เมนูปิด

คำพิพากษาฎีกาที่3111/2554 
กรมสรรพากรโจทก์
บริษัทเซ็นทรัลพาราวู้ด จำกัด กับพวกจำเลย
เรื่อง
กฎหมายที่เกี่ยวข้องประมวลรัษฎากร มาตรา 237 , 240 ,
โจทก์ฟ้อง ขอให้เพิกถอนการโอนหุ้นตามใบหุ้นเลขที่ 13000001 ถึง 18000000 ให้บริษัทพาราโฮลดิ้ง จำกัด ของจำเลยที่ 1 ซึ่งโอนให้แก่จำเลยที่ 2 กลับคืนมาเป็นทรัพย์สินของจำเลยที่ 1 หากจำเลยที่ 2 ไม่ยอมโอนให้แก่จำเลยที่ 1ให้ถือคำสั่งศาลของจำเลยที่ 2
จำเลยทั้งสองให้การ ขอให้ยกฟ้อง ศาลชั้นต้นพิพากษาให้เพิกถอนการโอนหุ้นตามใบหุ้นเลขที่ 13000001 ถึง 18000000 ของบริษัทพาราโฮลดิ้ง จำกัด ระหว่างจำเลยที่ 1 กับจำเลยที่ 2หากไม่ปฏิบัติตาม ให้ถือเอาคำพิพากษาแทนการแสดงเจตนาของจำเลยทั้งสอง ให้จำเลยทั้งสองร่วมกันใช้ค่าฤชาธรรมเนียมแทนโจทก์ โดยกำหนดค่าทนายความ 3,000 บาท
จำเลยทั้งสองอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 2 พิพากษายืน ให้จำเลยทั้งสองใช้ค่าทนายความชั้นอุทธรณ์ แทนโจทก์ 1,500 บาท
จำเลยทั้งสองฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า "…ข้อเท็จจริงที่คู่ความไม่โต้แย้งกันในชั้นฎีการับฟังเป็นยุติว่า โจทก์เป็นนิติบุคคลตามกฎหมายมีฐานะเป็นกรมในสังกัดกระทรวงการคลัง มีหน้าที่จัดเก็บภาษีอากรให้รัฐ ขณะยื่นฟ้องคดีนี้ โจทก์มีนายศุภรัตน์ ควัฒน์กุล เป็นอธิบดี จำเลยที่ 1 เป็นนิติบุคคลประเภทบริษัทจำกัด ประกอบกิจการผลิตและส่งออกเฟอร์นิเจอร์ จดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่มตามประมวลรัษฎากรไว้ที่สำนักงานสรรพากรพื้นที่ชลบุรี 1 สาขาพนัสนิคม เมื่อเดือนกันยายน 2539 จำเลยที่ 1 ยื่นแบบแสดงรายการเสียภาษีมูลค่าเพิ่ม ต่อมาสำนักงานสรรพากรพื้นที่ชลบุรี 1 ได้ตรวจสอบการเสียภาษีพบว่าจำเลยที่ 1 ค้างชำระค่าภาษีอากรแก่โจทก์ตั้งแต่เดือนกันยายน 2539 ถึงเดือนธันวาคม 2540 จึงส่งเจ้าหน้าที่เข้าตรวจสถานประกอบการของจำเลยที่ 1 พบว่าจำเลยที่ 1 ได้โอนขายกิจการให้แก่บริษัทพาราวู้ด คอร์ปอเรชัน
(เวิลด์ไวด์) จำกัด ไปแล้วเมื่อวันที่ 3 ตุลาคม 2539 จึงได้ทำหนังสือเชิญกรรมการจำเลยที่ 1 พบเพื่อให้ชี้แจง รวม 3 ครั้ง กรรมการจำเลยที่ 1 เพิกเฉยไม่มาพบโจทก์จึงประเมินภาษีอากรค้างชำระแล้วส่งหนังสือแจ้งการประเมินไปให้จำเลยที่ 1 ทราบจำเลยที่ 1 ได้รับหนังสือเมื่อวันที่ 17 สิงหาคม 2541 ไม่ได้อุทธรณ์โต้แย้งการประเมินและไม่ชำระหนี้ดังกล่าวให้แก่โจทก์ ฝ่ายกฎหมายโจทก์ตรวจสอบข้อมูลเพื่อเร่งรัดการเก็บภาษีพบว่า จำเลยที่ 1 มีทรัพย์สินคงเหลือเป็นหุ้นในบริษัทพาราโฮลดิ้ง จำกัด 5,000,000 หุ้น ซึ่งมีมูลค่าตราไว้หุ้นละ 10 บาท รวมเป็นเงิน 50,000,000 บาท ต่อมาวันที่ 2 ตุลาคม 2544 จำเลยที่ 1 โอนขายหุ้นทั้งหมดให้แก่จำเลยที่ 2 ซึ่งเป็นผู้ถือหุ้นเดิมของจำเลยที่ 1 และบริษัทพาราโฮลดิ้งจำกัด ในราคา 2,287,700 บาท คำนวณถึงวันฟ้องจำเลยที่ 1มีหนี้ภาษีอากรค้าง ชำระรวมเบี้ยปรับเป็นเงินทั้งสิ้น 1,638,639 บาท
ปัญหาที่ต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยทั้งสองประการแรกมีว่า จำเลยที่ 1 ได้กระทำนิติกรรมโอนขายหุ้นให้แก่จำเลยที่ 2 ทั้งรู้อยู่ว่าจะเป็นทางทำให้โจทก์ซึ่งเป็นหนี้เสียเปรียบ และจำเลยที่ 2 ได้รู้เท่าถึงข้อความจริงดังกล่าวหรือไม่จำเลยทั้งสองฎีกาว่า การโอนขายหุ้นระหว่างจำเลยที่ 1 กับที่ 2 เป็นไปโดยสุจริตตามแนวทางการค้าปกติ เนื่องจากจำเลยที่ 1 ประสงค์จะได้เงินมาใช้ต่อสู้คดีที่ถูกเจ้าหนี้ทั้งหลายฟ้องเรียกเงิน ไม่ได้มีเจตนาทำให้โจทก์เสียเปรียบหรือฉ้อฉลโจทก์ จำเลยที่ 2 ไม่เคยทราบว่า จำเลยที่ 1 ถูกโจทก์ประเมินให้ชำระภาษีมูลค่าเพิ่มจำเลยที่ 2 รับซื้อหุ้นดังกล่าวไว้เนื่องจากเห็นว่าจำเลยที่ 1 ไม่สามารถหาแหล่งเงินทุนอื่นได้ จำเป็นต้องขายทรัพย์สินเพื่อนำเงินมาเป็นค่าใช้จ่ายในการประนอมหนี้
และต่อสู้คดีเพื่อประโยชน์แก่เจ้าหนี้ทั้งปวงรวมทั้งโจทก์ด้วย ประกอบกับข้อบังคับของ บริษัทพาราโฮลดิ้ง จำกัด กำหนดให้ขายหุ้นแก่ผู้ถือหุ้นเดิม จึงเป็นการรับซื้อโดยสุจริต เห็นว่า นิติกรรมที่ลูกหนี้ได้กระทำลงที่จะเป็นทางให้เจ้าหนี้เสียเปรียบอันเป็นกรณีที่จะเพิกถอนการฉ้อฉลได้ตามมาตรา 237 แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ย่อมมีความหมายว่า ลูกหนี้ได้กระทำนิติกรรมอันมีวัตถุเป็นสิทธิในทรัพย์สิน ทำให้ เจ้าหนี้เสียเปรียบและลูกหนี้รู้ว่าเจ้าหนี้เสียเปรียบ ซึ่งจะต้องดูเจตนาของลูกหนี้ จากพฤติการณ์การกระทำเป็นสำคัญ จำเลยที่ 1 ค้างชำระค่าภาษีอากรตั้งแต่เดือน
