เมนูปิด
เลขที่หนังสือ: 0702/1247
วันที่: 10 มีนาคม 2557
เรื่อง: ภาษีเงินได้นิติบุคคลและภาษีมูลค่าเพิ่ม กรณีการจำหน่ายหนี้สูญที่ไม่เป็นไปตามกฎกระทรวง ฉบับที่ 186 (พ.ศ. 2534)ฯ และขออนุมัติออกใบกำกับภาษีอย่างย่อ
ข้อกฎหมาย : มาตรา 78/1(1) และมาตรา 86/6 แห่งประมวลรัษฎากร
ข้อหารือ           1. บริษัทฯ ประกอบกิจการให้บริการเช่าพื้นที่ ให้บริการส่วนกลาง เครื่องอำนวยความสะดวกและอุปกรณ์เสริมทั่วไป บริษัทฯ เป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ในอาคารดังกล่าว ในการเรียกเก็บค่าเช่าและค่าบริการบริษัทฯ ได้ออกใบแจ้งหนี้ให้ผู้เช่าชำระค่าเช่าและค่าบริการตามระยะเวลาที่กำหนด เมื่อบริษัทฯ ได้รับค่าเช่าแล้วจะดำเนินการออกใบเสร็จรับเงิน/ใบกำกับภาษีให้แก่ผู้เช่า และได้ยื่นแบบแสดงรายการภาษีมูลค่าเพิ่ม (ภ.พ. 30) นำส่งภาษีขายในเดือนที่ได้รับชำระค่าเช่าในการประกอบธุรกิจดังกล่าว บริษัทฯ มีลูกหนี้ที่ค้างชำระค่าเช่าและค่าบริการ ซึ่งได้ติดตามทวงถามเป็นหนังสือหลายครั้งแล้ว แต่บริษัทฯ ไม่ได้รับชำระหนี้แต่อย่างใด และคาดว่าจะไม่สามารถเรียกเก็บเงินค้างชำระค่าเช่าและค่าบริการดังกล่าวได้โดยที่บริษัทฯ ได้มีการติดตามทวงถามเป็นลายลักษณ์อักษรหลายครั้งแล้ว แต่ลูกหนี้ไม่สามารถชำระหนี้ได้ บริษัทฯ จึงตัดลูกหนี้เป็นหนี้สูญซึ่งไม่เป็นไปตามกฎกระทรวง ฉบับที่ 186 (พ.ศ. 2534)ฯ ทั้งจำนวนในปี 2555
          2. นอกจากการดำเนินธุรกิจข้างต้นแล้ว บริษัทฯ ยังประกอบธุรกิจให้บริการพื้นที่ขายสินค้าแบบหมุนเวียน โดยเปิดให้บุคคลธรรมดาเข้ามาขายสินค้าและเรียกเก็บค่าบริการในอัตราที่บริษัทฯ ได้กำหนดไว้เป็นรายวันโดยไม่มีการส่งมอบการครอบครองพื้นที่ดังกล่าว และกรณีการให้บริการระบบสาธารณูปโภคเพิ่มเติม เช่น ระบบไฟฟ้า น้ำประปา บริษัทฯ เรียกเก็บค่าบริการในอัตราเหมาจ่ายรายวัน และจะออกใบเสร็จรับเงิน/ใบกำกับภาษีให้แก่ผู้รับบริการ
          3. บริษัทฯ ขอทราบว่า
               3.1 กรณีบริษัทฯ มีลูกหนี้ค้างชำระค่าเช่าและค่าบริการ ซึ่งคาดว่าไม่สามารถเรียกเก็บเงินได้ จึงตัดเป็นหนี้สูญและนำไปลงเป็นรายจ่ายในทางบัญชี ในการยื่นแบบแสดงรายการภาษีเงินได้นิติบุคคลประจำปี บริษัทฯ ต้องปรับปรุงรายการหนี้สูญที่ไม่เป็นไปตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไข ตามกฎกระทรวง ฉบับที่ 186 (พ.ศ. 2534)ฯ โดยบวกกลับเป็นรายได้ในการคำนวณกำไรสุทธิเพื่อเสียภาษีเงินได้นิติบุคคล และกรณีดังกล่าว บริษัทฯ ต้องนำส่งภาษีขายด้วยหรือไม่
               3.2 กรณีบริษัทฯ ให้บริการพื้นที่ขายสินค้าแบบหมุนเวียนและให้บริการระบบสาธารณูปโภค โดยเรียกเก็บค่าบริการเป็นรายวัน บริษัทฯ จะขออนุมัติออกใบกำกับภาษีอย่างย่อตามมาตรา 86/6 และมาตรา 86/7 แห่งประมวลรัษฎากรได้หรือไม่ และมีขั้นตอนในการขออนุมัติการจัดทำใบกำกับภาษีอย่างย่ออย่างไร
แนววินิจฉัย           1. ภาษีเงินได้นิติบุคคล บริษัทฯ ไม่สามารถจำหน่ายหนี้สูญจากบัญชีลูกหนี้เพราะไม่เป็นไปตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไข กำหนดไว้ตามกฎกระทรวง ฉบับที่ 186 (พ.ศ. 2534)ฯ หากบริษัทฯ ได้ตัดหนี้สูญดังกล่าวเป็นรายจ่ายทางบัญชีแล้ว ในการยื่นแบบฯ บริษัทฯ จะต้องปรับปรุงยอดกำไรสุทธิ โดยนำรายการหนี้สูญที่ไม่เป็นไปตามหลักเกณฑ์ฉบับดังกล่าว ไปบวกกลับเป็นรายได้ในการคำนวณกำไรสุทธิเพื่อเสียภาษีเงินได้นิติบุคคล
          2. ภาษีมูลค่าเพิ่ม กรณีบริษัทฯ มีลูกหนี้ค้างชำระค่าเช่าและค่าบริการ ซึ่งคาดว่า ไม่สามารถเรียกเก็บค่าเช่าและค่าบริการดังกล่าวได้ และได้ตัดเป็นหนี้สูญทางบัญชีแล้ว ถือว่าความรับผิดในการเสียภาษีมูลค่าเพิ่มสำหรับการให้บริการยังไม่เกิดขึ้น บริษัทฯ จึงไม่มีหน้าที่เสียภาษีมูลค่าเพิ่ม สำหรับการให้บริการที่ยังไม่ได้รับชำระ ตามมาตรา 78/1 (1) แห่งประมวลรัษฎากร สำหรับกรณีบริษัทฯ ให้บริการพื้นที่ขายสินค้าแบบหมุนเวียนและให้บริการระบบสาธารณูปโภค โดยเรียกเก็บค่าบริการเป็นรายวัน ตามข้อ 4.2.2 เข้าลักษณะเป็นการบริการรายย่อยแก่บุคคลจำนวนมากตามลักษณะและเงื่อนไขของประกาศอธิบดีกรมสรรพากร เกี่ยวกับภาษีมูลค่าเพิ่ม (ฉบับที่ 32)ฯ ลงวันที่ 8 เมษายน พ.ศ. 2535 บริษัทฯ มีสิทธิออกใบกำกับภาษีอย่างย่อ ซึ่งต้องมีรายการอย่างน้อยตามที่กำหนดไว้ตามมาตรา 86/6 แห่งประมวลรัษฎากร
เลขตู้: 77/38940

 

ปรับปรุงล่าสุด: 22-05-2020