เมนูปิด
เลขที่หนังสือ: กค 0702(กม.06)/พ./5462
วันที่: 24 มิถุนายน 2556
เรื่อง: ภาษีมูลค่าเพิ่ม กรณีการขอคืนภาษีมูลค่าเพิ่มจากการจดทะเบียนโดยสำคัญผิดในข้อกฎหมาย
ข้อกฎหมาย: มาตรา 81/1(ฌ) มาตรา 84/1(2) และมาตรา 86 แห่งประมวลรัษฎากร
ข้อหารือ           1. บริษัทฯ มีสำนักงานตั้งอยู่จังหวัดอุตรดิตถ์ จดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่ม เมื่อวันที่ 6 สิงหาคม 2551 ประกอบกิจการ บริการให้คำปรึกษาทางธุรกิจและจัดการ มีนาย ณ. เป็นกรรมการบริษัทฯ
          2. บริษัทฯ ได้ยื่นคำร้องขอถอนทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่มและขีดชื่อออกจากทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่ม โดยให้เหตุผลว่า บริษัทฯ ประกอบกิจการรับจ้างว่าความให้กับผู้ว่าจ้างแต่เพียงอย่างเดียว ไม่มีหน้าที่ในการเร่งรัดหนี้ติดตามทวงถามหนี้สิน กิจการดังกล่าวเข้าลักษณะเป็นการให้บริการว่าความหรือว่าต่าง แก้ต่างคดีในศาล ได้รับยกเว้นภาษีมูลค่าเพิ่มตามมาตรา 81(1)(ฌ) แห่งประมวลรัษฎากร บริษัทฯ ไม่ต้องแจ้งต่ออธิบดีกรมสรรพากร เพื่อขอจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่มและเสียภาษีมูลค่าเพิ่ม ตามมาตรา 81/3 แห่งประมวลรัษฎากร จึงเป็นการสำคัญผิดในข้อกฎหมาย โดยสรรพากรภาคได้อนุมัติให้ถอนทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่ม ตั้งแต่วันที่ 29 ตุลาคม 2553 และ สท.ได้ขีดชื่อบริษัทฯ ออกจากทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่มแล้ว เมื่อวันที่ 24 พฤศจิกายน 2553
แนววินิจฉัย           1. การประกอบกิจการของบริษัทฯ เข้าลักษณะเป็นการให้บริการการว่าความ ซึ่งได้รับยกเว้นภาษีมูลค่าเพิ่ม ตามมาตรา 81(1)(ฌ) แห่งประมวลรัษฎากร จึงไม่มีสิทธิเข้าสู่ระบบภาษีมูลค่าเพิ่มได้ แต่เมื่อบริษัทฯ ได้จดทะเบียนเป็นผู้ประกอบการจดทะเบียนในอัตราร้อยละ 7.0 และได้เสียภาษีมูลค่าเพิ่มตั้งแต่เดือนภาษีพฤศจิกายน 2551 เป็นต้นมาไว้แล้ว ต่อมาบริษัทฯ ได้ยื่นคำร้องขอถอนทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่มต่อสำนักงานสรรพากรพื้นที่ โดยสรรพากรภาคได้อนุมัติให้ถอนทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่ม ตั้งแต่วันที่ 29 ตุลาคม 2553 และ สท.ได้ขีดชื่อบริษัทฯ ออกจากทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่มแล้วเมื่อวันที่ 24 พฤศจิกายน 2553 บริษัทฯ จึงมีสิทธิขอคืนภาษีมูลค่าเพิ่ม โดยยื่นคำร้องตามแบบ ค.10 ภายใน 3 ปี นับแต่วันที่ได้ชำระภาษี ตามมาตรา 84/1(2) แห่งประมวลรัษฎากร
          2. บริษัทฯ ไม่มีสิทธิที่จะออกใบกำกับภาษีเพื่อเรียกเก็บภาษีมูลค่าเพิ่มสำหรับค่าบริการการว่าความจากผู้ว่าจ้างตามมาตรา 86 แห่งประมวลรัษฎากร การที่บริษัทฯ ออกใบกำกับภาษีโดยไม่มีสิทธิออกตามกฎหมายต้องรับผิดในภาษีมูลค่าเพิ่ม ตามจำนวนที่ปรากฎในใบกำกับภาษี ตามมาตรา 86/13 แห่งประมวลรัษฎากร และแม้ว่าบริษัทฯ ได้เสียภาษี มูลค่าเพิ่มตามใบกำกับภาษีไปแล้ว ก็ยังคงต้อง รับผิดเสียเบี้ยปรับอีกสองเท่าของจำนวนภาษีตามใบกำกับภาษีนั้น ตามมาตรา 89(6) แห่งประมวลรัษฎากร และมีความรับผิดทางอาญา ตามมาตรา 90/4(3) แห่งประมวลรัษฎากร
เลขตู้: 76/38659

 

ปรับปรุงล่าสุด: 22-05-2020