กันยายน 2539 ถึงเดือนธันวาคม 2540 โจทก์มีหนังสือเรียกให้กรรมการจำเลยที่ 1 เข้าชี้แจงถึง 3 ครั้ง จำเลยที่ 1 เพิกเฉยไม่เจ้าชี้แจง โจทก์ส่งหนังสือแจ้งการประเมินเรียกให้ชำระภาษีที่ค้าง จำเลยที่ 1 ได้รับหนังสือแล้วไม่อุทธรณ์คัดค้านการประเมินและไม่ชำระหนี้ พฤติการณ์แสดงถึงเจตนาที่จะหลีกเลี่ยงการชำระภาษีแก่โจทก์ จำเลยที่ 1 โอนขายทรัพย์สินหลักอันเป็นกิจการ ที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้างไปแล้วตั้งแต่ปี 2539 ย่อมต้องทราบดีว่าตนไม่มีทรัพย์สินอื่นที่จะชำระหนี้โจทก์ ได้อีก นอกจากหุ้นในบริษัทพาราโฮลดิ้ง จำกัด อันเป็นทรัพย์ที่เหลืออยู่ แต่กลับ โอนขายหุ้นดังกล่าวให้แก่จำเลยที่ 2 แม้จำเลยที่ 1 จะอ้างความจำเป็นที่ต้องขายหุ้น เพื่อนำเงินไปเป็นค่าใช้จ่ายในการต่อสู้คดีที่ถูกเจ้าหนี้อื่นฟ้องร้องดำเนินคดีและบางราย มีการประนอมหนี้กันแล้วก็ตาม ก็เป็นการที่จำเลยที่ 1 เลือกที่จะชำระหนี้แก่เจ้าหนี้ คนหนึ่งคนใด ซึ่งแม้จะเป็นเจ้าหนี้ตามคำพิพากษาและมีคำบังคับให้ชำระหนี้แล้วก็ตาม เมื่อจำเลยที่ 1 รู้อยู่แล้วในขณะนั้นว่าเป็นหนี้โจทก์และไม่มีทรัพย์สินอื่นพอชำระหนี้แก่โจทก์ เห็นได้ชัดว่าเป็นการทำให้เจ้าหนี้ที่ได้รับชำระหนี้ได้เปรียบ ส่วนโจทก์ เป็นฝ่ายเสียเปรียบ จำเลยที่ 2 เป็นผู้ถือหุ้นรายใหญ่ของจำเลยที่ 1 จึงเป็นผู้มีส่วน ได้เสียโดยตรงในทรัพย์สินและกิจการงานของจำเลยที่ 1 ข้อที่ว่าที่จำเลยที่ 1 ประสบภาวะขาดทุนอย่างหนักจนถึงขั้นต้องหยุดประกอบกิจการและจำต้องขายที่ดินพร้อม สิ่งปลูกสร้างให้แก่ผู้อื่น ในปี 2539 เป็นเรื่องสำคัญและกระทบกระเทือนถึงประโยชน์ของผู้ถือหุ้นของจำเลยที่ 1 ทุกคน จำเลยที่ 2 ย่อมต้องทราบดี ซึ่งนอกจากจะถือหุ้น ของจำเลยที่ 1 แล้ว ยังได้ความว่าจำเลยที่ 2 ถือหุ้นในบริษัทพาราโฮลดิ้ง จำกัด ซึ่งมีนายทนงศักดิ์ หุตานุวัตร เป็นกรรมการผู้จัดการ โดยปรากฏจากหนังสือรับรองเอกสารหมาย ล.2 ว่านายทนงศักดิ์เคยเป็นกรรมการผู้มีอำนาจกระทำการแทนจำเลยที่ 1 ตั้งแต่เริ่มก่อตั้งเมื่อปี 2531 จนถึงต้นเดือนธันวาคม ปี 2539 ที่หยุดประกอบกิจการ จำเลยที่ 1 ได้รับหนังสือแจ้งการประเมินภาษีจากโจทก์วันที่ 27 สิงหาคม 2541
ไม่ชำระภาษี แต่กลับปรากฏจากรายงานการประชุมของจำเลยที่ 1 เอกสารหมาย ล.9 ว่ามีการเสนอให้ที่ประชุมกรรมการจำเลยที่ 1 พิจารณาขายหุ้นบริษัท พาราโฮลดิ้ง จำกัด ที่จำเลยที่ 1 ถืออยู่จำนวน 5,000,000 หุ้น ให้แก่จำเลยที่ 2 และ ที่ประชุมลงมติขายหุ้นดังกล่าวเมื่อวันที่ 22 มกราคม 2542 ซึ่งเป็นเวลาหลังจากที่จำเลยที่ 1 ถูกประเมินเรียกเก็บภาษีจากโจทก์ไม่นาน และต่อมามีการทำหนังสือสัญญาโอนหุ้นเอกสารหมาย ล.15 โดยนายทนงศักดิ์ลงลายมือชื่อเป็นผู้อนุมัติตามพฤติการณ์ชี้ว่า จำเลยทั้งสองกับบริษัทพาราโฮลดิ้ง จำกัด มีความสัมพันธ์เกี่ยวข้อง
