เมนูปิด
เลขที่หนังสือ: กค 0702/2794
วันที่: 27 มีนาคม 2556
เรื่อง: ภาษีเงินได้นิติบุคคลและภาษีมูลค่าเพิ่ม กรณีการให้บริการแยกและขนส่งก๊าซทางท่อ
ข้อกฎหมาย: มาตรา 65 มาตรา 77/1(10) มาตรา 77/2 มาตรา 79 มาตรา 80(2) และมาตรา 80/1 แห่งประมวลรัษฎากร
ข้อหารือ           1. บริษัทฯ ให้บริการแยกก๊าซและขนส่งก๊าซธรรมชาติทางท่อแก่บริษัท ป. จำกัด และบริษัท น. จดทะเบียนจัดตั้งขึ้นตามกฎหมายของประเทศมาเลเซียและมิได้ประกอบกิจการในประเทศไทย ซึ่งทั้งสองบริษัทเป็นผู้ซื้อก๊าซร่วมฝ่ายละร้อยละ 50 จากองค์กรร่วมไทย-มาเลเซีย และผู้ทำสัญญาแบ่งปันผลผลิตกับองค์กรร่วมไทย-มาเลเซีย จากแท่นผลิตก๊าซในทะเลในเขตพื้นที่พัฒนาร่วมไทย-มาเลเซีย (เขตพื้นที่พัฒนาร่วมฯ) โดยขนส่งทางท่อในทะเลเชื่อมต่อกับท่อบนบกไปยังโรงแยกก๊าซที่อำเภอจะนะ จังหวัดสงขลา เพื่อผ่านเข้าสู่กระบวนการแยกก๊าซ
          2. บริษัทฯ ให้บริการแยกก๊าซธรรมชาติแก่บริษัท น. ซึ่งผลิตภัณฑ์และผลพลอยได้จากการแยกก๊าซเป็นกรรมสิทธิ์ของบริษัท น. โดยมีการเก็บรักษาและขนส่งไปยังประเทศมาเลเซีย ดังนี้
               2.1 ก๊าซมีเทน (Sale Gas) ก๊าซที่ผลิตได้จะขนส่งทางท่อไปยังประเทศมาเลเซียทันที เนื่องจากไม่มีที่เก็บรักษา
               2.2 ก๊าซปิโตรเลียมเหลว (LPG) มีถังเก็บแยกเป็นถังเก็บของมาเลเซีย เชื่อมต่อกับระบบท่อขนส่งไปยังประเทศมาเลเซีย
               2.3 ก๊าซโปรเพน (C3) มีถังเก็บ บริษัทฯ จะนำก๊าซโปรเพนที่ได้มาผสมกับก๊าซบิวเทน (C4) ซึ่งจะได้ก๊าซปิโตรเลียมเหลว และเก็บอยู่ในถังเก็บที่เชื่อมต่อกับจุดรับบรรทุกก๊าซ (Truck Loading) รอขนส่ง
               2.4 ก๊าซโซลีน (NGL) ซึ่งเป็นผลพลอยได้จากกระบวนการผลิตแยกก๊าซ เนื่องจากไม่มีท่อขนส่งสำหรับก๊าซโซลีน จึงต้องทำการขนส่งโดยรถบรรทุกและผ่านพิธีการศุลกากรเพื่อส่งออกไปยังประเทศมาเลเซีย
          3. บริษัท ป. และบริษัท น. ได้มีข้อตกลงให้บริษัทฯ สามารถใช้ก๊าซ LPG ที่แยกได้ ผลิตกระแสไฟฟ้าใช้เองภายในบริเวณโรงแยกก๊าซทั้งหมดโดยไม่คิดมูลค่า
          ขอหารือว่า
