เลขที่หนังสือ | : 0702/1872 | วันที่ | : 28 มีนาคม 2557 | เรื่อง | : ภาษีเงินได้นิติบุคคล และภาษีมูลค่าเพิ่ม กรณีการจ่ายค่าออกแบบให้แก่บริษัทต่างประเทศ | ข้อกฎหมาย | : มาตรา 40(3) มาตรา 83/6 และมาตรา 70 แห่งประมวลรัษฎากร | ข้อหารือ |
สถาบันฯ เป็นหน่วยงานที่อยู่ภายใต้การดำเนินงานของมูลนิธิจุฬาภรณ์ ได้ว่าจ้างบริษัท M+W U.S.,inc (บริษัทฯ) ซึ่งเป็นบริษัทวิศวกรรมระดับนานาชาติในประเทศสหรัฐอเมริกา ประกอบกิจการรับจ้าง ออกแบบ และก่อสร้างทางด้าน Electronic,Life Sciences Chemicals,Science & Research,Energy & Environment Technologies,Automotives It & Telecoms,Space & Security เป็นต้น และไม่มีตัวแทนหรือสาขาในประเทศไทย ให้เป็นผู้ออกแบบโครงการจัดทำโครงสร้างพื้นฐานทางวิทยาศาสตร์เพื่อการวิจัยและพัฒนายา โดยมีเงื่อนไขในสัญญาว่าบริษัทฯ ผู้รับจ้างจะต้องเก็บรักษาแบบและข้อมูลในแบบเป็นความลับห้ามเผยแพร่และแบบจะตกเป็นกรรมสิทธิ์ของสถาบันฯ โดยสถาบันฯ จะจ่ายค่าจ้างเป็นรายงวด สถาบันฯ หารือว่า
1.ในกรณีจ่ายค่าจ้างออกแบบให้แก่บริษัทฯ ต่างประเทศ ถือเป็นเงินได้พึงประเมินประเภทค่าสิทธิ ตามมาตรา 40 (3) แห่งประมวลรัษฎากร หากพิจารณาตามข้อ 12 แห่งอนุสัญญาระหว่างรัฐบาลแห่งราชอาณาจักรไทยและรัฐบาลแห่งสหรัฐอเมริกา เพื่อการเว้นการเก็บภาษีซ้อนและการป้องกันการเลี่ยงรัษฎากรในส่วนที่เกี่ยวกับภาษีเก็บจากเงินได้ จะต้องหักภาษีเงินได้ ณ ที่จ่ายร้อยละ 15 ของจำนวนค่าสิทธิ ตามที่ระบุในอนุวรรค (ค) ของวรรค 3 ประกอบกับมาตรา 70 แห่งประมวลรัษฎากร สถาบันฯ ต้องหักภาษีเงินได้ ณ ที่จ่ายในอัตราร้อยละ 15 ของค่าสิทธิที่จ่ายให้แก่บริษัทต่างประเทศ เพื่อนำส่งกรมสรรพากร ใช่หรือไม่ 2.ค่าสิทธิที่สถาบันฯ จ่ายให้แก่บริษัทในประเทศสหรัฐอเมริกา ซึ่งมิได้เป็นผู้จดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่มในประเทศไทย และได้รับค่าสิทธิจากสถาบันฯ ซึ่งเป็นผู้จ่ายในประเทศไทย สถาบันฯ มีหน้าที่นำส่งภาษีมูลค่าเพิ่มในอัตราร้อยละ 7 ของค่าสิทธิ ตามมาตรา 83/6 แห่งประมวลรัษฎากร แต่เนื่องจากมูลนิธิจุฬาภรณ์ เป็นหน่วยงานที่ได้รับยกเว้นภาษีมูลค่าเพิ่มในลำดับที่ 80 ตามประกาศกระทรวงการคลัง ว่าด้วยภาษีเงินได้ และภาษีมูลค่าเพิ่ม (ฉบับที่ 2) เรื่อง กำหนดองค์การ สถานสาธารณกุศล สถานพยาบาลและสถานศึกษา ตามมาตรา 47 (7) (ข) แห่งประมวลรัษฎากร และมาตรา 3 (4) (ข) แห่งพระราชกฤษฎีกาออกตามความในประมวลรัษฎากร ว่าด้วยการยกเว้นภาษีมูลค่าเพิ่ม (ฉบับที่ 239) พ.