตามความในประมวลรัษฎากร ว่าด้วยการนำเครดิตภาษีที่เหลืออยู่ในแต่ละเดือนภาษีไปชำระภาษีมูลค่าเพิ่มได้ (ฉบับที่ 242) พ.ศ. 2534 เจ้าพนักงานประเมินต้องทำการประเมินภาษีภายในกำหนดเวลา 2 ปีนับแต่วันสุดท้ายแห่งกำหนดเวลายื่นแบบแสดงรายการภาษี แต่ในกรณีที่มีเหตุอันควรเชื่อว่าผู้ประกอบการยื่นแบบแสดงรายการไม่ถูกต้องตามความเป็นจริงหรือไม่สมบูรณ์ เจ้าพนักงานประเมินโดยอนุมัติอธิบดี สามารถประเมินภาษีได้ภายในกำหนดเวลา 5 ปีนับแต่วันสุดท้ายแห่งกำหนดเวลายื่นแบบแสดงรายการภาษี ตามมาตรา 88/6 แห่งประมวลรัษฎากร |
เลขตู้ | : 76/38667 |