เมนูปิด
เลขที่หนังสือ: 0702/1167
วันที่: 7 มีนาคม 2557
เรื่อง: ภาษีมูลค่าเพิ่ม กรณีค่าตอบแทนที่ไม่ต้องนำมารวมคำนวณมูลค่าของฐานภาษี
ข้อกฎหมาย : มาตรา 79(4) มาตรา 77/1(8) มาตรา 77/2(1) มาตรา 77(1) มาตรา 86 มาตรา 84 และมาตรา 82/3 แห่งประมวลรัษฎากร
ข้อหารือ           1. บริษัทฯ สั่งซื้อมอเตอร์ไฟฟ้าจากบริษัท อ. และจำหน่ายสินค้าดังกล่าวให้แก่บริษัท ม. โดยบริษัท ม. เป็นผู้ใช้สิทธิประโยชน์ของสถาบันไฟฟ้า (EEI)
          2. บริษัท อ. ได้สั่งซื้อมอเตอร์ไฟฟ้าจากต่างประเทศ โดยโอนสินค้าดังกล่าวให้แก่บริษัท ม. เป็นผู้กระทำพิธีการนำเข้ามอเตอร์ไฟฟ้าโดยใช้สิทธิประโยชน์ของสถาบันไฟฟ้า (EEI) เพื่อที่จะได้รับสิทธิประโยชน์ได้รับยกเว้นอากรขาเข้า แต่ยังต้องชำระภาษีมูลค่าเพิ่มต่อกรมศุลกากร ณ วันนำเข้า โดยบริษัท อ. และบริษัท ม. ไม่มีความสัมพันธ์ทางด้านธุรกิจต่อกัน
          3. บริษัทฯ จึงหารือว่า
               3.1. การซื้อขายสินค้าระหว่างบริษัทฯ และบริษัท ม. จะต้องมีการออกใบกำกับภาษีและชำระภาษีมูลค่าเพิ่มอีกหรือไม่
               3.2. การซื้อขายสินค้าดังกล่าว ผู้ซื้อสินค้าคนสุดท้ายคือ บริษัท ม. จะต้องชำระภาษีมูลค่าเพิ่มถึงสองครั้ง บริษัท ม. จะขอคืนภาษีมูลค่าเพิ่มในส่วนที่ได้ชำระซ้ำซ้อนได้หรือไม่
แนววินิจฉัย           ตามข้อ 3.1 และข้อ 3.2 กรณีบริษัทฯ ได้สั่งซื้อสินค้ามอเตอร์ไฟฟ้าจากบริษัท อ. ที่ประกอบกิจการในประเทศไทย ถือว่ามอเตอร์ไฟฟ้าไม่เป็นสินค้าที่บริษัทฯ นำเข้าจากต่างประเทศ เมื่อบริษัทฯ ได้ขายสินค้าดังกล่าวให้แก่บริษัท ม. แม้บริษัท อ. ผู้นำเข้าจะได้โอนสินค้าให้บริษัท ม. เป็นผู้กระทำพิธีการต่อเจ้าพนักงานศุลกากรเพื่อชำระภาษีมูลค่าเพิ่ม กรณีไม่เข้าลักษณะเป็นค่าตอบแทนที่ไม่ต้องนำมารวมคำนวณเป็นมูลค่าฐานภาษีตามมาตรา 79(4) แห่งประมวลรัษฎากร และข้อ 2(9) ของประกาศอธิบดีกรมสรรพากร เกี่ยวกับภาษีมูลค่าเพิ่ม (ฉบับที่ 40) เรื่อง กำหนดลักษณะ และเงื่อนไขค่าตอบแทนที่ไม่ต้องนำรวมคำนวณมูลค่าของฐานภาษี ตามมาตรา 79(4) แห่งประมวลรัษฎากร ลงวันที่ 26 สิงหาคม พ.ศ. 2535 จึงเข้าลักษณะเป็นการขายในราชอาณาจักรตามมาตรา 77/1(8) และมาตรา 77/2(1) แห่งประมวลรัษฎากร บริษัทฯ ต้องเรียกเก็บภาษีมูลค่าเพิ่มจากบริษัท ม. และมีหน้าที่ต้องจัดทำใบกำกับภาษีทันทีที่ความรับผิดในการเสียภาษีมูลค่าเพิ่มเกิดขึ้นตามมาตรา 77(1) และมาตรา 86 แห่งประมวลรัษฎากร และบริษัท ม. มีสิทธินำภาษีซื้อตามใบเสร็จรับเงินที่กรมศุลกากรออกให้ และที่ถูกบริษัทฯ เรียกเก็บเนื่องจากการซื้อสินค้าดังกล่าว ไปหักออกจากภาษีขายในการคำนวณภาษีมูลค่าเพิ่มตามมาตรา 82/3 แห่งประมวลรัษฎากร หากภาษีซื้อมากกว่าภาษีขายบริษัท ม. มีสิทธิได้รับคืนภาษีเป็นเงินสดหรือนำไปชำระภาษีมูลค่าเพิ่มในเดือนภาษีถัดไปได้ตามมาตรา 84 แห่งประมวลรัษฎากร
เลขตู้: 77/38902

 

ปรับปรุงล่าสุด: 22-05-2020