เมนูปิด
เลขที่หนังสือ: กค 0702/2135
วันที่: 7 มีนาคม 2556
เรื่อง: ภาษีมูลค่าเพิ่ม กรณีการส่งออกน้ำมัน
ข้อกฎหมาย: มาตรา 80/1(1) แห่งประมวลรัษฎากร
ข้อหารือ           กรณีการตรวจคืนภาษีมูลค่าเพิ่มการส่งออกน้ำมัน ราย บริษัทฯ โดยมีข้อเท็จจริงดังนี้
          1. บริษัทฯ มีสถานประกอบการตั้งอยู่ที่จังหวัดสระบุรี จดทะเบียนเป็นนิติบุคคลเมื่อวันที่ 4 มีนาคม 2545 จดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่มเมื่อวันที่ 3 กันยายน 2553 ประกอบกิจการนำเข้าและส่งออกน้ำมันเชื้อเพลิง ถ่านหิน ก๊าซธรรมชาติ วัตถุอันตราย และผลิตภัณฑ์อย่างอื่นที่ก่อให้เกิดพลังงาน บริษัทฯ ยื่นแบบแสดงรายการภาษีมูลค่าเพิ่ม (ภ.พ.30) ไว้ดังนี้
               (1) เดือนภาษีกันยายน 2553 ถึงเดือนภาษีพฤศจิกายน 2553 บริษัทฯ แสดงยอดขายและยอดซื้อเป็นศูนย์
               (2) เดือนภาษีธันวาคม 2553 บริษัทฯ แสดงยอดขายจำนวน 3,082,702.74 บาท ซึ่งเป็นยอดขายที่เสียภาษีอัตราร้อยละ 0 จำนวน 3,077,702.74 บาท ยอดขายที่ต้องเสียภาษีอัตราร้อยละ 7.0 จำนวน 5,000 บาท ภาษีขายจำนวน 350 บาท ยอดซื้อจำนวน 2,876,357.70 บาท ภาษีซื้อจำนวน 201,345.04 บาท มีภาษีที่ชำระไว้เกินขอคืนเป็นเงินสดจำนวน 200,995.04 บาท
               (3) เดือนภาษีกรกฎาคม 2554 บริษัทฯ แสดงยอดขายจำนวน 1,189,840.00 บาท ซึ่งเป็นยอดขายที่เสียภาษีอัตราร้อยละ 0 ทั้งจำนวน ไม่มีภาษีขาย ยอดซื้อจำนวน 1,112,000.00 บาท ภาษีซื้อจำนวน 77,840.00 บาท มีภาษีที่ชำระไว้เกินขอคืนเป็นเงินสดจำนวน 77,840.00 บาท จากการตรวจคืนเงินภาษีมูลค่าเพิ่ม สำหรับเดือนภาษีกรกฎาคม 2554 พบว่า
               ด้านยอดขาย บริษัทฯ จำหน่ายสินค้า (น้ำมันดีเซลหมุนเร็ว) จำนวน 20 ตัน และน้ำมันเตาจำนวน 20 ตัน ให้กับบริษัท A ประเทศสิงคโปร์มียอดขายรวม 1,189,840.00 บาท ภาษีขายจำนวน 0.00 บาท ซึ่งน้ำมันเชื้อเพลิงทั้ง 2 ชนิด นำขึ้นและเก็บไว้ในเรือ COSMIC 10 ซึ่งเป็นเรือขนส่งระหว่างประเทศ เพื่อใช้เป็นเชื้อเพลิงสิ้นเปลืองในเรือ ในวันที่ 5 กรกฎาคม 2554 โดยจะเดินทางออกจากท่าเรือเกาะสีชังไปยังประเทศอินโดนีเซีย บริษัทฯ ได้รับชำระเงินค่าสินค้าด้วยวิธีโอนเงินเข้าบัญชีเงินฝากกระแสรายวัน ธนาคารกรุงไทย จำกัด ในชื่อของบริษัทฯ
               ด้านยอดซื้อ บริษัทฯ ได้โทรศัพท์สั่งซื้อน้ำมันดีเซลหมุนเร็ว 20 ตัน และน้ำมันเตา จำนวน 20 ตัน จากบริษัท ก. (บริษัท ก.) ที่จังหวัดสงขลา รวมมูลค่าสินค้า 1,112,000.00 บาท ภาษีมูลค่าเพิ่ม 77,840.00 บาท รวมมูลค่าทั้งสิ้นสินค้าทั้งสิ้น 1,189,840.00 บาท โดยบริษัท ก. จะดำเนินการติตต่อไปยังบริษัท ข. (บริษัท ข.) และบริษัท ข. จะจัดทำเอกสาร RECEIPT FOR MARINE BUNKER FUELS ออกให้บริษัท ก. สำหรับการจ่ายน้ำมันจากคลังของบริษัท ข. ไปส่งให้ลูกค้าของบริษัทฯ ที่เรือ โดยใช้เรือลำเลียงน้ำมันเพื่อไปเก็บไว้ในเรือของลูกค้าสำหรับใช้เป็นเชื้อเพลิงสิ้นเปลืองในเรือ ในการจัดส่งน้ำมันเชื้อเพลิงขึ้นเรือของลูกค้า บริษัท ข. จะเป็นผู้จัดทำเอกสารใบอนุญาตนำน้ำมันเชื้อเพลิงขึ้นเรือ ยื่นต่อสำนักงานศุลกากรท่าเรือแหลมฉบัง โดยเอกสารใบอนุญาตนำน้ำมันเชื้อเพลิงขึ้นเรือได้จัดทำในวันที่ 5 กรกฎาคม 2554 เพื่อขออนุญาตนำน้ำมันเชื้อเพลิงตามที่ระบุในเอกสารขึ้นเรือ ที่เกาะสีชังเพื่อใช้เป็นของใช้สิ้นเปลืองในเรือ และเรือดังกล่าวจะเดินทางไปประเทศอินโดนีเซียในวันที่ 5 กรกฎาคม 2554 ในการซื้อน้ำมันดังกล่าว บริษัทฯ ได้รับต้นฉบับใบกำกับภาษี/ต้นฉบับใบส่งของ และต้นฉบับใบแจ้งหนี้สำเนาใบกำกับภาษี ลงวันที่ 5 กรกฎาคม 2554 และต้นฉบับใบเสร็จรับเงิน ลงวันที่ 21 กรกฎาคม 2554 จากบริษัท ก.
