เมนูปิด
เลขที่หนังสือ: 0702/พ./1371
วันที่: 12 มีนาคม 2557
เรื่อง: ภาษีมูลค่าเพิ่ม กรณีการใช้ซอฟต์แวร์ที่เขียนและพัฒนาจากต่างประเทศเพื่อจัดทำรายงานเกี่ยวกับการเสียภาษีมูลค่าเพิ่ม
ข้อกฎหมาย : มาตรา 89 และมาตรา 87/3 วรรคสอง แห่งประมวลรัษฎากร
ข้อหารือ           1.บริษัทฯ เป็นผู้ประกอบการจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่ม ประกอบกิจการเป็นตัวแทนรับขนส่ง ได้ซื้อซอฟต์แวร์ชื่อ "F" ที่เขียนและพัฒนาจากประเทศสิงคโปร์ จากบริษัท B (บริษัทผู้ขาย) เพื่อใช้จัดทำรายงานภาษีซื้อ รายงานภาษีขายและรายงานสินค้าและวัตถุดิบ (รายงานภาษีฯ) โดยบริษัทผู้ขาย อ้างเลขประจำตัวซอฟต์แวร์เฮ้าส์เลขที่ 000 ที่กรมสรรพากรออกให้บริษัท ฉ สำหรับซอฟต์แวร์ชื่อ "F M" ที่มีคุณสมบัติตามมาตรฐานซอฟต์แวร์ของกรมสรรพากร ชนิด ก. ชนิด ข. ชนิด ค.
          2.บริษัทฯ หารือว่า
               2.1ซอฟต์แวร์ที่เขียนและพัฒนาจากต่างประเทศที่ส่งเข้ามาขายในประเทศไทยเพื่อใช้จัดทำรายงานภาษีฯ ต้องมีเลขประจำตัวซอฟต์แวร์เฮ้าส์ ตามประกาศอธิบดีกรมสรรพากร เกี่ยวกับภาษีมูลค่าเพิ่ม (ฉบับที่ 89) เรื่อง กำหนดแบบ หลักเกณฑ์ วิธีการและเงื่อนไข เกี่ยวกับการจัดทำรายงาน การลงรายการในรายงาน การเก็บใบกำกับภาษีและเอกสารหลักฐานอื่นที่ใช้ประกอบการลงรายงานภาษีซื้อตามมาตรา 87 และมาตรา 87/3 วรรคสอง แห่งประมวลรัษฎากร ลงวันที่ 29 เมษายน พ.ศ. 2542 และคำสั่งกรมสรรพากรที่ ท. 378/2543 เรื่อง กำหนดหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขในการยื่นคำขอมีเลขประจำตัวซอฟต์แวร์เฮ้าส์ ลงวันที่ 25 สิงหาคม พ.ศ. 2543 หรือไม่
               2.2การใช้ซอฟต์แวร์ที่ไม่ปฏิบัติตามคำสั่งกรมสรรพากรที่ ท. 378/2543ฯ ลงวันที่ 25 สิงหาคม พ.ศ. 2543 ในการจัดทำรายงานภาษีฯ จะมีความผิดหรือไม่
               2.3บริษัทผู้ขาย สามารถใช้เลขประจำตัวซอฟต์แวร์เฮ้าส์ สำหรับซอฟต์แวร์ชื่อ "F M" ของบริษัท C ได้หรือไม่ และผู้ซื้อสามารถใช้ซอฟต์แวร์ "F" เพื่อใช้ในการจัดทำรายงานภาษีฯ ได้หรือไม่
แนววินิจฉัย           1.ผู้ประกอบการซึ่งจำหน่ายซอฟต์แวร์ที่เขียนและพัฒนาจากต่างประเทศเพื่อใช้สำหรับการจัดทำรายงานภาษีฯ จะขอมีเลขประจำตัวซอฟต์แวร์เฮ้าส์ได้นั้น ซอฟต์แวร์จะต้องมีคุณสมบัติตามมาตรฐานที่กรมสรรพากรกำหนด ได้แก่ ชนิด ก. ชนิด ข. ชนิด ค. หรือ ชนิด ง. ตามข้อ 10 และข้อ 11 ของประกาศอธิบดีกรมสรรพากร เกี่ยวกับภาษีมูลค่าเพิ่ม (ฉบับที่ 89)ฯ ลงวันที่ 29 เมษายน พ.ศ. 2542
          2.ผู้ประกอบการจดทะเบียนซึ่งได้จัดทำรายงานภาษีฯ โดยใช้ซอฟต์แวร์ที่ไม่มีคุณสมบัติตามมาตรฐานที่กรมสรรพากรกำหนด ตามข้อ 10 และข้อ 11 ของประกาศอธิบดีกรมสรรพากร เกี่ยวกับภาษีมูลค่าเพิ่ม (ฉบับที่ 89)ฯ ลงวันที่ 29 เมษายน พ.ศ. 2542 เป็นการกระทำอันฝ่าฝืนมาตรา 87 แห่งประมวลรัษฎากร มีความผิดตามมาตรา 90(15) แห่งประมวลรัษฎากร ส่วนการไม่ปฏิบัติตามคำสั่งกรมสรรพากรที่ ท. 378/2543ฯ ลงวันที่ 25 สิงหาคม พ.ศ. 2543 ไม่มีกฎหมายบัญญัติให้เป็นความผิดแต่อย่างใด
          3.ซอฟต์แวร์เฮ้าส์ หรือผู้ประกอบการที่จำหน่ายซอฟต์แวร์ จะยื่นขออนุมัติต่อกรมสรรพากรให้มีเลขประจำตัวซอฟต์แวร์เฮ้าส์ จำนวน 4 หลัก เพื่อใช้แสดงไว้ในหน้าจอแรกได้ก็แต่เฉพาะซอฟต์แวร์เฮ้าส์แต่ละราย ตามข้อ 10 ของประกาศอธิบดีกรมสรรพากร เกี่ยวกับภาษีมูลค่าเพิ่ม (ฉบับที่ 89)ฯ ลงวันที่ 29 เมษายน พ.ศ. 2542 และตามข้อ 4 ของระเบียบกรมสรรพากรว่าด้วยเลขประจำตัวซอฟต์แวร์เฮ้าส์ พ.ศ. 2543 ลงวันที่ 25 สิงหาคม พ.ศ.2543 ดังนั้น บริษัทผู้ขาย จึงไม่สามารถนำเลขประจำตัวซอฟต์แวร์เฮ้าส์ของบริษัท C ซึ่งมีซอฟต์แวร์ชื่อ "F M" ไปใช้กับซอฟต์แวร์ชื่อ "F" ของบริษัทผู้ขายได้
เลขตู้: 77/38952

 

ปรับปรุงล่าสุด: 22-05-2020