เมนูปิด
เลขที่หนังสือ: กค 0702/5493
วันที่: 25 มิถุนายน 2556
เรื่อง: ภาษีเงินได้หัก ณ ที่จ่าย และภาษีมูลค่าเพิ่ม กรณีมหาวิทยาลัยในต่างประเทศรับจ้างศึกษาและจัดทำข้อมูลโครงการ
ข้อกฎหมาย: มาตรา 43/6(1) แห่งประมวลรัษฎากร
ข้อหารือ           ก. ได้จ้างศูนย์วิจัยประเทศเดนมาร์ก (ศูนย์วิจัยฯ) ให้ศึกษาและจัดทำข้อมูลโครงการการวินิจฉัยปัญหาระบบนิเวศป่าชายเลนระหว่างพรมแดนในภูมิภาคอินโดจีน (TDA-IME Project) ภายใต้การสนับสนุนเงินทุนจากองค์การพัฒนาความร่วมมือระหว่างประเทศของรัฐบาลสวีเดน ( The Swedish Internetational Development Cooperation Agency - SIDA ) (SIDA ) ตั้งแต่วันที่ 1 พฤศจิกายน 2555 ถึงวันที่ 31 มีนาคม 2556 โดยทางศูนย์วิจัยฯ จะส่งเจ้าหน้าที่เข้ามาดำเนินงานในประเทศไทยเป็นบางครั้ง ซึ่งตามข้อกำหนดและขอบเขตงานภายใต้สัญญาดังกล่าว มีดังนี้
          1. ร่วมมือกับ ก. และประเทศที่เข้าร่วมโครงการ ทบทวนและวิเคราะห์สาเหตุของปัญหาข้ามพรมแดนที่มีผลกระทบต่อชนิดพันธ์และระบบนิเวศในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้
          2. จัดเตรียมให้คณะที่ปรึกษาเดินทางเยี่ยมเยือน ก. และประเทศที่เข้าร่วมในโครงการเพื่อ รวบรวมข้อมูลรายละเอียดเพิ่มเติม และปรึกษาหารือกับสถาบันและผู้เชี่ยวชาญที่เกี่ยวข้อง
          3. พัฒนาสังเคราะห์ความเชื่อมโยง (Synthesis matrix) ของประเด็นหลัก และปัญหาภัยคุกคาม เพื่อใช้เป็นแนวทางในการวินิจฉัยปัญหาระบบนิเวศป่าชายเลนข้ามพรมแดน
          4. จำแนกจัดลำดับความสำคัญของพื้นที่ที่จะต้องเข้าไปดำเนินการในอนาคตโดยประเทศต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง
          5. จัดทำร่างรายงานโครงการ (Draft TDA IME Report) สำหรับผู้เชี่ยวชาญในการประชุมเชิงปฏิบัติการครั้งที่ 3 เพื่อทำการทบทวนตรวจสอบและปรับปรุงร่างรายงานให้เหมาะสม
          6. ส่งเสริมความร่วมมือระหว่างผู้มีส่วนร่วมในโครงการ TDA IME กับโครงการอื่นๆ ในภูมิภาคและโปรแกรมงานที่ดำเนินการเกี่ยวข้องกับระบบนิเวศชายฝั่งและหัวข้อประเด็นข้ามพรมแดน และโดยเฉพาะอย่างยิ่งความร่วมมือในพื้นที่เครือข่าย การแลกเปลี่ยนข้อมูลข่าวสารการเสวนาเรื่องนโยบาย-วิทยาศาสตร์ และการเสริมสร้างสมรรถนะ
          นอกจากดำเนินงานตามขอบเขตงานดังกล่าวแล้ว ศูนย์วิจัยฯ ต้องจัดส่งผลงาน ดังนี้
          1. ร่างรายงานโครงการฉบับสุดท้าย (Draft final TDA IME Report) เพื่อให้ผู้เชี่ยวชาญทบทวนโดยละเอียด
          2. รายงานการประชุมเชิงปฏิบัติการครั้งที่ 3 พร้อมกับข้อมูลสนับสนุนครบถ้วน
          3. รายงานโครงการฉบับสมบูรณ์ (Final TDA IME Report) พร้อมทั้งข้อเสนอแนะจากการประชุมเชิงปฏิบัติการครั้งที่ 3
          4. ผลการสรุปโดยสังเขปของความคิดเห็นและข้อเสนอแนะเกี่ยวกับโอกาสและอุปสรรคที่จะพัฒนาแผนยุทธศาสตร์ปฏิบัติการที่จะกำหนดประเด็นลำดับความสำคัญของระบบนิเวศป่าชายเลน