               จึงหารือว่า การขายน้ำมันเชื้อเพลิงดังกล่าว บริษัทฯ ได้รับสิทธิเสียภาษีมูลค่าเพิ่มในอัตราร้อยละ 0 หรือไม่ และหากบริษัทฯ ต้องเสียภาษีมูลค่าเพิ่มต้องเสียจากยอดขายที่บริษัทฯ ได้ยื่นแบบ ภ.พ.30 ไว้หรือไม่ อย่างไร
แนววินิจฉัย           ผู้ประกอบการจดทะเบียนที่ซื้อน้ำมันและผลิตภัณฑ์น้ำมันตามกฎหมายว่าด้วยพิกัดอัตราภาษีสรรพสามิตจากผู้ผลิตและนำเข้า และได้ขายน้ำมันและผลิตภัณฑ์น้ำมันดังกล่าว ให้แก่ผู้ประกอบการให้บริการขนส่งระหว่างประเทศ ซึ่งจะได้รับสิทธิเสียภาษีมูลค่าเพิ่มในอัตราร้อยละ 0 ตามมาตรา 80/1 แห่งประมวลรัษฎากรนั้น ได้มีหลักเกณฑ์กำหนดไว้ในข้อ 12 ของคำสั่งกรมสรรพากรที่ ป.97/2543ฯ ลงวันที่ 15 มิถุนายน พ.ศ. 2543 ว่าจะต้องมีหลักฐานเพื่อให้เจ้าพนักงานสรรพากรตรวจสอบได้ ดังนี้
          1. หลักฐานที่แสดงว่าผู้ประกอบการให้บริการขนส่งระหว่างประเทศ ซื้อน้ำมันและผลิตภัณฑ์น้ำมันตามกฎหมายว่าด้วยพิกัดอัตราภาษีสรรพสามิต จากผู้ประกอบการจดทะเบียน
          2. หลักฐานที่แสดงว่าผู้ประกอบการจดทะเบียนซื้อน้ำมันและผลิตภัณฑ์น้ำมันตามกฎหมายว่าด้วยพิกัดอัตราภาษีสรรพสามิต จากผู้ผลิตหรือผู้นำเข้า
          3. หลักฐานของกรมศุลกากรที่แสดงว่าผู้ผลิตหรือผู้นำเข้าได้จัดทำใบอนุญาตนำน้ำมันและผลิตภัณฑ์น้ำมันตามกฎหมายว่าด้วยพิกัดอัตราภาษีสรรพสามิตขึ้นอากาศยานหรือลงเรือเดินทะเลหรือหลักฐานที่แสดงว่ากรมศุลกากรอนุญาตให้นำน้ำมันและผลิตภัณฑ์น้ำมัน ดังกล่าวขึ้นอากาศยานหรือลงเรือเดินทะเล
          4. หลักฐานที่แสดงว่าจะมีการชำระราคาค่าสินค้าตามใบกำกับสินค้า (Invoice) ในนามของผู้ประกอบการจดทะเบียน เช่น หลักฐานการเปิด L/C (Letter of Credit) หรือหลักฐานการจัดทำ T/T (Telex Transfer) หรือ T/P (Term of Payment) หรือ เอกสารที่ระบุว่านำเงินเข้าบัญชีธนาคารหรือ Bank Statement
          กรณีตามข้อเท็จจริง บริษัทฯ ได้ซื้อน้ำมันจาก บริษัท ก. ซึ่งมิใช่ผู้ผลิตหรือนำเข้าน้ำมัน การขายน้ำมันดังกล่าวของบริษัทฯ จึงไม่อยู่ในหลักเกณฑ์ที่จะได้รับสิทธิเสียภาษีมูลค่าเพิ่ม ในอัตราร้อยละ 0 ตามมาตรา 80/1(1) แห่งประมวลรัษฎากร
เลขตู้: 76/38501

 

ปรับปรุงล่าสุด: 22-05-2020