เมนูปิด

การจัดเก็บภาษีอากรในสมัยรัชกาลที่ 7 เป็นต้นมาจนถึงปัจจุบัน (พ.ศ. 2468 - ปัจจุบัน)

แต่เดิมในตอนต้นรัชกาลที่ 7 การจัดเก็บภาษีอากรยังคงคล้ายคลึงกับในสมัยก่อน ภายหลังจากที่คณะราษฎร์ได้มีการปฏิรูปการปกครองแผ่นดิน ในปี พ.ศ. 2475 ได้มีการออกพระราชบัญญัติในการจัดเก็บภาษีขึ้นใหม่ ดังนี้

  1. พระราชบัญญัติภาษีเงินเดือน พ.ศ. 2475
  2. พระราชบัญญัติภาษีเงินได้ พ.ศ. 2475
  3. พระราชบัญญัติภาษีการค้า พ.ศ. 2475
  4. พระราชบัญญัติอากรแสตมป์ พ.ศ. 2475
  5. พระราชบัญญัติภาษีโรงเรือนและที่ดิน พ.ศ. 2475
  6. พระราชบัญญัติภาษีการธนาคารและประกันภัย พ.ศ. 2476
  7. พระราชบัญญัติภาษีอากรมรดกและอากรทางรับ มรดก พ.ศ. 2476

แต่กฎหมายในการจัดเก็บเกี่ยวกับภาษีอากรในขณะนั้นยังมิได้มีการรวบรวมเข้าเป็นฉบับเดียวกัน ได้มีการแยกการจัดเก็บออกเป็นตามพระราชบัญญัติข้างต้น ต่อมารัฐบาลในขณะนั้น มีนโยบายนำลัทธิชาตินิยมมาใช้เป็นเครื่องมือในการผลักดันการพัฒนาเศรษฐกิจและได้เน้นให้ประชาชนเห็นความสำคัญของภาษีด้วยการกำหนดให้เป็นหน้าที่ของประชาชนไว้ในรัฐธรรมนูญ รวมทั้งอันตรายที่อาจเกิดขึ้น จากการปล่อยให้กิจกรรมทางเศรษฐกิจตกอยู่ในมือของต่างชาติ รวมทั้งได้มีการวางแนวทางในการจัดเก็บภาษีตามความสามารถในการเสียภาษีของประชาชน กำหนดรูปแบบภาษีสมัยใหม่โดยมีเทคนิคและวิธีการคำนวณเป็นแบบสมัยใหม่ ซึ่งได้แก่การกำหนดฐานการคำนวณภาษี อัตราภาษี วิธีการคำนวณ การให้หักค่าใช้จ่าย ค่าลดหย่อน ฯลฯ ได้มีการรวบรวมกฎหมาย การจัดเก็บเป็นหมวดหมู่บรรจุไว้เป็นกฎหมายประมวลรัษฎากร ฉบับปี พ.ศ. 2481 ทั้งนี้ โดยกระทรวงการคลังได้มีการออกพระราชบัญญัติให้ใช้บทบัญญัติ แห่งประมวลรัษฎากร พ.ศ. 2482 เป็นต้นไป และตามพระราชบัญญัตินี้ได้มีการให้ยกเลิกกฎหมายภาษีอากรหลายฉบับคือ

 

  1. พระราชบัญญัติรัชชูปการ พ.ศ. 2468
  2. พระราชบัญญัติลักษณะเก็บเงินค่านา ร.ศ. 119
  3. พระราชบัญญัติลักษณะการเก็บภาษีค่าที่ไร่อ้อย พ.ศ. 2464
  4. พระราชบัญญัติเปลี่ยนวิธีเก็บภาษียา ร.ศ. 119
  5. ประกาศพระราชทานยกเลิกอากร สวนใหญ่ค้างเก่าและเดินสำรวจต้นผลไม้ใหม่สำหรับเก็บเงินอากรสวนใหญ่ ร.ศ. 130
  6. พระราชบัญญัติภาษีเงินได้ พ.ศ. 2475
  7. พระราชบัญญัติภาษีการค้า พ.ศ. 2475
  8. พระราชบัญญัติภาษีการธนาคารและการประกันภัย พ.ศ. 2476
  9. บรรดาพิกัดอัตรา ข้อบังคับ กฎ ประกาศ และบทกฎหมายอื่นซึ่งออกเพื่อแก้ไขเพิ่มเติมหรือดำเนินการตามกฎหมายดังกล่าวข้างต้น
  10. พระราชบัญญัติอากรแสตมป์ พ.ศ. 2475 สำหรับภาษีอากรที่อยู่ในบังคับจัดเก็บโดยตรง และอยู่ในความควบคุมของกรมสรรพากรในขณะนั้น มีดังนี้คือ

- ภาษีตามประมวลรัษฎากร ได้แก่

  1. ภาษีเงินได้
  2. ภาษีการธนาคารและการประกันภัย
  3. ภาษีโรงค้า
  4. อากรแสตมป์
  5. อากรมหรสพ
  6. เงินช่วยบำรุงท้องที่
  7. เงินช่วยการประถมศึกษา

- ภาษีอากรตามกฎหมายอื่น ได้แก่

  1. พระราชบัญญัติอากรฆ่าสัตว์
  2. พระราชบัญญัติอากรรังนกอีแอ่น
  3. พระราชบัญญัติอากรค่าน้ำ
  4. ประกาศจัดเก็บภาษีเรือ โรงร้าน ตึก แพ
  5. พระราชบัญญัติอากรมรดก

