เลขที่หนังสือ | : กค 0702/9144 | วันที่ | : 4 ธันวาคม 2557 | เรื่อง | : ภาษีเงินได้นิติบุคคลและภาษีมูลค่าเพิ่ม กรณีการรับจ้างให้บริการจัดการเรียนการสอนภาษาของโรงเรียนเอกชน | ข้อกฎหมาย | : มาตรา 42(17) กฎกระทรวง ฉบับที่ 126 ข้อ 2(1) แห่งประมวลรัษฎากร | ข้อหารือ |
กรณีการรับจ้างให้บริการจัดการเรียนการสอนภาษาของโรงเรียนเอกชนนอกระบบ ราย โรงเรียน ว.และโรงเรียน ส.โดยสรุปข้อเท็จจริงได้ดังนี้
1.เมื่อวันที่ 13 มิถุนายน 2557 อบจ.ผู้ว่าจ้าง ตกลงทำสัญญาจ้าง จำนวน 2 ฉบับ ดังนี้ 1.1 สัญญาจ้าง ระหว่าง อบจ.กับโรงเรียน ว. ผู้รับจ้าง มีนางสาว ด. เป็นผู้รับใบอนุญาตให้จัดตั้งโรงเรียน ว. ตกลงจ้างเหมาให้โรงเรียน ว..ดำเนินงานโครงการพัฒนาโรงเรียนในสังกัดองค์การบริหารส่วนจังหวัด สู่การเป็นโรงเรียน ที่มีความเป็นเลิศด้านภาษาของโรงเรียน ค. ตั้งแต่วันที่ 16 มิถุนายน 2557 ถึงวันที่ 15 มีนาคม 2558 ตามรายละเอียดแนบท้ายสัญญา 1.2 สัญญาจ้าง ระหว่าง อบจ.กับโรงเรียน ส.ผู้รับจ้าง ตกลงจ้างเหมาโรงเรียน ส.และภาษาดำเนินงานโครงการพัฒนาโรงเรียนในสังกัดองค์การบริหารส่วนจังหวัด สู่การเป็นโรงเรียนที่มีความเป็นเลิศด้านภาษาของโรงเรียน ว. ตั้งแต่วันที่ 16 มิถุนายน 2557 ถึงวันที่ 15 มีนาคม 2558 ตามรายละเอียดแนบท้ายสัญญา ทั้งนี้ ผู้รับจ้างทั้งสองราย แจ้งต่อ อบจ. ว่าการรับจ้างให้บริการจัดการเรียน การสอนภาษาของโรงเรียนเอกชนหรือโรงเรียนนอกระบบนั้น ได้รับยกเว้นภาษีเงินได้และภาษีมูลค่าเพิ่ม ตามมาตรา 42(17) แห่งประมวลรัษฎากร ประกอบกับข้อ 2(1) ของกฎกระทรวง ฉบับที่ 126 (พ.ศ. 2509) ออกตามความในประมวลรัษฎากร ว่าด้วยการยกเว้นรัษฎากร 2.อบจ.พิจารณาแล้วเห็นว่าเงินรายได้ของโรงเรียนราษฎร์ที่ได้รับยกเว้นไม่ต้องรวมคำนวณเพื่อเสียภาษีเงินได้ ต้องมิใช่เงินรายได้จากสัญญาจ้างทำของตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์และต้องมิใช่หลักสูตรที่ผู้ว่าจ้างกำหนดรายละเอียด ซึ่งกรณีสัญญาจ้างทั้งสองฉบับนี้ผู้รับจ้างทั้งสองรายได้รับจ้างเพื่อดำเนินงานตามโครงการดังกล่าวตามหลักสูตรที่ อบจ. เป็นผู้กำหนดรายละเอียด ด้วยเหตุดังกล่าว อบจ.เห็นว่าผู้รับจ้างทั้งสองรายอาจไม่ได้รับการยกเว้นภาษีเงินได้และภาษีมูลค่าเพิ่มตามประมวลรัษฎากร จึงขอหารือว่าผู้รับจ้างทั้งสองรายนั้นเป็นโรงเรียนที่ตั้งขึ้นตามกฎหมายว่าด้วยโรงเรียนราษฎร์หรือไม่ รายได้จากการจ้างเหมาดังกล่าวเข้าลักษณะเป็นการประกอบกิจการของโรงเรียนราษฎร์ซึ่งตั้งขึ้นตามกฎหมายว่าด้วยโรงเรียนราษฎร์ที่ได้รับการยกเว้นไม่ต้องรวมคำนวณเพื่อเสียภาษีเงินได้และได้รับยกเว้นภาษีมูลค่าเพิ่มตามประมวลรัษฎากรและตามกฎกระทรวงหรือไม่ อย่างไร | แนววินิจฉัย | กรณี อบจ.ทำสัญญาจ้าง กับโรงเรียน ว. ให้ดำเนินงานโครงการพัฒนาโรงเรียนในสังกัดองค์การบริหารส่วนจังหวัด สู่การเป็นโรงเรียนที่มีความเป็นเลิศด้านภาษาของโรงเรียน ค. และสัญญาจ้างกับโรงเรียน ส. ให้ดำเนินงานโครงการพัฒนาโรงเรียนในสังกัดองค์การบริหารส่วนจังหวัด สู่การเป็นโรงเรียนที่มีความเป็นเลิศด้านภาษาของโรงเรียนวัด ป. ซึ่งโรงเรียนทั้งสองแห่งเป็นโรงเรียนนอกระบบ ตามมาตรา 120 แห่งพระราชบัญญัติโรงเรียนเอกชน พ.ศ. 2550 หากการจัดการเรียนการสอนของโรงเรียนทั้งสองแห่งดังกล่าวเป็นการจัดการเรียนการสอนตามประเภทและลักษณะของโรงเรียนนอกระบบตามการจัดการเรียนการสอนและหลักสูตรของโรงเรียนนอกระบบตามมาตรา 120 แห่งพระราชบัญญัติโรงเรียนเอกชน พ.ศ. 2550 ประกอบกับประกาศคณะกรรมการส่งเสริมการศึกษาเอกชน เรื่อง การกำหนดประเภทและลักษณะของโรงเรียน การจัดการเรียนการสอนและหลักสูตรของโรงเรียนนอกระบบ ลงวันที่ 12 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2552 การจัดการเรียนการสอนของโรงเรียนทั้งสองแห่งจึงจะเข้าลักษณะเป็นการประกอบกิจการของโรงเรียนเอกชนซึ่งได้ตั้งขึ้นตามกฎหมายว่าด้วยโรงเรียนเอกชน ประกอบกับประกาศคณะกรรมการส่งเสริมการศึกษาเอกชนฯ ลงวันที่ 12 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2552 เงินได้ที่โรงเรียนทั้งสองแห่งได้รับตามสัญญาจ้างดังกล่าว จึงจะได้รับยกเว้นไม่ต้องรวมคำนวณเพื่อเสียภาษีเงินได้ตามมาตรา 42(17) แห่งประมวลรัษฎากร ประกอบกับข้อ 2(1) ของกฎกระทรวง ฉบับที่ 126 (พ.ศ. 2509)ฯ และได้รับยกเว้นภาษีมูลค่าเพิ่ม สำหรับการประกอบกิจการให้บริการการศึกษาของโรงเรียนเอกชนตามกฎหมายว่าด้วยโรงเรียนเอกชน ตามมาตรา 81(1)(ช) แห่งประมวลรัษฎากร | เลขตู้ | : 77/39417 |