เมนูปิด

การจัดเก็บภาษีอากรในสมัยกรุงศรีอยุธยา (พ.ศ. 1893 - พ.ศ. 2310)

ในสมัยกรุงศรีอยุธยาได้มีการจารึกในประวัติศาสตร์ว่า เป็นยุคที่มีการจัดเก็บภาษีอากรรุ่งเรืองมาก การก่อตั้งกรุงศรีอยุธยาเริ่มขึ้นในปี พ.ศ. 1893 ตั้งแต่สมัยพระเจ้าอู่ทอง ได้สร้างพระนครขึ้นที่ริมหนองโสน แล้วทำการราชาภิเษกทรงพระนามว่า สมเด็จพระรามาธิบดี ขนานนามราชธานีว่า กรุงเทพทวาราวดีศรีอยุธยา ในช่วงตลอดอายุกรุงศรีอยุธยา เป็นเวลา 417 ปี บ้านเมืองมีทั้งความเจริญและความเสื่อม ในสมัยที่บ้านเมืองเจริญรุ่งเรืองมาก คือ สมัยสมเด็จพระรามาธิบดี สมเด็จพระนเรศวรมหาราช สมเด็จพระนารายณ์มหาราช และสมเด็จพระบรมไตรโลกนาถ แต่ในบางรัชสมัยพระมหาธรรมราชาและพระเพทราชา การจัดเก็บภาษีอากรในสมัยกรุงศรีอยุธยา หรือที่เรียกกันในสมัยนั้นว่า ส่วยสาอากร ได้มีการแบ่งการจัดเก็บออกเป็น 4 ประเภท คือ จังกอบ อากร ส่วย และฤชา โดยมีรายละเอียดดังนี้

1. จังกอบ หรือ จำกอบ เป็นภาษีที่เรียกเก็บจากการชักส่วนสินค้า ที่นำเข้ามาจำหน่ายตามที่ได้อธิบายข้างต้น

2. อากร หมายถึง ส่วนที่เก็บจากผลประโยชน์ที่ราษฎรทำมาหาได้ในการประกอบการต่างๆเช่น ทำนา ทำไร่ ทำสวน ฯลฯ หรือการได้รับสิทธิจากรัฐบาลไปกระทำการ เช่น ต้มกลั่นสุรา เก็บของในป่า จับปลาในน้ำ ฯลฯ เช่น อากรค่านา อากรสวน อากรสุรา อากรค่าน้ำ เป็นต้น การเก็บอากรอาจจัดเก็บเป็นตัวเงินหรือเป็นสิ่งของ ถือเป็นภาษีที่จัดเก็บตามหลักผลประโยชน์ที่ได้รับจากรัฐไม่ทางตรงก็ทางอ้อม

3. ส่วย ความหมายของส่วย สมเด็จฯกรมพระยาดำรงราชานุภาพได้ทรงสันนิษฐานว่า คำว่า ส่วย

- สิ่งของที่รัฐบาลเรียกร้องเอาจากเมืองที่อยู่ภายใต้ปกครอง หรืออยู่ในความคุ้มครองเป็นค่าตอบแทนการปกครองหรือคุ้มครอง ส่วยตามความหมายนี้จึงมีลักษณะเป็นเครื่องราชบรรณาการ

- เงินช่วยราชการตามที่กำหนดเรียกเก็บจากราษฎรชายที่มิได้รับราชการทหารเป็นรายบุคคล เนื่องจากสังคมไทยแต่ดั้งเดิม มีระบบเกณฑ์แรงงานจากราษฎร โดยรัฐไม่ต้องจ่ายค่าจ้าง แต่จะให้ความคุ้มครองทางกฎหมายเป็นการตอบแทน ทั้งนี้เดิมราษฎรที่ถูกเกณฑ์แรงงาน จะมาประจำการเป็นเวลาปีละ 6 เดือน โดยผู้ที่ไม่มารับราชการเมื่อถึงเวรของตน จะต้องเสียส่วยเรียกว่า ส่วยแทนแรง เพื่อที่ราชการจะได้จ้างคนมาทำงานแทน ส่วยแทนแรง เพื่อที่ราชการจะได้จ้างคนมาทำงานแทน ส่วยแทนแรงนี้ได้ถูกเปลี่ยนชื่อเป็นเงินรัชชูปการในระยะต่อมา ( รัชกาลที่ 6 )