          1. กรณีรายได้จากการขนส่งก๊าซธรรมชาติทางท่อในทะเลจากเขตพื้นที่พัฒนาร่วมฯ มายังโรงแยกก๊าซของบริษัทฯ ที่อำเภอจะนะ จังหวัดสงขลา บริษัทฯ ไม่ได้รับสิทธิยกเว้นภาษีมูลค่าเพิ่ม ตามพระราชกฤษฎีกา ออกตามความในประมวลรัษฎากร ว่าด้วยการยกเว้นภาษีมูลค่าเพิ่ม (ฉบับที่ 239) พ.ศ. 2534 แต่ถือเป็นมูลค่าของการให้บริการที่ไม่ต้องนำมารวมคำนวณมูลค่าของฐานภาษี ตามข้อ 2(12)(ก) ของประกาศอธิบดีกรมสรรพากร เกี่ยวกับภาษีมูลค่าเพิ่ม (ฉบับที่ 40) เรื่อง กำหนดลักษณะ และเงื่อนไข ค่าตอบแทนที่ไม่ต้องนำมารวมคำนวณมูลค่าของฐานภาษี ตามมาตรา 79(4) แห่งประมวลรัษฎากร ลงวันที่ 26 สิงหาคม พ.ศ. 2535 ใช่หรือไม่
          2. กรณีบริษัทฯ ให้บริการแยกก๊าซธรรมชาติ และไม่ได้ส่งผลของการให้บริการทั้งหมดไปต่างประเทศ แต่จะส่งตามปริมาณที่ลูกค้าต้องการ ส่วนที่เหลือจะเก็บไว้ที่บริษัทฯ โดยบริษัทฯ จะแจ้งหนี้เรียกเก็บค่าบริการตามจำนวนที่ได้มีการให้บริการในเดือนนั้นๆ นอกจากนี้ผลจากการให้บริการบางส่วน (ก๊าซ LPG) บริษัทฯ นำมาใช้ในการผลิตกระแสไฟฟ้าเพื่อใช้ในโรงแยกก๊าซของบริษัทฯ ดังนั้น จึงถือว่า บริษัทฯ ไม่ได้ส่งผลของการให้บริการนั้นไปใช้ในต่างประเทศทั้งหมด จึงไม่ได้รับสิทธิเสียภาษีมูลค่าเพิ่มในอัตราร้อยละ 0 สำหรับการให้บริการดังกล่าวใช่หรือไม่
แนววินิจฉัย           1. กรณีบริษัทฯ ให้บริการขนส่งก๊าซธรรมชาติทางท่อในทะเลจากเขตพื้นที่พัฒนาร่วมฯ มายังโรงแยกก๊าซของบริษัทฯ ที่อำเภอจะนะ จังหวัดสงขลา ไม่เข้าลักษณะเป็นการให้บริการที่ได้กระทำในเขตพื้นที่พัฒนาร่วมตามกฎหมายว่าด้วยองค์กรร่วมไทย-มาเลเซีย ที่จะได้รับสิทธิยกเว้นภาษีมูลค่าเพิ่มตามมาตรา 4(9) แห่งพระราชกฤษฎีกาฯ (ฉบับที่ 239) พ.ศ. 2534 แต่เข้าลักษณะเป็นการให้บริการขนส่งในราชอาณาจักร ที่ได้รับยกเว้นภาษีมูลค่าเพิ่ม ตามมาตรา 81(1)(ณ) แห่งประมวลรัษฎากร และเนื่องจากก๊าซธรรมชาติเป็นปิโตรเลียมตามความหมายในมาตรา 4 แห่งพระราชบัญญัติปิโตรเลียม พ.ศ. 2514 และเป็นผลิตภัณฑ์ปิโตรเลียมที่ใช้เป็นเชื้อเพลิง เข้าลักษณะเป็นน้ำมันเชื้อเพลิงตามความหมายในมาตรา 4 แห่งพระราชบัญญัติน้ำมันเชื้อเพลิง พ.ศ. 2521 การให้บริการขนส่งดังกล่าว จึงเป็นการให้บริการขนส่งน้ำมันเชื้อเพลิงทางท่อในราชอาณาจักร ซึ่งบริษัทฯ มีสิทธิแจ้งต่ออธิบดีเพื่อขอจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่มและเสียภาษีมูลค่าเพิ่มได้ ตามมาตรา 3(3) แห่งพระราชกฤษฎีกาฯ (ฉบับที่ 241) พ.