กัน จำเลยที่ 2 เองก็รับว่า รับซื้อหุ้นดังกล่าวเนื่องจากจำเลยที่ 1 จำเป็นที่จะต้องใช้เงินต่อสู้คดีที่ถูกเจ้าหนี้ฟ้องร้องและใช้ในการประนอมหนี้อันเป็นประโยชน์แก่เจ้าหนี้ ทั้งหลายรวมทั้งโจทก์ด้วย จึงน่าจะต้องทราบรายละเอียดภาระหนี้ทั้งหมดที่จำเลยที่ 1 มีอยู่ รวมถึงเรื่องที่จำเลยที่ 1 ถูกประเมินเรียกเก็บภาษี และที่อ้างว่ารับซื้อหุ้นไว้เพราะจำเลยที่ 2 ทราบว่าจะมีกลุ่มนายทุนใหญ่จะเข้ามาลงทุนในบริษัทพาราโฮลดิ้ง จำกัด ซึ่งจะทำให้กิจการของบริษัทดีขึ้นนั้น เรื่องดังกล่าวหากเป็นความจริง จำเลย ที่ 1 เองก็ย่อมที่จะทราบ จึงไม่ควรที่จะขายหุ้นดังกล่าวให้จำเลยที่ 2 ในราคาถูก ทั้งยินยอมให้จำเลยที่ 2 ผ่อนชำระค่าหุ้นถึง 3 ปี พฤติการณ์การโอนหุ้นมีลักษณะเป็นการกระทำเพื่อหลีกเลี่ยงไม่ให้โจทก์ยึดหุ้นดังกล่าวเพื่อบังคับชำระหนี้ภาษีอากร ที่จำเลยที่ 1 ค้างชำระแก่โจทก์โดยสมรู้กัน จำเลยที่ 2 รับโอนหุ้นมาโดยรู้ถึงความจริง ดังกล่าวนั้น จึงเป็นการรับโอนโดยรู้เท่าถึงข้อความจริงอันเป็นทางให้โจทก์ ซึ่งเป็นเจ้าหนี้เสียเปรียบ ถือไม่ได้ว่าเป็นการรับโอนโดยสุจริต ฎีกาของจำเลยทั้งสองข้อนี้ฟังไม่ขึ้น
ปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยทั้งสองข้อต่อไปมีว่า ฟ้องโจทก์ขาดอายุความหรือไม่ ปัญหานี้จำเลยทั้งสองฎีกาว่า จำเลยที่ 2 มีหนังสือลงวันที่ 19 มิถุนายน 2545 ถึงอธิบดีกรมสรรพากรและสรรพากรพื้นที่ 7 ตามเอกสารหมาย จ.24 คัดค้านการยึดทรัพย์ และเจ้าหน้าที่ของโจทก์ลงเลขรับเมื่อวันที่ 20 มิถุนายน 2545 ที่โจทก์นำสืบว่าโจทก์ทราบเรื่องการโอนหุ้นเมื่อวันที่ 23 ธันวาคม 2545 ขัดกับวันที่ลงรับในเอกสารดังกล่าว เมื่อโจทก์ไม่ได้นำสืบว่าโจทก์ทราบเหตุอันเป็นมูลให้ฟ้องคดีเมื่อใด จึงต้องถือว่าโจทก์รู้เหตุอันเป็นมูล ให้เพิกถอนนิติกรรมการซื้อขายระหว่างจำเลยทั้งสองนับแต่วันที่ได้รับหนังสือของจำเลยที่ 2 โจทก์นำคดีนี้มาฟ้องเมื่อวันที่ 9 กรกฎาคม 2546 พ้นกำหนด 1 ปี แล้ว จึงขาดอายุความ เห็นว่า ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 240 การฟ้องขอให้เพิกถอนการฉ้อฉล กฎหมายห้ามมิให้ฟ้องเมื่อพ้นหนึ่งปีนับแต่เวลาที่เจ้าหนี้ได้รู้เหตุอันเป็นมูลให้เพิกถอน ซึ่งเหตุอันเป็นมูล ให้เพิกถอนนี้ย่อมหมายถึงเงื่อนไขดังที่บัญญัติไว้ในมาตรา 237 ที่ว่า ลูกหนี้กระทำนิติกรรมที่จะเป็นทางให้เจ้าหนี้เสียเปรียบ และลูกหนี้รู้ว่านิติกรรมดังกล่าวทำให้เจ้าหนี้