- เงินที่ทางราชการกำหนดให้ราษฎรร่วมรับภาระในการกระทำบางอย่าง เช่น เกณฑ์ให้ช่วยสร้างป้อมปราการ เป็นต้น

- ทรัพย์มรดกของผู้มรณภาพซึ่งต้องถูกริบเป็นของหลวง อันเนื่องจากเกินกำลังของทายาทที่จะเอาไว้ใช้สอย เป็นต้น

4. ฤชา คือค่าธรรมเนียมที่ทางราชการเรียกเก็บจากราษฎรซึ่งได้รับประโยชน์จากรัฐเป็นการเฉพาะตัว เช่น ผู้ใดจะขอโฉนดตราสาร เพื่อมิให้ผู้อื่นบุกรุกแย่งชิงที่เรือกสวนไร่นา จักต้องเสียฤชาแก่รัฐ เป็นต้น ฤชาที่สำคัญได้แก่ ค่าธรรมเนียม และค่าปรับทางการศาล

เมื่อพิจารณาตามลักษณะการจัดเก็บภาษีอากรข้างต้น จะเห็นว่ามีการจัดเก็บภาษีทั้งในรูปของการบังคับจัดเก็บจะได้รับประโยชน์ในทางอ้อม คือ กรณีจังกอบและส่วย ส่วนอีกกรณีหนึ่งคือในรูป ที่ผู้ถูกจัดเก็บจะได้รับผลประโยชน์จากรัฐโดยตรง คือ อากรและฤชา

ในขณะเดียวกัน เมื่อมีการศึกษาค้นคว้าถึงวิวัฒนาการในด้านการบริหารงานจัดเก็บในสมัยกรุงศรีอยุธยา จะพบว่าในรัชสมัยของสมเด็จพระบรมไตรโลกนาถ เป็นช่วงเวลาที่มีการปฏิรูประบบการปกครองแผ่นดินครั้งใหญ่ ทั้งในด้านการวางระเบียบทางการคลัง การส่วยสาอากร ฯลฯ โดยพระองค์ได้ทรงแบ่งการบริหารการปกครองออกเป็น 4 ส่วน เรียกว่า จตุสดมภ์ โดยแต่ละส่วนมีหน้าที่ดังนี้

  • เวียง เรียกว่า นครบาล มีหน้าที่ราชการปกครองท้องที่ และดูแลทุกข์สุขของราษฎรพลเมือง
  • วัง เรียกว่า ธรรมธิกรณ์ มีหน้าที่ว่าราชการศาลหลวง และว่าราชการอรรถคดีในพระราชสำนัก
  • คลัง เรียกว่า โกษาธิบดี มีหน้าที่ราชการจัดการพระราชทรัพย์ เก็บส่วยสาอากรซึ่งเป็นผลประโยชน์แผ่นดิน
  • นา เรียกว่า เกษตราธิบดี มีหน้าที่ปฏิบัติราชการเกี่ยวกับ เรื่องนาและสวน การเพาะปลูกพืชพันธุ์ธัญญาหาร ทั้งนี้โดยรูปแบบการบริหารงานฯของพระองค์ข้างต้น ได้ถูกใช้เป็นแบบอย่างรูปแบบการปกครองต่อเนื่องมาจนถึงปัจจุบัน

ที่มา :: หนังสือที่ระลึกในการเปิดอาคารกรมสรรพากร 2 กันยายน 2540

 

ปรับปรุงล่าสุด: 01-07-2020