ศ. 2534 เมื่อบริษัทฯ ขอจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่ม โดยบริษัทฯ มิได้เป็นผู้ให้บริการแก่ผู้รับบริการ ซึ่งเป็นผู้ทำสัญญาแบ่งปันผลผลิตกับองค์กรร่วมไทย-มาเลเซีย ตามกฎหมายว่าด้วยองค์กรร่วมไทย-มาเลเซีย หรือผู้ขายสินค้าหรือให้บริการซึ่งได้ทำสัญญาเป็นหนังสือโดยตรงกับผู้ทำสัญญาแบ่งปันผลผลิตกับองค์กรร่วมไทย-มาเลเซีย ตามกฎหมายว่าด้วยองค์กรร่วมไทย-มาเลเซีย ตามข้อ 2(12) ของประกาศอธิบดีกรมสรรพากร เกี่ยวกับภาษีมูลค่าเพิ่ม (ฉบับที่ 40)ฯ ลงวันที่ 26 สิงหาคม พ.ศ. 2535 บริษัทฯ จึงมีหน้าที่ต้องเสียภาษีมูลค่าเพิ่มดังนี้
               (1) กรณีบริษัทฯ ให้บริการขนส่งก๊าซธรรมชาติที่ผลิตในเขตพื้นที่พัฒนาร่วมฯ ไปยังโรงแยกก๊าซแก่ บริษัท ป. ซึ่งเป็นบริษัทจดทะเบียนจัดตั้งขึ้นตามกฎหมายไทยโดยทางท่อ เข้าลักษณะเป็นการให้บริการขนส่งน้ำมันเชื้อเพลิงทางท่อในราชอาณาจักร เมื่อบริษัทฯ ขอจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่มแล้ว จึงอยู่ในบังคับต้องเสียภาษีมูลค่าเพิ่ม ตามมาตรา 77/1(10) และมาตรา 77/2 วรรคสอง แห่งประมวลรัษฎากร บริษัทฯ มีหน้าที่ต้องเสียภาษีมูลค่าเพิ่มในอัตราร้อยละ 7.0 ตามมาตรา 80(2) แห่งประมวลรัษฎากร
               (2) กรณีบริษัทฯ ให้บริการขนส่งก๊าซธรรมชาติที่ผลิตในเขตพื้นที่พัฒนาร่วมฯ ไปยังโรงแยกก๊าซแก่บริษัท น. ซึ่งเป็นบริษัทจดทะเบียนจัดตั้งขึ้นตามกฎหมายของประเทศมาเลเซียและมิได้ประกอบกิจการในประเทศไทยโดยทางท่อ เข้าลักษณะเป็นการให้บริการขนส่งน้ำมันเชื้อเพลิงทางท่อในราชอาณาจักร เมื่อบริษัทฯ ขอจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่มแล้ว จึงอยู่ในบังคับต้องเสียภาษีมูลค่าเพิ่ม ตามมาตรา 77/1(10) และมาตรา 77/2 วรรคสอง แห่งประมวลรัษฎากร แต่อย่างไรก็ตาม หากมูลค่าของการให้บริการดังกล่าว เป็นมูลค่าของการให้บริการขนส่งก๊าซซึ่งผลิตจากเขตพื้นที่พัฒนาร่วมฯ โดยให้บริการแก่บริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลที่ตั้งขึ้นตามกฎหมายต่างประเทศและมิได้ประกอบกิจการในประเทศไทย ซึ่งได้ทำสัญญาซื้อขายก๊าซธรรมชาติที่ผลิตในเขตพื้นที่พัฒนาร่วมกับองค์กรร่วมไทย-มาเลเซียและผู้ทำสัญญาแบ่งปันผลผลิตกับองค์กรร่วมไทย-มาเลเซีย บริษัทฯ ไม่ต้องนำมารวมคำนวณเป็นมูลค่าของฐานภาษี ตามมาตรา 79(4) แห่งประมวลรัษฎากร ประกอบกับข้อ 2(18) ของประกาศอธิบดีกรมสรรพากร เกี่ยวกับภาษีมูลค่าเพิ่ม (ฉบับที่ 40)ฯ ลงวันที่ 26 สิงหาคม พ.ศ. 2535
