เมนูปิด
เลขที่หนังสือ: กค 0702/5433
วันที่: 24 มิถุนายน 2556
เรื่อง: ภาษีเงินได้นิติบุคคลและภาษีมูลค่าเพิ่ม กรณีการใช้บริการของบริษัทต่างประเทศ
ข้อกฎหมาย: มาตรา 70 และมาตรา 83/6 แห่งประมวลรัษฎากร
ข้อหารือ           บริษัทฯ จดทะเบียนจัดตั้งขึ้นตามกฎหมายไทย บริษัทฯ ประสงค์จะใช้บริการบีบอัดสัญญาณโทรทัศน์ ส่งสัญญาณโทรทัศน์ขึ้นสู่ดาวเทียม บริการช่องสัญญาณดาวเทียมและบริการอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง จึงได้ตกลงทำสัญญาให้บริการกับ L ซึ่งเป็นบริษัทที่จดทะเบียนจัดตั้งขึ้นตามกฎหมายของประเทศสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาวและไม่มีสาขาหรือสถานประกอบการในประเทศไทย
แนววินิจฉัย           1. ภาษีเงินได้นิติบุคคล           1. ภาษีเงินได้นิติบุคคล กรณี L ซึ่งเป็นบริษัทที่จดทะเบียนจัดตั้งขึ้นตามกฎหมายของประเทศสาธารณรัฐประชาธิปไตย-ประชาชนลาว ไม่มีสาขาหรือสถานประกอบการในประเทศไทย แต่ให้บริการบีบอัดสัญญาณโทรทัศน์ ส่งสัญญาณโทรทัศน์ขึ้นสู่ดาวเทียม บริการช่องสัญญาณดาวเทียมและบริการอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องนอกประเทศไทย ซึ่งเงินได้จากการให้บริการดังกล่าวเข้าลักษณะเป็นเงินได้พึงประเมิน ตามมาตรา 40(8) แห่งประมวลรัษฎากร ที่จ่ายจากประเทศไทย เมื่อ L ได้รับเงินได้พึงประเมินดังกล่าวที่จ่ายจากประเทศไทย จึงไม่อยู่ในบังคับต้องเสียภาษีเงินได้นิติบุคคล ตามมาตรา 70 แห่งประมวลรัษฎากร ดังนั้น เมื่อบริษัทฯ จ่ายเงินได้ดังกล่าวออกไป จึงไม่มีหน้าที่ต้องหักและนำส่งภาษีแต่อย่างใด
          2. ภาษีมูลค่าเพิ่ม กรณีการจ่ายเงินค่าบริการตามข้อเท็จจริงดังกล่าวให้แก่บริษัทซึ่งจดทะเบียนตามกฎหมายของต่างประเทศและมิได้ประกอบกิจการในประเทศไทย เข้าลักษณะเป็นการจ่ายค่าบริการให้แก่ผู้ประกอบการที่อยู่นอกราชอาณาจักร ซึ่งได้ให้บริการในต่างประเทศและได้มีการใช้บริการนั้นในราชอาณาจักร ดังนั้น บริษัทฯ จึงมีหน้าที่นำส่งภาษีมูลค่าเพิ่ม ตามมาตรา 83/6(2) แห่งประมวลรัษฎากร โดยจะต้องนำส่งเงินภาษีพร้อมยื่นแบบ ภ.พ. 36 ภายในเจ็ดวัน นับแต่วันสิ้นเดือนของเดือนที่จ่ายเงิน ตามมาตรา 83/6 วรรคสอง แห่งประมวลรัษฎากร ประกอบกับ ข้อ 4 ของประกาศกระทรวงการคลัง เรื่อง ขยายกำหนดเวลาการนำส่งภาษีเงินได้หัก ณ ที่จ่าย การนำส่งภาษีเงินได้ การนำส่งภาษีมูลค่าเพิ่มและการยื่นรายการ ลงวันที่ 24 กรกฎาคม พ.ศ. 2544 และเนื่องจากภาษีมูลค่าเพิ่มที่บริษัทฯ นำส่งถือเป็นภาษีซื้อของบริษัทฯ ตามมาตรา 77/1(18)(ค) แห่งประมวลรัษฎากร และใบเสร็จรับเงินที่กรมสรรพากรออกให้สำหรับการรับชำระภาษีมูลค่าเพิ่มที่ได้นำส่งดังกล่าว ถือเป็นใบกำกับภาษีตามมาตรา 86/14 แห่งประมวลรัษฎากร ดังนั้น บริษัทฯ จึงมีสิทธินำภาษีส่งมาหักออกจาก ภาษีขายในการคำนวณภาษีมูลค่าเพิ่ม ตามมาตรา 82/3 แห่งประมวลรัษฎากร
เลขตู้: 76/38662

 

ปรับปรุงล่าสุด: 22-05-2020