พระราชบัญญัติภาษีโรงเรือนและที่ดิน ครั้นเมื่อวันที่ 8 ธันวาคม พ.ศ. 2485 ได้เกิดสงครามมหาเอเชียบูรพาขึ้น และในระหว่างนั้น รัฐบาลจำเป็นจะต้องใช้เงิน จึงได้มีการออกกฎหมายเพื่อให้มีการจัดเก็บภาษีนำมาช่วยชาติในยามคับขันหลายประเภทคือ

- พระราชบัญญัติเงินช่วยชาติการประถมศึกษา

- พระราชบัญญัติเงินช่วยชาติภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา

- พระราชบัญญัติเงินช่วยชาติภาษีโรงค้า

- พระราชบัญญัติเงินช่วยชาติจากการซื้อข้าว

- พระราชบัญญัติเงินช่วยชาติอากรแสตมป์

- พระราชบัญญัติเงินช่วยชาติอากรมหรสพ

- พระราชบัญญัติเงินช่วยชาติอากรโรงแรม ภัตตาคาร

เมื่อสงครามโลกสงบลงในปี พ.ศ. 2489 รัฐบาลได้ประกาศยกเลิกพระราชบัญญัติเงินช่วยชาติทั้งหมด โดยได้เปลี่ยนแปลงเป็นภาษีการซื้อข้าว ภาษีการซื้อน้ำตาล ภาษีโรงแรมและภัตตาคารรวมอยู่ในส่วนหนึ่งของประมวลรัษฎากร นับแต่นั้นมา ได้มีการแก้ไขเปลี่ยนแปลงประมวลรัษฎากรหลายครั้ง โดยครั้งสำคัญในปี พ.ศ. 2496ได้มีประกาศใช้ พ.ร.บ. แก้ไขเพิ่มเติมประมวลรัษฎากร (ฉบับที่ 10) พ.ศ. 2496 แก้ไขหลักการจัดเก็บจากเดิมอย่างมากมาย โดยได้ยกเลิกภาษีโรงค้า ภาษีการซื้อข้าว ภาษีการซื้อน้ำตาล ภาษีโรงแรมและภัตตาคาร ภาษีธนาคาร เครดิตฟองซิเอร์ การออมสิน และการะประกันภัย และได้จัดเก็บภาษีอากรประเภทใหญ่ๆ ดังนี้คือ

1. ภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา

2. ภาษีเงินได้นิติบุคคล

3. ภาษีการค้า

4. อากรมหรสพ

5. ภาษีป้าย

6. อากรแสตมป์

7. ภาษีบำรุงท้องที่

8. ภาษีการซื้อโภคภัณฑ์

โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ภาษีการค้าได้วางหลักการจัดเก็บจากรายรับหรือจากยอกการขายทุกทอด (Multiple Stages Tax) และภาษีการซื้อโภคภัณฑ์ จัดเก็บจากสินค้าฟุ่มเฟือยบางประเภท ซึ่งมีลักษณะคล้ายคลึงกับ Purchase Tax ของประเทศอังกฤษ นับว่าเป็นการเปลี่ยนแปลงหลักการจัดเก็บภาษีอากรครั้งสำคัญของประเทศไทย

กฎหมายประมวลรัษฎากร ได้ถูกแก้ไขปรับปรุงให้สอดคล้องกับการพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศอย่างต่อเนื่อง โดยครั้งหลังสุดในปี พ.ศ. 2535 รัฐบาลได้เริ่มนำระบบภาษีมูลค่าเพิ่ม และภาษีธุรกิจเฉพาะมาใช้ในการจัดเก็บแทนภาษีการค้า ที่มีปัญหาการจัดเก็บที่ซ้ำซ้อนไม่เป็นธรรม และไม่สนับสนุน ต่อภาคการส่งออกของประเทศ ในขณะเดียวกันได้มีการแก้ไขเพิ่มเติมการให้หักค่าใช้จ่าย ค่าลดหย่อนภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา การปรับปรุงอัตราการจัดเก็บภาษีเงินได้นิติบุคคลให้สอดคล้องกับการพัฒนาเศรษฐกิจภายในประเทศมาอย่างต่อเนื่อง เป็นต้น โดยการปรับปรุงแก้ไขประมวลรัษฎากรนั้น มีทั้งการยกเลิกภาษีที่ไม่เหมาะสม การเพิ่มภาษีประเภทใหม่ขึ้น และการแก้ไขเพิ่มเติมข้อความเดิมให้ทันสมัยและรัดกุมยิ่งขึ้น จนในปัจจุบันมีกฎหมายภาษีอากรและภาษีอากรที่อยู่ในความรับผิดชอบของกรมสรรพากร ดังนี้

- พระราชบัญญัติให้ใช้บทบัญญัติแห่งประมวลรัษฎากร พ.ศ. 2481 มีภาษีอากรประเภทต่างๆตามประมวลรัษฎากร ดังนี้

1. ภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา

2. ภาษีเงินได้นิติบุคคล

3. ภาษีมูลค่าเพิ่ม

4. ภาษีธุรกิจเฉพาะ

5. อากรแสตมป์ ตึกสูงในย่านธุรกิจ

- ภาษีอากรตามกฎหมายอื่นได้แก่

1. พระราชบัญญัติอากรรังนกอีแอ่น พ.ศ. 2482 กำหนดให้จัดเก็บอากรรังนกอีแอ่น

2. พระราชบัญญัติภาษีเงินได้ปิโตรเลียม พ.ศ. 2514 กำหนดให้จัดเก็บภาษีเงินได้ปิโตรเลียม

ที่มา :: หนังสือที่ระลึกในการเปิดอาคารกรมสรรพากร 2 กันยายน 2540

 

ปรับปรุงล่าสุด: 12-07-2020