          2. กรณีบริษัทฯ ให้บริการแยกก๊าซแก่บริษัท ป. และบริษัท น. ซึ่งบริษัททั้งสองเป็นผู้ซื้อก๊าซจากองค์กรร่วมไทย-มาเลเซีย ก๊าซ LPG ที่แยกได้เป็นกรรมสิทธิ์ของบริษัททั้งสอง โดยมีข้อตกลงให้บริษัทฯ สามารถใช้ก๊าซ LPG ที่แยกได้ ผลิตกระแสไฟฟ้าใช้เองภายในบริเวณโรงแยกก๊าซของบริษัทฯ ทั้งหมดโดยไม่คิดมูลค่า มูลค่าของก๊าซ LPG ที่บริษัทฯ ได้ใช้โดยไม่ต้องชำระเงินให้แก่บริษัท ทั้งสองซึ่งเป็นผู้รับบริการ ถือเป็นค่าตอบแทนที่บริษัทฯ ได้รับจากการให้บริการแยกก๊าซจากบริษัทผู้รับบริการทั้งสอง บริษัทฯ จึงต้องนำมูลค่าของก๊าซ LPG ดังกล่าว มารวมคำนวณเป็นรายได้เพื่อเสียภาษีเงินได้นิติบุคคล ตามมาตรา 65 แห่งประมวลรัษฎากร และต้องนำไปถือเป็นมูลค่าของฐานภาษีในการคำนวณภาษีมูลค่าเพิ่ม ตามมาตรา 79 แห่งประมวลรัษฎากร
          3. กรณีบริษัทฯ ให้บริการแยกก๊าซธรรมชาติ แก่บริษัท น. และไม่ได้ส่งผลของการให้บริการดังกล่าวทั้งหมดไปต่างประเทศ โดยบริษัทฯ ได้นำก๊าซ LPG ซึ่งเป็นผลจากการแยกก๊าซบางส่วนได้นำไปใช้ในการผลิตกระแสไฟฟ้าเพื่อใช้เองในโรงแยกก๊าซ การให้บริการดังกล่าวของบริษัทฯ ไม่เข้าลักษณะเป็นการให้บริการที่กระทำในราชอาณาจักรแก่ผู้รับบริการในต่างประเทศและได้ส่งผลของการให้บริการนั้นไปใช้ในต่างประเทศทั้งหมด บริษัทฯ จึงไม่ได้รับสิทธิเสียภาษีมูลค่าเพิ่มในอัตราร้อยละ 0 ตามมาตรา 80/1(2) แห่งประมวลรัษฎากร ประกอบกับข้อ 2(1) ของประกาศอธิบดีกรมสรรพากร เกี่ยวกับภาษีมูลค่าเพิ่ม (ฉบับที่ 105)ฯ ลงวันที่ 12 กรกฎาคม พ.ศ. 2543 โดยบริษัทฯ มีหน้าที่ต้องเสียภาษีมูลค่าเพิ่มในอัตราร้อยละ 7.0 ตามมาตรา 80(2) แห่งประมวลรัษฎากร
          อย่างไรก็ตาม กรณีที่บริษัทฯ ได้ให้บริการแยกก๊าซธรรมชาติดังกล่าว ตั้งแต่วันที่ 29 มีนาคม 2554 ซึ่งบริษัทฯ ได้ให้บริการในราชอาณาจักรแก่ผู้รับบริการในต่างประเทศ และได้มีการใช้บริการนั้นในต่างประเทศ โดยการให้บริการนั้นมีการใช้บริการบางส่วนในราชอาณาจักรด้วย บริษัทฯ ย่อมได้รับสิทธิเสียภาษีมูลค่าเพิ่มในอัตราร้อยละ 0 ตามมาตรา 80/1 แห่งประมวลรัษฎากร เฉพาะส่วนที่ได้ มีการใช้บริการนั้นในต่างประเทศ ตามข้อ 2(1) ของประกาศอธิบดีกรมสรรพากร เกี่ยวกับภาษีมูลค่าเพิ่ม (ฉบับที่ 105)ฯ ลงวันที่ 12 กรกฎาคม พ.ศ. 2543 ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยประกาศอธิบดีกรมสรรพากร เกี่ยวกับภาษีมูลค่าเพิ่ม (ฉบับที่ 181)ฯ ลงวันที่ 29 มีนาคม พ.ศ. 2554
เลขตู้: 76/38508

 

ปรับปรุงล่าสุด: 22-05-2020