          ก. จึงขอหารือ ดังนี้
          1. ศูนย์วิจัยฯ มีหน้าที่ต้องเสียภาษีเงินได้ในประเทศไทยหรือไม่ และเมื่อ ก. จ่ายค่าจ้างให้ศูนย์วิจัยฯ ต้องหักภาษี ณ ที่จ่าย หรือไม่
          2. ศูนย์วิจัยฯ ต้องเสียภาษีมูลค่าเพิ่มในประเทศไทยหรือไม่
แนววินิจฉัย
          กรณีศูนย์วิจัยฯ ให้บริการที่ปรึกษาตามสัญญาดังกล่าว มีภาระภาษี ดังนี้
          1. ภาษีเงินได้นิติบุคคล กรณีศูนย์วิจัยฯ ซึ่งจัดตั้งขึ้นตาม The University Act แห่งราชอาณาจักรเดนมาร์ก ได้ส่งเจ้าหน้าที่เข้ามาดำเนินงานในประเทศไทยเป็นครั้งคราว ในระหว่างวันที่ 1 พฤศจิกายน 2555 ถึงวันที่ 31 มีนาคม 2556 ตามสัญญาว่าจ้างดังกล่าว เพื่อศึกษาและจัดทำข้อมูลโครงการการวินิจฉัยปัญหาระบบนิเวศป่าชายเลนระหว่างพรมแดนในภูมิภาคอินโดจีน (TDA-IME Project) การปฏิบัติตามขอบเขตของงานและการจัดส่งผลงานตามสัญญาดังกล่าว เข้าลักษณะเป็นกำไรจากธุรกิจ และโดยที่การให้บริการของทางศูนย์วิจัยฯ ยังถือไม่ได้ว่าเข้าลักษณะสถานประกอบการถาวรในประเทศไทย ศูนย์วิจัยฯ จึงได้รับยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคลในประเทศไทย ตามข้อ 5 และ ข้อ 7 แห่งอนุสัญญาระหว่างรัฐบาลแห่งราชอาณาจักรไทยและรัฐบาลแห่งราชอาณาจักรเดนมาร์ก เพื่อการเว้นการเก็บภาษีซ้อนและการป้องกันการเลี่ยงรัษฎากร ในส่วนที่เกี่ยวกับภาษีเก็บจากเงินได้ ประกอบกับมาตรา 3 แห่งพระราชกฤษฎีกา ออกตามความในประมวลรัษฎากร ว่าด้วยการยกเว้นรัษฎากร (ฉบับที่ 18) พ.ศ. 2505 ดังนั้น เมื่อ ก. จ่ายเงินได้ดังกล่าวจึงไม่มีหน้าที่ต้องหักภาษีจากเงินได้พึงประเมินที่จ่าย ตามมาตรา 70 แห่งประมวลรัษฎากร
          2. ภาษีมูลค่าเพิ่ม กรณีศูนย์วิจัยฯ เข้ามาให้บริการทำการศึกษาและจัดทำข้อมูลโครงการการวินิจฉัยปัญหาระบบนิเวศป่าชายเลนระหว่างพรมแดนในภูมิภาคอินโดจีน (TDA-IME Project) ให้แก่ ก. การให้บริการดังกล่าวเข้าลักษณะเป็นการให้บริการในราชอาณาจักร หากศูนย์วิจัยฯ ไม่ได้จดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่มในราชอาณาจักรเป็นการชั่วคราว ตามมาตรา 85/3 แห่งประมวลรัษฎากร ก. มีหน้าที่ต้องนำส่งภาษีมูลค่าเพิ่มที่ศูนย์วิจัยฯ มีหน้าที่เสียภาษีมูลค่าเพิ่ม ตามมาตรา 83/6(1) แห่งประมวลรัษฎากร ด้วยแบบนำส่งภาษีมูลค่าเพิ่ม (ภ.พ. 36) ณ ที่ว่าการอำเภอภายในเจ็ดวันนับแต่วันสิ้นเดือนที่จ่ายเงินได้ให้แก่ผู้ประกอบการในต่างประเทศ ตามมาตรา 83/6 วรรคสอง แห่งประมวลรัษฎากร ประกอบกับข้อ 4 ของประกาศกระทรวงการคลัง เรื่อง ขยายกำหนดเวลาการนำส่งภาษีเงินได้หัก ณ ที่จ่าย การนำส่งภาษีเงินได้ การนำส่งภาษีมูลค่าเพิ่ม และการยื่นรายการ ลงวันที่ 24 กรกฎาคม พ.ศ. 2544 ในอัตราร้อยละ 7.0 โดยคำนวณภาษีมูลค่าเพิ่มจากฐานภาษีและอัตราภาษีตามมาตรา 79 และมาตรา 80 แห่งประมวลรัษฎากร
เลขตู้: 76/38663

 

ปรับปรุงล่าสุด: 22-05-2020