เมนูปิด
เลขที่หนังสือ: 0702/1132
วันที่: 6 มีนาคม 2557
เรื่อง: ภาษีเงินได้หัก ณ ที่จ่าย และภาษีมูลค่าเพิ่ม กรณีจ่ายเงินค่าบริการด้านวิศวกรรมไปต่างประเทศ
ข้อกฎหมาย : อนุสัญญาภาษีซ้อน
ข้อหารือ           1. บริษัทฯ เป็นนิติบุคคลจดทะเบียนตามกฎหมายไทย ได้รับการส่งเสริมการลงทุนจากสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (BOI) สิทธิประโยชน์ที่ได้รับจากการส่งเสริมการลงทุน คือการนำช่างผู้ชำนาญการเข้ามาในราชอาณาจักร สำนักงานใหญ่ตั้งอยู่เลขที่ 28 ถนนเลียบคลองภาษีเจริญฝั่งใต้แขวงหนองแขม เขตหนองแขม กรุงเทพฯ เป็นผู้ประกอบการจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่มเมื่อวันที่ 1มกราคม 2535 ประกอบกิจการผลิตเครื่องจักรสายพานลำเลียง เครื่องจักรกล
          2. บริษัทฯ ได้ทำสัญญาว่าจ้างกับ TEC จดทะเบียนจัดตั้งตามกฎหมายต่างประเทศ ไม่มีสาขาหรือสถานประกอบการในประเทศไทย ประกอบกิจการให้บริการเกี่ยวกับการออกแบบ ติดตั้ง และกำกับดูแลอำนวยความสะดวกในการกำจัดขยะประเภทต่าง ๆ ของอุปกรณ์อุตสาหกรรม ซึ่งประเทศไทยกับประเทศไต้หวันได้ทำความตกลงระหว่างสำนักงานการค้าและเศรษฐกิจไทยประจำไทเปและสำนักงานเศรษฐกิจและการค้าไทเปประจำประเทศไทย เพื่อการเว้นการเก็บภาษีซ้อนและการป้องกันการเลี่ยงรัษฎากรในส่วนที่เกี่ยวกับภาษีเก็บจากเงินได้ (ความตกลงฯ)
          3. รายละเอียดของสัญญาว่าจ้างดังกล่าว มีดังต่อไปนี้
               3.1 ลักษณะงานที่ว่าจ้าง ให้วิศวกรและผู้ชำนาญการของ TEC เข้ามาควบคุม ดูแลกระบวนการผลิต และติดตั้งตามแบบในประเทศไทย
               3.2 TEC ได้ส่งวิศวกรและผู้ชำนาญการเข้ามาประเทศไทยระหว่างวันที่ 20 ธันวาคม 2555ถึงวันที่ 31 พฤษภาคม 2556 รวมระยะเวลาไม่เกิน 6 เดือน (มีการเดินทางกลับประเทศทุก 2 เดือน)
               3.3 เงื่อนไขการชำระเงินและโอนเงิน
                     - งวดแรก ภายในวันที่ 31 มีนาคม 2556
                    - งวดสอง ภายในวันที่ 31 พฤษภาคม 2556 (สิ้นสุดกระบวนการทดสอบงาน)โดยโอนเงินผ่านธนาคารพาณิชย์ในนามของ TEC (อัตราค่าจ้างและค่าใช้จ่ายในสัญญาอาจมีการเปลี่ยนแปลงเนื่องจากระยะเวลาและจำนวนช่าง)
          4. บริษัทฯ ขอหารือว่า
               4.1 บริษัทฯ ไม่ต้องหักภาษีจากเงินได้พึงประเมินตามมาตรา 40(6) ที่จ่ายจากหรือในประทศไทยตามมาตรา 70 แห่งประมวลรัษฎากร แต่ต้องนำส่งภาษีมูลค่าเพิ่มด้วยแบบนำส่งภาษีมูลค่าเพิ่ม(ภ.พ. 36) ตามมาตรา 83/6 แห่งประมวลรัษฎากร ใช่หรือไม่ อย่างไร
