เมนูปิด
เลขที่หนังสือ: กค 0702/1984
วันที่: 5 มีนาคม 2556
เรื่อง: ภาษีเงินได้หัก ณ ที่จ่าย กรณีของดเงินเพิ่มของผู้ได้รับผลกระทบจากภัยพิบัติอุทกภัย
ข้อกฎหมาย: มาตรา 27 แห่งประมวลรัษฎากร
ข้อหารือ           1. บริษัทฯ มีสำนักงานใหญ่ตั้งอยู่เลขที่กรุงเทพมหานคร ประกอบกิจการให้คำปรึกษาและออกแบบสารสนเทศงานคอมพิวเตอร์ บริษัทฯ ได้ยื่นแบบแสดงรายการภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาหัก ณ ที่จ่าย (แบบ ภ.ง.ด.1)สำหรับเดือนพฤศจิกายน 2554 เมื่อวันที่ 28 ธันวาคม 2554 เกินกำหนดเวลาตามที่กฎหมายกำหนดจึงต้องรับผิดชำระเงินเพิ่มและเบี้ยปรับ แต่บริษัทฯ ได้ชำระเฉพาะตัวภาษีเท่านั้น สท. จึงได้ตั้งหนี้ค้างไว้สำหรับเงินเพิ่มตามใบแจ้งการค้างชำระภาษีอากร (บช.35) ลงวันที่ 28 ธันวาคม 2554 เป็นจำนวนเงิน 3,592.41 บาท (เฉพาะเงินเพิ่ม)
          2. บริษัทฯ ได้ยื่นคำร้องเมื่อวันที่ 9 ธันวาคม 2554 ชี้แจงว่า มีความประสงค์จะขอยกเว้นเงินเพิ่ม เนื่องจากเข้าใจผิดว่ามีการขยาย ระยะเวลาชำระภาษีเป็นวันที่ 30 ธันวาคม 2554 ตามข้อความที่ระบุใน Pay-in Slip จากการยื่นผ่านอินเทอร์เน็ตของบริษัท นวไพศาล จำกัด ซึ่งเป็นบริษัทในเครือเดียวกัน โดยในเอกสารไม่ได้มีการระบุว่า เฉพาะเขตพื้นที่น้ำท่วม และต่อมาภายหลังทราบว่า สถานที่ทำการของบริษัทฯ ไม่ได้อยู่ในท้องที่ที่เกิดภัยพิบัติอุทกภัย ทำให้ยื่นแบบ ภ.ง.ด.1 สำหรับเดือนพฤศจิกายน 2554 ล่าช้า เกินกำหนดเวลาตามที่กฎหมายกำหนด ต้องชำระเงินเพิ่มเป็นจำนวนเงิน 3,592.41 บาท
แนววินิจฉัย           กรณีบริษัทฯ มีสำนักงานใหญ่ตั้งอยู่ในพื้นที่ความรับผิดชอบของ สท.กรุงเทพมหานคร ซึ่งไม่ได้อยู่ในท้องที่ที่เกิดภัยพิบัติอุทกภัย เมื่อบริษัทฯ ยื่นแบบ ภ.ง.ด.1 สำหรับเดือนพฤศจิกายน 2554 ในวันที่ 28 ธันวาคม 2554 จึงเป็นการยื่นแบบ ภ.ง.ด.1 ล่าช้า ไม่เข้าหลักเกณฑ์ในการขยายกำหนดเวลาการนำส่งภาษีเงินได้หัก ณ ที่จ่าย และการยื่นรายการตามมาตรา 3 เตรส มาตรา 52 มาตรา 59 และมาตรา 69 ทวิ แห่งประมวลรัษฎากร สำหรับเดือนกันยายน 2554 เดือนตุลาคม2554 และเดือนพฤศจิกายน 2554 ซึ่งจะต้องนำส่ง และยื่นรายการภายในวันที่ 7 ของเดือนถัดไป ออกไปเป็นภายในวันที่ 30 ธันวาคม 2554 ตามข้อ 2.2.1 ของคำชี้แจงกรมสรรพากรฯ ลงวันที่ 20 ธันวาคม 2554เมื่อบริษัทฯ ได้ยื่นแบบ ภ.ง.ด.1 พร้อมนำส่งภาษีเงินได้หัก ณ ที่จ่าย เกินกำหนดเวลา บริษัทฯ ต้องรับผิดเสียเงินเพิ่มอีกร้อยละ 1.5 ต่อเดือนหรือเศษของเดือนของเงินภาษีที่ต้องนำส่ง ตามมาตรา 27 แห่งประมวลรัษฎากร สำหรับกรณีของดเงินเพิ่มไม่มีบทบัญญัติให้อำนาจกระทำได้
เลขตู้: 76/38487

 

ปรับปรุงล่าสุด: 22-05-2020