เสียเปรียบ ดังนั้น แม้จะได้ความว่า จำเลยที่ 2 ได้ส่งหนังสือคัดค้านการยึดทรัพย์ กรรมสิทธิ์ในหุ้นของบริษัทพาราโฮลดิ้ง จำกัด ตามเอกสารหมาย จ.24 ถึงโจทก์ และเจ้าหนี้ที่ของโจทก์ได้ลงเลขรับหนังสือเมื่อวันที่ 20 มิถุนายน 2545 เนื้อความในเอกสารดังกล่าวก็เป็นเพียง
เรื่องที่จำเลยที่ 2 แจ้งโจทก์ว่าหุ้นดังกล่าวเป็นทรัพย์สินของจำเลยที่ 2 ขอคัดค้านการยึดเท่านั้น แม้ต่อมาโจทก์ได้ถอนการยึดหุ้นดังกล่าวตามประกาศโจทก์เอกสารหมาย จ.26 จะเอาเหตุนี้มาหมายรวมว่า โจทก์ได้ทราบเหตุอันเป็นมูลให้เพิกถอนการโอนหุ้นระหว่างจำเลยที่ 1 และที่ 2 นับแต่วันที่ที่ลงรับในหนังสือดังกล่าวมิได้ โจทก์เป็นนิติบุคคลโดยเป็นกรมในรัฐบาลผู้มีอำนาจกระทำการแทนโจทก์หรือฟ้องคดีแทนโจทก์ คือ อธิบดี เมื่อข้อเท็จจริงจากทางนำสืบโจทก์ โดยนายเชาวนรัศ สารพัฒน์ ฝ่ายเร่งรัดหนี้สิน สำนักงานสรรพากรฟื้นที่ชลบุรี 1พยานโจทก์เบิกความว่า
เมื่อตรวจสอบทราบว่า จำเลยที่ 1 ที่ 2 และบริษัทพาราโฮลดิ้ง จำกัด มีความผูกพันกัน การโอนหุ้นของบุคคลทั้งสามจึงน่าจะรู้กัน และทำให้โจทก์ เสียเปรียบ จึงได้มีหนังสือสรรพากรภาค 5 ให้ดำเนินคดีกับจำเลยทั้งสองตาม เอกสารหมาย จ.32 โดย ได้ความจากเอกสารหมาย จ.2 และ จ.3 ว่า นายอัษฎางค์ ศรีศุภรพันธ์สรรพากรภาค 5 เป็นผู้มีอำนาจสั่งและปฏิบัติราชการแทนอธิบดีกรมสรรพากรในส่วนที่เกี่ยวข้องกับการดำเนินคดีของโจทก์ ซึ่งนายอัษฎางค์ได้ลงนามเห็นชอบดำเนินการตามข้อเสนอในเอกสารหมาย จ.32 เมื่อวันที่ 23 ธันวาคม 2545 โดยจำเลยทั้งสองมิได้นำหักล้างข้อเท็จจริงส่วนหนี้ให้ฟังเป็นอื่น จึงต้องถือว่าโจทก์ได้รู้เหตุอันเป็นมูลให้เพิกถอนนิติกรรมการโอนขายหุ้นระหว่างจำเลยทั้งสองในวันดังกล่าว โจทก์ฟ้องคดีเมื่อวันที่ 9 กรกฎาคม 2545 ยังไม่พ้น 1 ปี คดีโจทก์จึงไม่ขาดอายุความ ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 2 พิพากษามานั้น ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วยในผล ฎีกาของจำเลยทั้งสองข้อนี้ฟังไม่ขึ้น"
พิพากษายืน ให้จำเลยทั้งสองร่วมกันใช้ค่าทนายความชั้นฎีกา 1,500 บาทแทนโจทก์

ศาลฎีกา/ย่อ

 

ปรับปรุงล่าสุด: 14-02-2021