เมนูปิด
เลขที่หนังสือ: กค 0702/1965
วันที่: 4 มีนาคม 2556
เรื่อง: ภาษีเงินได้หัก ณ ที่จ่าย กรณีการผลิตรถยนต์จำหน่าย
ข้อกฎหมาย: มาตรา 3 เตรส แห่งประมวลรัษฎากร และคำสั่งกรมสรรพากร ที่ ท.ป.4/2528ฯ
ข้อหารือ           บริษัท จำกัด (บริษัทฯ) หารือเกี่ยวกับภาษีเงินได้หัก ณ ที่จ่าย กรณีการผลิตรถยนต์ขาย สรุปข้อเท็จจริงได้ดังนี้
          1. บริษัทฯ ตั้งขึ้นตามกฎหมายไทย มีวัตถุประสงค์ในการผลิต ประกอบรถยนต์เพื่อจำหน่ายและรับจ้างต่อเติมดัดแปลงรถยนต์ บริษัทฯ เคยรับจ้างบริษัท ประเทศไทย จำกัด (บริษัทฯ) ประกอบรถยนต์นั่งโตโยต้า รุ่น Fortuner และรถยนต์กระบะโตโยต้า รุ่น Double Cap แต่ได้หยุดประกอบกิจการดังกล่าวไปตั้งแต่เดือนกรกฎาคม 2553 จนถึงปัจจุบัน
          2. บริษัทฯ มีแผนการที่จะทำการผลิตรถยนต์โดยสาร (รถตู้) ซึ่งเป็นรุ่นที่ยังไม่เคยมีการผลิตในประเทศไทยด้วยตนเอง ภายใต้ใบอนุญาตประกอบกิจการโรงงานตามพระราชบัญญัติโรงงาน พ.ศ. 2535 ซึ่งอนุญาตให้บริษัทฯ เป็นผู้ผลิตรถยนต์ โดยในการผลิตรถยนต์โดยสารดังกล่าว มีรายละเอียด ดังนี้
               2.1 บริษัทฯ จะทำสัญญาขอสิทธิ (สัญญา Technical Assistance) ในการผลิตรถยนต์ดังกล่าวเพื่อจำหน่ายในประเทศ จากบริษัท (TMC) ในประเทศญี่ปุ่น ซึ่งเป็นเจ้าของสิทธิ โดยตามสัญญาดังกล่าว บริษัทฯ จะต้องจ่ายค่าสิทธิเพื่อตอบแทนการให้ใช้สิทธิในการผลิตตลอดจนค่าตอบแทนการถ่ายทอดข้อมูล ความรู้ แบบ กระบวนการผลิต และการช่วยเหลือทางเทคนิค ให้แก่ TMC
               2.2 บริษัทฯ จะผลิตรถยนต์ดังกล่าวตามมาตรฐานกระบวนการผลิต และวิธีการผลิตที่ได้รับจาก TMC ภายใต้สัญญา Technical Assistance โดยจะดำเนินการผลิตด้วยเครื่องมือและแรงงานของบริษัทฯ เอง และในเบื้องต้นบริษัทฯ จะสั่งซื้อชิ้นส่วนประกอบรถยนต์ส่วนใหญ่จากบริษัทฯ ซึ่งเป็นผู้นำเข้าชิ้นส่วนประกอบรถยนต์เพื่อการผลิตของตนเอง และเพื่อการจำหน่ายต่อในฐานะอะไหล่รถยนต์เป็นปกติธุระอยู่แล้ว
               2.3 เมื่อบริษัทฯ ทำการผลิตรถยนต์เสร็จ บริษัทฯ จะขายรถยนต์ดังกล่าวให้บริษัทฯ หลังจากนั้น บริษัทฯ จะขายรถยนต์ ดังกล่าวผ่านเครือข่ายตัวแทนจำหน่ายของบริษัทฯ เอง โดยบริษัทฯ ซึ่งเป็นผู้ผลิตจะรับประกันคุณภาพรถยนต์ในฐานะผู้ผลิต หากสินค้ามีความชำรุดบกพร่องอันเกิดจากการผลิต บริษัทฯ ต้องรับผิดชอบในความเสียหายทั้งต่อบริษัทฯ ซึ่งเป็นผู้ซื้อรถยนต์จากบริษัทฯ และต่อลูกค้าที่ได้รับความเสียหายจากการใช้รถยนต์ที่บริษัทฯ ผลิตตามพระราชบัญญัติความรับผิดต่อความเสียหายที่เกิดขึ้นจากสินค้าที่ไม่ปลอดภัย พ.ศ. 2551 อีกด้วย
          บริษัทฯ ได้หารือว่า เนื่องจากบริษัทฯ ได้รับสิทธิในการผลิตรถยนต์ดังกล่าวในนามของบริษัทฯ เอง และบริษัทฯ ได้ผลิตรถยนต์ โดยมีใบอนุญาตประกอบกิจการโรงงานในฐานะผู้ผลิต นอกจากนั้น บริษัทฯ ต้องรับผิดชอบในกรณีสินค้ามีความชำรุดบกพร่องอันเกิดจากการผลิตต่อลูกค้าในฐานะผู้ผลิต ดังนั้น บริษัทฯ เข้าใจว่า การผลิตรถยนต์จำหน่ายให้บริษัทฯ ตามข้อเท็จจริงดังกล่าว เข้าลักษณะ เป็นการขายสินค้า ซึ่งไม่อยู่ในบังคับต้องถูกหักภาษีเงินได้ ณ ที่จ่าย ตามคำสั่งกรมสรรพากร ที่ ท.ป.4/2528 เรื่อง สั่งให้ผู้จ่ายเงินได้พึงประเมินตามมาตรา 40 แห่งประมวลรัษฎากร มีหน้าที่หักภาษีเงินได้ ณ ที่จ่าย ลงวันที่ 26 กันยายน พ.ศ. 2528 ถูกต้องหรือไม่
แนววินิจฉัย           เนื่องจากบริษัทฯ ได้รับสิทธิในการผลิตรถยนต์ดังกล่าวจาก TMC ในประเทศญี่ปุ่น โดยในการผลิตนั้น บริษัทฯ มีใบอนุญาตประกอบกิจการโรงงานในฐานะผู้ผลิต และเป็นผู้รับประกันคุณภาพในฐานะผู้ผลิตตามพระราชบัญญัติความรับผิดต่อความเสียหายที่เกิดขึ้นจากสินค้าที่ไม่ปลอดภัย พ.ศ. 2551 ดังนั้น กรณีที่บริษัทฯ ผลิตรถยนต์ขายให้กับบริษัทฯ จึงเข้าลักษณะเป็นการขายสินค้า ซึ่งไม่อยู่ในบังคับต้องถูกหักภาษีเงินได้ ณ ที่จ่าย ตามคำสั่งกรมสรรพากร ที่ ท.ป.4/2528ฯ ลงวันที่ 26 กันยายน พ.ศ. 2528 แต่อย่างใด
เลขตู้: 76/38481

 

ปรับปรุงล่าสุด: 22-05-2020