ศ. 2534 ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชกฤษฎีกาออกตามความในประมวลรัษฎากร ว่าด้วยการยกเว้นภาษีมูลค่าเพิ่ม (ฉบับที่ 254)พ.ศ. 2535 ลงวันที่ 15 ตุลาคม พ.ศ. 2535 สถาบันฯ จึงไม่มีหน้าที่นำส่งภาษีมูลค่าเพิ่มตามมาตรา 83/6แห่งประมวลรัษฎากร ใช่หรือไม่ | แนววินิจฉัย |
1.กรณีสถาบันฯ จ่ายเงินค่าจ้างออกแบบโครงการจัดทำโครงสร้างพื้นฐานทางวิทยาศาสตร์เพื่อการวิจัยและพัฒนายาในกรณีดังกล่าวให้แก่บริษัทฯ หากการรับจ้างออกแบบนั้นมีการถ่ายทอดความรู้อันเป็นสูตรลับหรือกรรมวิธีลับใด ๆ หรือเพื่อข้อสนเทศเกี่ยวกับประสบการณ์ทางอุตสาหกรรม พาณิชยกรรม หรือทางวิทยาศาสตร์ กรณีดังกล่าวย่อมเข้าลักษณะเป็นค่าสิทธิ ซึ่งเป็นเงินได้พึงประเมินตามมาตรา 40 (3)แห่งประมวลรัษฎากร สถาบันฯ มีหน้าที่ต้องหักภาษีจากเงินได้พึงประเมินในอัตราร้อยละ 15 นำส่งพร้อมกับยื่นรายการตามแบบที่อธิบดีกำหนด (แบบ ภ.ง.ด.54) ภายใน 7 วัน นับแต่วันสิ้นเดือนของเดือนที่จ่ายเงินได้พึงประเมินดังกล่าว ทั้งนี้ ตามมาตรา 70 แห่งประมวลรัษฎากร ประกอบกับข้อ 12 ของอนุสัญญาระหว่างรัฐบาลแห่งราชอาณาจักรไทยและรัฐบาลแห่งสหรัฐอเมริกาฯ
2.กรณีสถาบันฯ จ่ายเงินค่าจ้างออกแบบโครงการจัดทำโครงสร้างพื้นฐานทางวิทยาศาสตร์เพื่อการวิจัยและพัฒนายาในกรณีดังกล่าวให้แก่บริษัทฯ เข้าลักษณะเป็นการจ่ายเงินค่าบริการให้แก่ผู้ประกอบการที่ได้ให้บริการในต่างประเทศและได้มีการใช้บริการในราชอาณาจักร สถาบันฯ ซึ่งเป็นผู้จ่ายเงินมีหน้าที่ต้องนำส่งเงินภาษีมูลค่าเพิ่มที่บริษัทฯ มีหน้าที่ต้องเสีย โดยยื่นรายการตามแบบนำส่งภาษีที่อธิบดีกำหนด (ภ.พ.36) ภายใน 7 วัน นับแต่วันสิ้นเดือนของเดือนที่จ่ายเงิน ทั้งนี้ ตามมาตรา 77/2 และมาตรา 83/6 (2) แห่งประมวลรัษฎากร 3.กรณีมูลนิธิจุฬาภรณ์เป็นองค์การสาธารณกุศลในลำดับที่ 80 ตามประกาศกระทรวงการคลัง (ฉบับที่ 2)ฯ ลงวันที่ 15 ตุลาคม พ.ศ. 2535 ผู้บริจาคสินค้าย่อมเป็นผู้จะได้รับสิทธิยกเว้นภาษีมูลค่าเพิ่มจากการบริจาคดังกล่าว ตามมาตรา 3 (4) (ข) แห่งพระราชกฤษฎีกาฯ (ฉบับที่ 239) พ.ศ. 2534 มิใช่มูลนิธิจุฬาภรณ์เป็นผู้ได้รับยกเว้นภาษีมูลค่าเพิ่ม ตามที่สถาบันฯ เข้าใจแต่อย่างใด | เลขตู้ | : 77/38985 |