               4.2 การคำนวณระยะเวลาในการอยู่ในประเทศไทยของลูกจ้าง TEC ต้องพิจารณาจากใบอนุญาตทำงานประกอบสัญญาจ้าง หรือรายละเอียดในการเรียกเก็บเงิน
               4.3 หากบริษัทฯ มีการต่อสัญญาเพิ่มเติมฉบับใหม่ในโครงการเดิมเนื่องจากงานไม่เสร็จทำให้ลูกจ้างของ TEC ต้องอยู่ในประเทศไทยเกิน 6 เดือน เมื่อรวมกับสัญญาฉบับแรก ทำให้ TEC เข้าข่ายมีสถานประกอบการถาวรในประเทศไทย หรือไม่ อย่างไร
               4.4 หากบริษัทฯ มีการทำสัญญากับ TEC หลายโครงการในปี 2556 ซึ่งในแต่ละสัญญามีเวลาไม่ถึง 180 วัน จะเข้าข่ายมีสถานประกอบการถาวรในประเทศไทยที่ต้องหักภาษี ณ ที่จ่าย หรือไม่ อย่างไร
               4.5 ขอข้อมูลเพดานอัตราภาษีซ้อนระหว่างประเทศไทยกับประเทศไทเป
แนววินิจฉัย           1. กรณีตามข้อ 4.1 ภาษีเงินได้หัก ณ ที่จ่าย เมื่อบริษัทฯ ทำสัญญาจ้าง TEC ซึ่งเป็นนิติบุคคลตามกฎหมายของประเทศไต้หวัน เป็นที่ปรึกษา ดูแลการผลิต และดำเนินการติดตั้งเครื่องจักร โดยส่งลูกจ้างซึ่งเป็นวิศวกรและช่างผู้ชำนาญการมาให้คำปรึกษาและดำเนินการในประเทศไทย ระหว่างวันที่ 20ธันวาคม 2555 ถึงวันที่ 31 พฤษภาคม 2556 รวมระยะเวลาไม่เกิน 6 เดือน (มีการเดินทางกลับประเทศทุก 2 เดือน) ถือได้ว่า TEC ประกอบกิจการในประเทศไทย โดยมีลูกจ้างในการประกอบกิจการในประเทศไทยตามมาตรา 76 ทวิ แห่งประมวลรัษฎากร สำหรับเงินได้ในกรณีนี้เข้าลักษณะเป็นกำไรจากธุรกิจ แต่ตามข้อเท็จจริงลูกจ้างของ TEC ได้เข้ามาในประเทศไทยมีระยะเวลารวมกันไม่เกินกว่า 6 เดือน ภายในระยะเวลา 12เดือนใด ๆ จึงยังถือไม่ได้ว่า TEC มีสถานประกอบการถาวรในประเทศไทย จึงไม่มีหน้าที่ต้องเสียภาษีเงินได้นิติบุคคลในประเทศไทยจากค่าบริการที่ได้รับ ตามข้อ 5 วรรคสอง (ญ) และข้อ 7 วรรคหนึ่ง แห่งความตกลงฯประกอบกับมาตรา 3 แห่งพระราชกฤษฎีกา ออกตามความในประมวลรัษฎากร ว่าด้วยการยกเว้นรัษฎากร(ฉบับที่ 18) พ.ศ. 2505 ดังนั้น เมื่อบริษัทฯ จ่ายเงินได้ดังกล่าวออกไป จึงไม่มีหน้าที่ต้องหักภาษีจากเงินได้พึงประเมินที่จ่าย แต่อย่างใด
