เมนูปิด
เลขที่หนังสือ: 0702/1451
วันที่: 14 มีนาคม 2557
เรื่อง: ภาษีเงินได้ กรณีการประกอบกิจการตัวแทนหรือนายหน้าประกันชีวิต
ข้อกฎหมาย : มาตรา 40(8) แห่งประมวลรัษฎากร และคำสั่งกรมสรรพากร ที่ ท.ป.4/2528ฯ
ข้อหารือ           สมาคมฯ แจ้งว่า แนวปฏิบัติตามคำสั่งกรมสรรพากรที่ ป.115/2545 เรื่อง การเสียภาษีเงินได้และภาษีมูลค่าเพิ่มสำหรับกิจการตัวแทนประกันชีวิตและนายหน้าประกันชีวิต ลงวันที่ 17 กันยายน พ.ศ. 2545 ยังมีประเด็นในทางปฏิบัติที่ไม่เป็นไปในแนวทางเดียวกัน สมาคมฯ จึงขอให้กรมสรรพากรยืนยันว่า หากตัวแทนประกันชีวิตได้แสดงให้เห็นว่า ได้ปฏิบัติตามข้อ 2.1(2) ของคำสั่งกรมสรรพากรที่ ป.115/2545ฯ ลงวันที่ 17 กันยายน พ.ศ. 2545 ครบถ้วน คือ
               1.ได้จดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่มเป็นผู้ประกอบการจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่ม
               2.ได้จัดตั้งเป็นสำนักงานในการประกอบกิจการ โดยมีอาคารสำนักงานเป็นกรรมสิทธิ์ของตนเอง หรือเช่าจากบุคคลอื่น โดยมีหลักฐาน เช่น หลักฐานการได้มาซึ่งกรรมสิทธิ์ สัญญาเช่าสำนักงาน และมีการลงทุนด้วยการจัดหาเครื่องมือเครื่องใช้ มีค่าใช้จ่ายสำนักงาน และมีการจ้างลูกจ้างหรือพนักงานในการประกอบกิจการ โดยมีหลักฐานตามสัญญาจ้างแรงงาน หลักฐานการจ่ายเงินเข้ากองทุนประกันสังคมตามกฎหมายว่าด้วยการประกันสังคม และหลักฐานการแสดงการหักภาษี ณ ที่จ่าย และนำส่ง ในกรณีการคำนวณภาษีหัก ณ ที่จ่าย ไม่มีภาษีที่ต้องหัก ณ ที่จ่ายและนำส่ง จะต้องมีหลักฐานเกี่ยวกับการยื่นรายการเกี่ยวกับค่าจ้างแรงงานตามแบบ ภ.ง.ด.1 ก
               3. มีค่าใช้จ่ายในการประกอบกิจการ เช่น ค่ารับรอง หรือค่าบริการเพื่อประโยชน์ในการติดต่องานกับลูกค้า และมีหนังสือรับรองจากบริษัทประกันชีวิตว่าไม่มีการจ่ายเงินชดเชยหรือออกค่าใช้จ่ายแทนให้
               บริษัทประกันชีวิตซึ่งจ่ายค่าตอบแทนให้แก่ตัวแทนหรือนายหน้าประกันชีวิต (ตัวแทนฯ) ตามข้อ 2.1(2) ของคำสั่งกรมสรรพากรดังกล่าว มีสิทธิคำนวณหักภาษีเงินได้ ณ ที่จ่าย ในอัตราร้อยละ 3.0 ตามข้อ 12/1(1) ของคำสั่งกรมสรรพากรที่ ท.ป.4/2528 เรื่อง สั่งให้ผู้จ่ายเงินได้พึงประเมินตามมาตรา 40 แห่งประมวลรัษฎากร มีหน้าที่หักภาษีเงินได้ ณ ที่จ่าย ลงวันที่ 26 กันยายน พ.ศ. 2528 ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยคำสั่งกรมสรรพากรที่ ท.ป.104/2544 เรื่อง สั่งให้ผู้จ่ายเงินได้พึงประเมินตามมาตรา 40 แห่งประมวลรัษฎากร มีหน้าที่หักภาษีเงินได้ ณ ที่จ่าย ลงวันที่ 15 กันยายน พ.ศ. 2544 ใช่หรือไม่
แนววินิจฉัย           กรณีตัวแทนฯ ได้ประกอบกิจการในรูปแบบของการทำธุรกิจ โดยได้มีการดำเนินการ ดังต่อไปนี้ คือ
               1. ได้จัดตั้งสำนักงานในการประกอบกิจการมีอาคารสำนักงานเป็นกรรมสิทธิ์ของตนเอง หรือเช่าจากบุคคลอื่นโดยมีหลักฐาน เช่น หลักฐานการได้มาซึ่งกรรมสิทธิ์ สัญญาเช่าสำนักงาน มีการลงทุนด้วยการจัดหาเครื่องมือเครื่องใช้ มีค่าใช้จ่ายสำนักงาน และมีการจ้างลูกจ้างหรือพนักงาน โดยมีหลักฐานตามสัญญาจ้างแรงงาน หลักฐานการจ่ายเงินเข้ากองทุนประกันสังคมตามกฎหมายว่าด้วยการประกันสังคม และหลักฐานการแสดงการหักภาษี ณ ที่จ่าย และนำส่ง (แบบ ภ.ง.ด.1 หรือ ภ.ง.ด.1 ก)
               2. ได้จดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่มเป็นผู้ประกอบการจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่ม
               3. มีค่าใช้จ่ายในการประกอบกิจการ เช่น ค่ารับรอง หรือค่าบริการเพื่อประโยชน์ในการติดต่องานกับลูกค้า และมีหนังสือรับรองจากบริษัทประกันชีวิตว่าไม่มีการจ่ายเงินชดเชยหรือออกค่าใช้จ่ายแทนให้
               ค่าตอบแทนที่ตัวแทนฯ ได้รับจากบริษัทประกันชีวิตในการประกอบกิจการดังกล่าว เข้าลักษณะเป็นเงินได้พึงประเมิน ตามมาตรา 40(8) แห่งประมวลรัษฎากร ในการคำนวณภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา ให้หักค่าใช้จ่ายได้ตามความจำเป็นและสมควร โดยให้นำมาตรา 65 ทวิ และมาตรา 65 ตรี แห่งประมวลรัษฎากร มาใช้บังคับโดยอนุโลม ทั้งนี้ ตามมาตรา 8 ทวิ แห่งพระราชกฤษฎีกาออกตามความในประมวลรัษฎากร ว่าด้วยการกำหนดค่าใช้จ่ายที่ยอมให้หักจากเงินได้พึงประเมิน (ฉบับที่ 11) พ.ศ. 2502 ดังนั้น บริษัทประกันชีวิตผู้จ่ายเงินค่าตอบแทนดังกล่าว ต้องคำนวณหักภาษีเงินได้ ณ ที่จ่าย ในอัตราร้อยละ 3.0 ตามข้อ 12/1(1) ของคำสั่งที่ ท.ป.4/2528ฯ ลงวันที่ 26 กันยายน พ.ศ. 2528
เลขตู้: 77/38957

 

ปรับปรุงล่าสุด: 22-05-2020