          ภาษีมูลค่าเพิ่ม การให้บริการดังกล่าว เข้าลักษณะกรณีบริษัทต่างประเทศได้เข้ามาให้บริการในราชอาณาจักรเป็นครั้งคราว โดยไม่ได้จดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่มเป็นการชั่วคราวตามมาตรา85/3 แห่งประมวลรัษฎากร อยู่ในบังคับต้องเสียภาษีมูลค่าเพิ่มตามมาตรา 77/2(1) แห่งประมวลรัษฎากรบริษัทฯ ซึ่งเป็นผู้จ่ายค่าบริการให้กับ TEC ซึ่งเป็นบริษัทต่างประเทศ จึงมีหน้าที่นำส่งภาษีมูลค่าเพิ่มที่ TECมีหน้าที่ต้องเสีย โดยยื่นแบบนำส่งภาษีมูลค่าเพิ่ม ภ.พ.36 จากเงินที่จ่ายไป ณ ที่ว่าการอำเภอภายในเจ็ดวันนับแต่วันสิ้นเดือนของเดือนที่จ่ายเงินได้พึงประเมินให้กับ TEC ตามมาตรา 83/6(1) แห่งประมวลรัษฎากร
          2. กรณีตามข้อ 4.2 และ ข้อ 4.3 การนับระยะเวลาในการอยู่ในประเทศไทยของลูกจ้าง TECต้องนับระยะเวลาที่ลูกจ้างคนเดียวหรือหลายคนเข้ามาทำงานทั้งหมดรวมเข้าด้วยกัน ว่ารวมกันเกินกว่า6 เดือน ภายในระยะเวลา 12 เดือนใด ๆ สำหรับโครงการเดียวกันหรือเกี่ยวเนื่องกันในประเทศไทย ไม่ว่าโครงการดังกล่าวจะทำสัญญาฉบับเดียวกันหรือหลายฉบับก็ตาม เมื่อข้อเท็จจริงปรากฏว่า ลูกจ้างของ TEC ต้องอยู่ในประเทศไทยโดยมีการดำเนินการติดต่อกัน สำหรับโครงการเดียวกันในประเทศไทย เป็นระยะเวลารวมกันเกินกว่า6 เดือน ภายในระยะเวลา 12 เดือนใด ๆ ถือว่า TEC ให้บริการผ่านสถานประกอบการถาวรในประเทศไทยตามข้อ 5 วรรคสอง (ญ) และข้อ 7 วรรคหนึ่ง แห่งความตกลงฯ ดังกล่าว ดังนั้น เมื่อ TEC ได้รับค่าตอบแทนตามสัญญาจากการให้บริการดังกล่าว TEC จึงมีหน้าที่ต้องนำเงินได้ค่าบริการตามสัญญามาเสียภาษีเงินได้นิติบุคคลตามมาตรา 76 ทวิ แห่งประมวลรัษฎากร
          3. กรณีตามข้อ 4.4 บริษัทฯ มีการทำสัญญากับ TEC หลายโครงการในปี 2556 ซึ่งในแต่ละสัญญามีเวลาไม่ถึง 180 วัน (ไม่ถึง 6 เดือน) หากโครงการในแต่ละโครงการที่ทำสัญญาไม่มีความเกี่ยวเนื่องกัน ถือไม่ได้ว่า TEC ให้บริการผ่านสถานประกอบการถาวรในประเทศไทย จึงไม่มีหน้าที่ต้องเสียภาษีเงินได้นิติบุคคลในประเทศไทยจากค่าบริการที่ได้รับ ตามข้อ 5 วรรคสอง (ญ) และข้อ 7 วรรคหนึ่งแห่งความตกลงฯ ประกอบกับมาตรา 3 แห่งพระราชกฤษฎีกา ออกตามความในประมวลรัษฎากร ว่าด้วยการยกเว้นรัษฎากร (ฉบับที่ 18) พ.ศ. 2505 ดังนั้น เมื่อบริษัทฯ จ่ายเงินได้ดังกล่าว จึงไม่มีหน้าที่ต้องหักภาษีจากเงินได้พึงประเมินที่จ่ายแต่อย่างใด
          4. กรณีตามข้อ 4.5 ข้อมูลและความรู้เรื่องภาษีเกี่ยวกับอนุสัญญาภาษีซ้อน บริษัทฯ สามารถศึกษาได้จากเว็บไซต์กรมสรรพากร " www.rd.go.th "
เลขตู้: 77/38916

 

ปรับปรุงล่าสุด: 22-05-2020